โลกสตาร์ทอัพแบบไทยๆ เราโตขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง อันที่จริงเป็นก้อนใหญ่ๆ เลยแหล่ะ ที่ Corporate หรือบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เข้ามาอุ้ม เข้ามาร่วมสร้างตั้งแต่เราเริ่มตั้งไข่กัน จริงๆแล้วมันประหลาดนะ เพราะก็รู้กันอยู่ว่า StartUp น่ะพยายามจะ Disrupt อะไรบางอย่าง แล้วส่วนใหญ่มันก็ไปแย่งตลาดจากพวก Corporate นั่นแหล่ะ
แล้วทำไม Corporate ถึงมาสร้างสิ่งที่(อาจจะ)จะทำลายตัวเองสักวัน งงไหมล่ะ?
แถมยังวิ่งกันแข่งกันเข้ามารายแล้วรายเล่า จนแทบจะทั้งหมดในทุกๆอุตสาหกรรมเลยในถึงปัจจุบัน
Corporate จะได้อะไร? จาก Startup
เคยสงสัยกันไหมว่า Incubator, Accelerator ส่วนใหญ่ในไทย back โดย Corporate ยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น แล้วยังมี Corporate Venture Capital ที่เกิดขึ้นเพียบเลยในปีหลังๆมานี่
StartUp เองก็อยากเข้ามุ้งของยักษ์ใหญ่เหล่านั้นกันอยู่แล้ว มีประโยชน์มากมายทั้งเรื่องเงินทุน ความรู้ การเป็นพี่เลี้ยง ความน่าเชื่อถือ ความดัง(อันนี้เอาจริงๆ หลายๆ StartUp ทำกันเพราะเห็นว่าดังดี) และความร่วมมือระหว่างกัน
ไอ้เรื่องเงิน กับความดัง ซึ่งตามมาด้วยความน่าเชื่อถือเนี่ย มันมาตั้งแต่วันแรกที่ Announce ว่าได้เข้า Batch แล้ว (ยกเว้นบางโปรแกรมที่ไม่มีเงินลงทุนให้ ซึ่งจริงๆก็หลายโปรแกรมอยู่)
เรื่องความรู้ พอเข้า Batch ไปเราก็ต้องไปเข้า Class ตามโปรแกรมที่แต่ละที่จัดไว้ ก็อัดความรู้กันเต็มๆตลอด 3-6 เดือนแล้วแต่โปรแกรม และหวังว่าทีมที่เข้าร่วมจะบึ้กจะล่ำขึ้นประหนึ่งบริโภคเวย์โปรตีนสูตรเข้มข้มหลังจากจบ Batch กันในทันที และยังเป็นพี่เลี้ยงให้กันต่อแบบต้องบอกว่าเป็นกันตลอดชีพไปเลยก็ว่าได้
ที่ว่ามาทั้งหมดผลประโยชน์มันลงที่ StartUp เต็มๆ แล้ว Corporate มันจะได้อะไร ทำเอามันส์ ทำเอาบุญ หรือ ทำเอาเท่ห์ !!
จริงๆแล้วมันอยู่ที่ท่อนสุดท้ายเนี่ยแหล่ะ เรื่องความร่วมมือระหว่างกัน นี่แหล่ะที่สำคัญ ในความเห็นผมนะ ต้องบอกงี้ เพราะบาง Accelerator ที่ back โดย Corporate ชั้นนำบางที่ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ก็มีเหมือนกัน
แต่ส่วนใหญ่ผมว่าใช่ เพราะอะไรน่ะเหรอ...เพราะ Corporate ตัน!
ทางรอดหรือทางตัน?
Innovation ที่จะเป็น S-Curve จริงๆ มันจะเกิดตอนต้นๆ ที่เพิ่งเริ่มไอเดียธุรกิจ โปรดักส์ที่เปลี่ยนโลก มันมักจะเกิดตอน Founder ยังลงมาลุยด้วยตัวเอง ปรับไปปรับมา ลองผิดลองถูกจนเจอสูตร พอบริษัทเริ่มใหญ่คนเริ่มเยอะ โครงสร้าง ขั้นตอน กรรมวิธี รวมถึงการเล่นการเมืองทั้งหลาย ทำให้ความบ้าบิ่นมันจางลงไป ความกล้าเสี่ยง กล้าลองหมดไป
พอจ้างมืออาชีพในส่วนต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ การทำตาม KPI การทำรายได้และกำไร กลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง แทนที่การสร้างของใหม่ๆที่มีความเสี่ยงมากทันที ส่วนเด็กๆที่กล้าคิดกล้าทำ ก็ไม่ได้รับโอกาส ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เลยลาออกไปทำ StartUp ตัวเองมันเลยดีกว่า
แนวคิดเรื่อง StartUp ที่เน้นการสร้าง Innovation กล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าเปลี่ยนโลก ที่เอาจริงๆมัน copy มาจากการเกิดบริษัทยักษ์แท้ๆ ระดับโลกที่รับผิดชอบการหมุนไปของโลกอยู่ในปัจจุบันอย่าง Facebook, Google หรือแม้กระทั่ง Apple ที่โตมาได้ขนาดนี้ได้ไง แนวคิดการสร้าง StartUp มันก็เลียนแบบวิธีการนั้นมาโต้งๆเลยนี่แหล่ะ แต่อาจจะต่างที่ดีเทลและความเป็นมหภาคบ้างในบางบริบท
ทีนี้พอโลกของ StartUps เกิด บริษัทใหญ่ๆ เริ่มถูก Disrupt บริษัทที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย
ทำให้ Corporate เริ่มหันกลับมามอง กลับมาระแวง ว่าธุรกิจของตัวเอง หรือตลาดที่เคยยึดครองได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือเกือบๆนั้น เริ่มสั่นคลอน และอาจจะถูกแย่งไปวันใดวันหนึ่ง หรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาทดแทนและทำให้ตลาดนั้นหายไปเลยด้วยซ้ำอย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างกันมามากมาย
ทีนี้ Corporate ที่ฉลาดมากพอเลยสร้างตัวเอง ทำตัวเองเป็นกลุ่มของ StartUps หลายๆ StartUps ในองค์กรซะ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในเรื่อง Innovation ไว้ กลุ่มที่เพิ่งรู้ตัวเริ่มคิดว่าจะทำยังไง จะปรับตัวเองได้ไง ก็พยายามอย่างมากที่จะปรับองค์กรของตัวเอง จนเป็นที่มาของคำสวยๆที่ใช้กันไปทั่ว อย่าง 'Digital Transformation'
ทีนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่อาจจะฉลาดกว่ากลุ่มที่สองหน่อย นั่นก็คือ งั้นทำงานกับ StartUps ซะเลยดีกว่า ก็เลย Collect เอา StartUps ดีๆมาไว้ในมุ้งซะและหาทางที่จะ Synergy กันให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย Corporate ได้ Innovation โดยจำกัดความเสี่ยง StartUps มีทุน มีรายได้ มีตลาดให้ลอง
ฟังดูมันน่าจะไปได้สวยไม่น้อยเลยนะ!
5 เหตุผลที่อาจทำให้เรื่องนี้จบไม่สวย
ในทางปฎิบัติ มีหลายปัจจัย ที่อาจจะทำให้ผลออกมาอาจจะไม่สวยอย่างที่คิด อุปสรรคหลักๆที่เห็นได้ชัด ได้แก่
1. ความเข้าใจของคนใน Corporate เองในเรื่อง StartUps
ยังคงต้องให้ความรู้กันต่อไปว่า StartUp มีผลกับสังคม เศรษฐกิจ ของประเทศระดับไหน ไม่ใช่แค่ทีมเด็กๆที่เขียนโปรแกรมเป็น หัดทำธุรกิจ ออกสื่อกันไปหล่อๆเท่านั้น
2. Focus ของ BU หรือหน่วยงานย่อยภายในองค์กร ที่จะต้องมาทำงานร่วมกันกับ StartUp
'เอ ก็มันไม่ใช่ KPI ฉันนี่' แน่นอนว่าเกมส์ของ StartUp เองจะวัดกันไกลๆ ไม่ได้แบบจะสร้างรายได้แบบหวือหวาหรือกำไรแบบมากมาย หากเทียบกับตัว Corporate แต่ต้องดูกันระยะยาว ทำให้ BU เองไม่ได้ให้ความสนใจ หรือความสำคัญมากนัก เพราะตัวเองก็มีภารกิจมากมายต้องทำอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ตามเป้ารายได้ที่ถูกตั้งไว้ในทุกปี ไม่งั้นโบนัสหาย
3. Timing ที่ไม่สอดคล้องกัน
Technology ของ StartUps เองอาจจะไม่ตรงกับตลาดของ Corporate ในขณะนั้น หรือคุณภาพและความสามารถของ StartUps เองอาจจะไม่ถึงตามที่ Corporate คาดหวังไว้ในเวลานั้น ทำให้มันไม่มีทางทำงานร่วมกันได้ เพราะ StartUps เองไม่มีวันพร้อมถึงขั้นที่ Corporate ตั้งไว้หรอก วันที่เค้าพร้อมจริงๆเค้าก็อาจจะไม่ต้องการให้ Corporate นั้นช่วยอีกต่อไปแล้วล่ะ
4. Vision ของผู้บริหารไม่สอดคล้องกับการสนับสนุน StartUp
'ยิ่งถ้ายังมองว่าแค่เป็น CSR ก็คงจบ' แนวคิดของผู้บริหาร Corporate สำคัญที่สุดเพราะจะขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกันจริงจังระดับไหน ต้องอาศัยแรกผลักดันของฝั่งบริหารอย่างมาก ซึ่งสามารถสะท้อนออกทางนโยบาย หรือ KPI บางอย่างเพื่อสนันสนุนกิจกรรมต่างๆที่จำเป็นต้องทำร่วมกัน ยอมให้เกิดการผิดพลาด ลองผิดลองถูกบ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงความเสี่ยงต่ำกว่าการใช้ทีมภายในทำเองไม่รู้กี่เท่า อาจจะต้องไม่มองเฉพาะภาพของรายได้ระยะสั้น แต่มอง Impact ระยะยาวในเชิงกลยุทธ์ด้วย
5. มอง StartUp เป็นได้อย่างมากแค่ BU หน่ึ่งในองค์กร
ไม่สนับสนุนการเติบโต หรือจำกัดตลาดของ StartUp เช่น การขอ Exclusive ห้ามไม่ให้ไปขายที่อื่น การปิดกั้นกันระหว่างค่าย การครอบแบรนด์ของตัวเองแทนที่แบรนด์ของ StartUp เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วแนวคิดของ StartUp คือการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนสามารถกลายเป็น Corporate ใหญ่ได้ในวันหนึ่ง ซึ่งอาจจะใหญ่มากๆจนสามารถซื้อ Corporate รุ่นเก่าได้ในวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งหากถูกจำกัดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง มันเท่ากับเป็นการทำลาย StartUp นั้นทางอ้อมกันเลยทีเดียว และ StartUp เองมักจะไม่มีสิทธิต่อรองมากนักด้วยสิ ถ้ายังไม่แข็งแรงพอ
ยังมีอีกหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ความร่วมมือระหว่าง StartUp และ Corporate ในไทยไม่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆสักที ทั้งๆที่เอาจริงๆนะมันคือประโยชน์ที่จับต้องได้ของการลงมาสนับสนุน StartUp ของ Corperate เลยนะ
แต่ถ้า Corporate คิดว่าการมาสนับสนุนในหลายๆด้านนั้นเป็นแค่การลงทุน เพื่อหวังผลกำไรที่เกิดจากการ Exit เพียงอย่างเดียว ผมว่าไม่ต้องตั้ง CVC หรอก แค่ไปลงทุนกับกองทุน VC ดีๆสักกองน่าจะเหนื่อยน้อยกว่าเยอะเลยครับ แค่มันอาจจะไม่ค่อยจะเท่ห์แค่นั้นเอง...