ตอนแรกนึกว่าจะเขียนจบแค่ 2 ตอนนะครับกับ ประเด็นที่ถกเถียงกันและต้องติดตามกันไปต่อว่า รัฐบาลจะมีการออกประกาศใช้เรื่องการต่ออายุการลดหย่อนภาษีด้วย LTF รวมถึงการเพิ่มจำนวนปีที่ถือครองเมื่อไหร่ ในตอนก่อนหน้าผมก็ได้เล่าในมุมมองความเห็นของนักลงทุนที่ตั้งใจจะลดภาษีพร้อมๆกับลงทุนอยู่แล้วว่า LTF มีประโยชน์อย่างไรและการเพิ่มขึ้นของจำนวนปีนั้นอาจจะไม่ได้กระทบต่อเป้าหมายของผมเท่าไหร่

ทีนี้.... ก็ได้มีการถกเถียงต่อยอดกันไปมากกว่าเดิม ซึ่งผมว่าเป็นบทสนทนาอันทรงคุณค่ามากเลยอยากจะมาเล่าให้ฟังครับ

คำถามนักการเงินถึงนักออมหุ้น

เรื่องมีอยู่ว่าก็มีพี่ๆเพื่อนๆบางท่านได้ให้มุมมองของผมในเชิงของต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นและความเสี่ยงจากการที่เราไม่สามารถขาย LTF ในระยะเวลาเดิมได้ ต้องเปลี่ยนไปขายจาก 5 ปีปฏิทิน เป็น 7 ปีปฏิทิน แปลงคำหมายเป็นคำถามคร่าวๆก็คือ....

"เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคต 7 ปีปฏิทินข้างหน้าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร? มันไม่มีใครมองออกอยู่แล้ว หุ้นเลยมีความเสี่ยงมาก และถ้าเปรียบเทียบต้นทุนทางการเงินกับการลงทุนประเภทอื่นๆที่เห็นความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจนกว่า เช่น การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กอง REITs ที่ให้ผลตอบแทนปีละ 7-8%"

"เทียบกันแล้วระยะ 7 ปี กองทุนอื่นๆอาจจะให้ความชัดเจนในเรื่องผลตอบแทน ถึง 40%-56% ในขณะที่ การลงทุนในกองทุน LTF มันประหยัดภาษีได้ 10%-35% แต่เราก็ต้องไปลุ้นว่ามันจะได้ผลตอบแทนเพิ่มเติมในระยะเวลา 7 ปีนั้นมากกว่ากอง REITs หรือเปล่า? ถ้าหากขาดทุนในช่วงเวลาที่เราลงทุนไป ยอมจ่ายภาษีไปลงทุนในแบบอื่นๆอาจจะชัวร์กว่าก็ได้อะเปล่า?"

คำถามนี้น่าคิดนะครับ....! เพื่อนๆมีความเห็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับตัวผมแล้ว ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของความเสี่ยงและมุมมองการลงทุนของเราเองล่ะครับ จะมองแบบคำถามที่ผมได้รับก็ไม่ผิดนะ เป็นวิธีมองอีกด้านที่ดีมากๆแบบเห็นชัดเจนด้วยเช่นกัน หรือถ้าเราคิดว่าเรามีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในระยะยาว รับความเสี่ยงได้และคิดว่ามันน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ก็อาจจะไปลงทุนใน LTF ได้อยู่นะครับ

ภาพข้างล่างจะบอกว่ามันไม่มีอะไรแน่หรอกขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและมุมมองของเรา อนาคตมันจะเฉลยออกมาเอง ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นมันมีความเสี่ยงสูง ตามตำรา High Risk - High Return อยู่แล้ว

การตัดสินใจของนักออมหุ้นแบบ DCA

สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นคำถามว่านักลงทุนแบบ DCA จะเอาอย่างไรเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องนี้นะครับ ถ้าถามในมุมของผมแล้ว ผมจะถามคำถามตัวอย่างอย่างงี้?

ข้อที่ 1 รับความเสี่ยงได้ไหม?

ส่วนตัวผมเอง ผมรับความเสี่ยงได้และสามารถเปิดโอกาสการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเดิม จึงเน้นลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับสูงเช่น หุ้น หรือ กองทุนรวมหุ้น แต่ก็ต้องยอมรับข้อหนึ่งนะครับว่า LTF ห้ามขาย การเลือกกองทุนรวมที่ผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญมากนะครับ ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็ลองพิจารณาอย่างอื่นดีกว่า การที่จะลดหย่อนภาษีอย่างเดียวด้วย LTF ไม่มีมุมมองในหุ้นเลยจึงอันตรายมากนะครับ

ข้อที่ 2 ต้องการลงทุนยาวไหม?

ถ้าไม่ยาวเกิน 5-7 ปี อย่าลงทุนใน LTF & RMF เลย ไปลงกองทุนรวมหุ้นหรือลงหุ้นทั่วไปดีกว่า แต่นักออมหุ้น-กองทุนรวมแบบ DCA นั้นคงจะไม่ได้ลงแค่ 1-2 ปีแล้วขายทิ้งอยู่แล้วล่ะครับ วางแผนกันไปจนเกษียณเลย และการลงทุนแบบ DCA จะทยอยลงทุนเรื่อยๆด้วยนะครับ

ข้อที่ 3 ตั้งใจจะลงทุนโดยนำรายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี หรือ นำเงินเก็บทั่วไปมาลงทุน

แรกเริ่มผมจะคำนวณฐานภาษีก่อนว่าผมควรจะใช้สิทธิขนาดไหน และถ้าเราอยากจะลงทุนเพื่อลดหย่อนอยู่แล้ว การได้เงินคืนจากภาษีเป็นส่วนเพิ่มเติมที่ทำให้ผมจะชั่งน้ำหนักการลงทุนใน LTF มากกว่า กองทุนรวมปกติ แต่ถ้าผมเอาเงินเก็บทั่วๆไปมาลงทุนก็จะลงทุนในกองทุนรวมปกติครับ

ก็เป็นคำถามคร่าวๆที่เอาเงื่อนไขต่างๆเข้ามาพิจารณานะครับว่าเราควรจะลงทุนในลักษณะไหน จัดพอร์ตอย่างไร ตามโอกาส ความเสี่ยง มุมมอง และผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ ซึ่งผลออกมาเราอาจจะได้แผนการลงทุนที่มีหน้าตาผสมผสานนะครับ และแผนของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน มีทั้งส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ มีส่วนลงทุนทั่วไปเน้นการเติบโต มีส่วนที่เน้นปันผลสร้างกระแสเงินสด

เมื่อเราได้ภาพแผนแล้วก็อย่าลืมเอามาจัดสรรเงินลงทุนรายเดือนกันนะครับ อย่างน้อยการลงทุนแบบ DCA ก็สามารถทำให้เราลดความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาได้ แต่ที่สำคัญก็คือจะต้องเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่เรามองว่ามันจะเติบโตในอนาคต

สรุปว่า... ไม่มีอะไรที่เป็นข้อฟันธงอยู่ดีว่าการลงทุนแบบไหนดีกว่า คุ้มค่ากว่า เพราะมันอยู่ที่มุมมองของเราว่าจะลงทุนอย่างไรรับความเสี่ยงอย่างไรนะครับ ลองวางแผนและตัดสินใจกันดูนะครับ หากใครสนใจศึกษาเรื่องการออมหุ้นแบบ DCA ลองดูบทความเก่าๆหรือแวะชมหนังสือที่ www.aomstock.com นะครับ

ติดตามบทความ LTF ถือ 7 ปี เอาไงต่อ? ตอนที่ 1 (คลิก)

ติดตามบทความ LTF ถือ 7 ปี เอายังไงต่อ ตอนที่ 2 (คลิก)