หลายๆ คนมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวตนและความเป็นอยู่ของตัวเองทั้งโดยตั้งใจและพลั้งเผลอ พฤติกรรมดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งจากภายในและภายนอกของผู้คน เรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนต้องตกอยู่ในสถานะย่ำแย่ ก็คือสถานะทางการเงินที่ตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งปัจจัยภายในตนเองและปัจจัยภายนอก พฤติกรรม 15 ข้อต่อไปนี้ที่ทำให้ "คนจน" ยิ่งจนมากขึ้น คนไม่ยากจนจะกลายเป็นคนจน

1. การดูทีวีมากเกินไป

การที่เราปล่อยเวลาให้หมดเปลืองไปกับรายการทีวีโชว์ที่ไม่ได้สร้างสาระสำคัญ เช่นเรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับคนดังหรือดาราทั้งหลายนั้น ไม่ได้ให้คุณค่าอะไรแก่ชีวิต หลายคนดูทีวีเพราะต้องการฆ่าเวลาให้ผ่านไป

2. ชอบทานอาหารไร้ประโยชน์

หลายคนชอบที่จะวิ่งเข้าใส่อาหารฟาสต์ฟูด หรืออาหารที่เน้นปริมาณซึ่งอุดมไปด้วยน้ำตาลและไขมัน มากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร

3. ชอบซื้อเสื้อผ้าหรือสินค้าตอนลดราคา

ผู้คนจำนวนมากชอบซื้อของตอนเซลส์ หรือตอนลดราคา เช่น เสื้อผ้าทั้งหลายที่นำมาขายลดราคาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในราคาเต็ม แต่จะดีกว่าไหมถ้าทำให้ตัวเองแน่ใจเสียก่อนว่าเสื้อผ้าและสินค้าที่คุณซื้อตอนลดราคานั้น คุณต้องการมันจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพราะราคาที่ลดลง แต่ก็ซื้อไปกองไว้ในตู้เสื้อผ้าและไม่เคยหยิบขึ้นมาสวมใส่

4. ชอบนอนตื่นสาย

กรณีนี้จะพ่นพิษสำหรับคนออฟฟิศที่เข้างานยามเช้า หลายคนชอบปล่อยเวลาผ่านไปจนดึกดื่นโดยไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับชีวิตตนเอง เมื่อเราปล่อยให้ตัวเองเหนื่อยล้ายามดึกดื่น เราก็จะไม่มีแรงตื่นยามเช้า ทำให้โฟกัสงานได้น้อยลงและกว่าจะจบงานก็ย่ำเย็น กลับถึงบ้านก็นอนดึกและชีวิตคุณก็วนลูป

5. ติดดูกีฬางอมแงม

หลายคนดูเพื่อความบันเทิงถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง แต่การตามติดกีฬาทุกแมทช์ ทำตัวติดหน้าจอกีฬางอมแงมตลอดเวลา โดยที่ไม่ได้รับผลลัพธ์อะไรกลับมาที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นนั้น ก็ถือเป็นกิจกรรมที่เปล่าประโยชน์

6. ไม่ค่อยชอบอาบน้ำบ่อยๆ

(ข้อนี้ถือเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนไทย เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ทำให้คนอาบน้ำกันทุกวันเป็นปกติ) แต่สำหรับคนต่างชาตินั้นพื้นที่ส่วนใหญ่มีอากาศเย็นถึงเย็นจัด จึงทำให้มองว่าการอาบน้ำทำให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะมันสะท้อนถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี และมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้คนเข้าหาคุณมากกว่าคนไม่ได้อาบน้ำ

7. คนที่ชอบก่น บ่น ด่าผู้อื่นที่ทำให้เขาโชคร้าย

การเอาแต่โทษโชคชะตาว่าเป็นเพราะคนอื่นหรือสิ่งอื่น ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาที่คุณกำลังเผชิญอยู่ได้รับการแก้ไข ในความเป็นจริงเราควรจะตั้งสติและมองปัญหาอย่างตั้งใจ เพื่อที่จะศึกษาหาหนทางแก้ไขปัญหานั้นและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

8. ไม่มีเงินเก็บ ขาดเงินออม

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคนรวยกับ "คนจน" ก็คือเงินออม คนที่ไม่มีเงินเก็บออมไว้ใช้เผื่อเหลือเผื่อขาดเมื่อชีวิตต้องเจอเรื่องฉุกเฉินที่ต้องใช้เงิน คนรวยจะสามารถนำเงินที่เก็บออมมาใช้แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าคุณไม่มีเงินเก็บออมไว้เลย คุณจะแก้ไขมันยังไง คุณต้องขายบ้าน ขายรถ กู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหา นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมคนรวยจึงรวยยิ่งขึ้น ขณะที่คนจนก็ยิ่งจนลง

9. ชอบใช้บัตรเครดิตและกู้ยืมให้กับสิ่งที่ไร้ประโยชน์

หลักง่ายๆ ที่เราต้องจำก็คือการกู้ยืมเพื่อซื้อสิ่งของบางอย่างที่ก่อหนี้มากกว่าจะทำให้เกิดรายได้ เราก็ไม่ควรทำ คุณควรจะใช้บัตรเครดิตให้กับสิ่งที่คุณคิดว่ามันเป็นการลงทุน อย่าใช้เงินกู้เพียงเพื่อซื้อทีวีที่มีขนาดใหญ่ หรือเพื่อซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่เพื่อให้ทันยุคทันสมัยเท่านั้น คุณต้องมั่นใจเสียก่อนว่าการใช้จ่ายเงินนั้น นำมาซึ่งรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น จึงค่อยควักเงินเพื่อการนั้น

10. มีลูกมากขึ้น และมีลูกในช่วงเริ่มต้นใช้ชีวิต ไร้การวางแผนครอบครัว

ความเป็นจริงที่คุณต้องยอมรับก็คือ ลูกนั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายมหาศาล ถ้าไม่ได้มีทรัพย์สมบัติล้นเหลือก็จำเป็นที่จะต้องวางแผนการมีครอบครัวที่ดี

11. ไม่ค่อยตรวจสุขภาพเป็นประจำ

หากเราละเลยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไม่ใส่ใจ หรือคิดว่าตัวเองสุขภาพปกติดีอยู่แล้ว เราจะไม่สามารถป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดกับเราได้ การพบว่าเรามีอาการผิดปกติทางร่างกายในช่วงเริ่มต้น จะทำให้เราใช้จ่ายเพื่อรักษาในราคาที่ไม่สูงเท่าตอนที่โรคลุกลามจนถึงขั้นอันตรายแล้ว หรือบางทีก็อาจจะสายเกินกว่าที่จะรักษาได้

12. ชอบใช้จ่ายเงินก่อนจะได้เงินมา

ประเด็นนี้อันตรายพอๆ กับการที่คุณไปยืมเงินเขามาใช้ก่อน หรือใช้จ่ายเงินไปก่อนที่คุณจะมีความสามารถจ่ายได้ ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเงินของคุณยิ่งตกต่ำ

13. ชอบคบคนเหมือนๆกัน

เคยมีผลวิจัยระบุว่าเราจะเป็นดั่งค่าเฉลี่ยของผู้คนรวมห้าคนที่อยู่รายล้อมรอบตัวเรา ถ้าคนจนอยู่รอบๆตัวคุณอีกสี่คน คุณก็จะกลายเป็นคนจนคนที่ห้า คุณจำเป็นต้องแวดล้อมตัวคุณด้วยคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวคุณและผลักดันให้คุณสามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

ส่วนใหญ่แล้วคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักจะสร้างแรงจูงใจให้เราได้ มากกว่าผู้คนที่จมปลักอยู่กับปัญหา โทษโชคชะตาและไม่ยอมหาทางออก จงอย่ากลัวที่จะอยู่ให้ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ คุณควรจะผลักดันตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

14. ได้แต่คิด มีแต่แผน และไม่สามารถทลายกำแพงศักยภาพตนเองได้

คุณไม่สามารถเลือกพ่อแม่ผู้ถือกำเนิดได้ คุณไม่สามารถบังคับให้สังคมปฏิบัติแบบใดต่อคุณได้ แต่สิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้คือช่วงเวลาที่คุณจะอุทิศตนเพื่อทำให้ฝันของคุณเป็นจริงได้ ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ใครที่ทุ่มเทหรืออุทิศตนต่อสิ่งที่ต้องการหรือใฝ่ฝันได้มากกว่าก็สามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่า

15. คนที่เชื่อว่าผู้อื่นจะยื่นมือช่วยเหลือให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้มากกว่าที่จะเชื่อตัวเอง

ในความเป็นจริงก็คือ เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าไม่มีใครแก้ปัญหาให้ใครได้ดีเท่าตัวเขาเอง

เมื่อเราลิสต์พฤติกรรมทั้ง 15 เรื่องที่ทำให้เรารู้ว่าคนจนทำไมจึงจนยิ่งขึ้น ขณะที่คนรวยก็รวยต่อไป เรามาเรียนรู้กันต่อดีกว่าว่า เราจะปรับเปลี่ยนหรือลดละเลิกพฤติกรรมได้อย่างไร

บทความจาก Alex Lickerman นักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาวะ ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์ด้านจิตวิทยาระบุเนื้อหาเกี่ยวกับห้าเคล็ดลับที่จะทำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

ก่อนอื่นเลย เราต้องยอมรับก่อนว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สั่งสมมานานนั้น เป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถเป็นไปได้

1. ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ หรือเราเคยครุ่นคิดกับสิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังไหม เพราะถ้าเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผ่านมาจากเสียงสะท้อนของคนรอบข้างเป็นส่วนใหญ่ เราจะตอบรับด้วยท่าทีที่เป็นลบ มากกว่าจะตอบรับในเชิงบวก

2. พิจารณาสาเหตุที่ต้องปรับพฤติกรรม

3. กำหนดเจตจำนงที่แน่นอน และระบุช่วงเวลาที่ต้องทำต่อเนื่องให้ชัดเจน

4. ลงมือทำ 

5. รักษาความต่อเนื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ ช่วงเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เป็นช่วงที่ยากที่สุดของกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ช่วงที่ต้องรักษาความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นเป็นขั้นตอนที่ยากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะคนส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวหรือไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้ในขั้นตอนที่ต้องรักษาความต่อเนื่องนี่แหละ

6. พฤติกรรมเก่ากลับมา หากเราปล่อยให้พฤติกรรมเก่ากำเริบหรือนิสัยเดิมๆ กลับมาก็ถือว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

การต่อสู้กับภาวะการสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ ให้กับตัวเองนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หากคุณล้มเหลวไปในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะดีกว่าปล่อยให้พฤติกรรมที่คุณเพียรสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นพังทลายลงด้วยความไม่มุ่งมั่นของคุณเอง

ที่มา:

Alux.com

Psychology Today

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY