“เนเธอร์แลนด์” หนึ่งในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดศิลปะและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีความงดงาม ศิลปินชื่อดังอย่าง วินเซนต์ แวนโก๊ะ เจ้าของผลงานภาพราคาหลักพันล้านบาท ก็มีถิ่นกำเนิดในเมืองเล็กๆทางตอนใต้ของประเทศนี้ แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่า ดินแดนกังหันลมแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดตำนานของฟองสบู่ทางการเงินที่แสนจะคลาสสิกบทหนึ่ง

ใช่แล้ว..ผมกำลังจะเล่าเรื่อง Tulip Mania ให้ทุกคนฟัง

เดิมทีดอกทิวลิปเป็นดอกไม้สีสันสวยงามที่มีถิ้นกำเนิดอยู่ในจักรวรรดิเปอร์เซีย (ตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน แถบๆนี้แหละครับ) ซึ่งได้รับการนำเข้ามาปลูกอย่างแพร่หลายในปลายศตวรรษที่ 16 โดยคนที่ส่งหัวดอกทิวลิปมาเป็นเครื่องราชบรรณาการก็คือ คนในราชสำนักของจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) นั่นเอง

ในยามนั้น ดอกทิวลิปกลายมาเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเจ้าขุนมูลนายชั้นสูง

การเพาะพันธุ์ดอกทิวลิปกลายมาเป็นที่นิยมอย่างมาก ใครมีที่ดินสำหรับเกษตรกรรม แทนที่จะปลูกพืชผักผลไม้เพื่อประทังชีวิต กลับเอามาปลูกดอกทิวลิปที่สามารถสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจให้กับเจ้าของ ช่วงแรกก็จะมีสีพื้นสีเดียวเช่น สีแดง สีขาว สีเหลือง สีชมพูเป็นต้น 

เมื่อปลูกไปเรื่อยๆ ดอกทิวลิปจะออกสีสันแปลกตาออกมาตามลักษณะพันธุกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ดอกทิวลิปเหล่านี้ดันมีไวรัสพืชชนิดหนึ่งแพร่พันธุ์ออกมา เรียกว่า Tulip Mosaic Virus ทำให้มันกลายเป็นดอกทิวลิปสีผสม มีลวดลายบนตัวดอกกลายเป็นที่คลั่งไคล้ของชาวดัตช์ขึ้นมาทันที

ใครที่ค้นพบสีสันใหม่ของดอกทิวลิปก็จะเอามาตั้งชื่อตามผู้เพาะพันธุ์ บางคนก็มโนไปเองว่าสีสันแปลกๆของมันจะสืบทอดต่อไปในอนาคตได้ ทั้งๆที่มันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตาม..ราคาของดอกทิวลิปก็ถูกปั่นขึ้นตามกระแสจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่เพียงแค่คนในประเทศ แต่ต่างชาติก็เข้ามาร่วมวงด้วย

โดยพื้นฐานของดอกทิวลิป มันคือ ดอกไม้... ใช่! มันคือดอกไม้ไง เวลาปลูกดอกทิวลิปมันก็จะมีช่วงผลิดอกของมัน ช่วงเมษายนมันจะบานอยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์แล้วก็จะร่วงโรยลงไป แล้วก็จะมีหน่อผุดขึ้นมา เติบโตกลายเป็นหัวในช่วงมิถุนายนถึงกันยายน เราสามารถขุดหัวดอกทิวลิปที่ผุดออกมาไปขายต่อได้ 

หลังจากเกิดความคลั่งในการซื้อขายดอกทิวลิปไปแล้ว ต่อมาคือการคลั่งซื้อขายหัวดอกทิวลิป !!!

หัวดอกทิวลิปมีลักษณะเหมือนหัวหอมโง่ๆ ที่จะเติบโตมาเป็นดอกทิวลิปสีสันสวยงาม หัวดอกทิวลิปที่เกิดจากทิวลิปสีสันสวยงามก็จะโก่งราคาได้สูง เมื่อมีการซื้อขายหัวดอกทิวลิปมากขึ้น ราคาของมันก็สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อต้นทุนแพง ยามที่มีคนเอาหัวดอกทิวลิปไปเพาะพันธุ์ต่อจนได้ดอกทิวลิป ราคาของมันก็ย่อมสูงขึ้นอีกขั้น

โดยปี 1635 เคยมีบันทึกไว้ว่า หัวดอกทิวลิป Viceroy มีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 2,500 กิลเดอร์ เมื่อเทียบกับค่าแรงของช่างฝีมือชั้นสูงที่ 300 กิลเดอร์ต่อปี และเนยแข็ง 1 ตันสมัยนั้นซื้อขายที่ราคา 120 กิลเดอร์ ทำให้เรารู้เลยว่ามันไม่ใช่ของที่คนธรรมดาสามารถเอื้อมถึงแน่นอน

บางคนที่ไม่มีเงินสดพอที่จะซื้อ ก็เอาสินทรัพย์ต่างๆมาแลกเปลี่ยน โดยหัวดอกทิวลิปหายากสายพันธุ์ Semper Augustus เพียงหัวเดียวสามารถแลกที่ดินทำเลดีขนาด 12 เอเคอร์ได้ (ประมาณ 5,000 กิลเดอร์) 

และแล้วฟองสบู่ก็เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อหัวดอกทิวลิปขาดตลาด เมื่อคนไม่มีของจะซื้อ เกษตรกรก็ไม่มีของจะขาย ดังนั้นสองฝ่ายก็เลยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากันแม่งเลย กลายเป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาดเหรอ?

อ่ะ...ซื้อหัวกันไม่พอ มีสัญญาซื้อขายมาให้ปั่นราคาอีก คราวนี้ก็เลยกลายเป็นว่า คนที่มีสัญญาซื้อขายในมือก็เอาสัญญาไปซื้อขายกัน ปั่นราคาของสัญญาซื้อขายไปอีก ราคาของดอกทิวลิปก็สูงขึ้นตาม จนกระทั่งรัฐบาลต้องออกกฏมาห้ามการซื้อขายสัญญา

แต่สุดท้ายคนที่เร่งให้ฟองสบู่มันแตกไวขึ้นก็คือรัฐบาลดัตช์เองนี่แหละ

ในปี 1636 รัฐบาลดัตช์ประกาศตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถนำสัญญามาซื้อขายกันได้อย่างถูกต้อง เมื่อสิ้นฤดูกาลของการปลูกดอกทิวลิป เพื่อจะได้มั่นใจว่าคนขายมีของให้ซื้อขายจริงๆ แต่แล้วในที่สุดระยะเวลา “การซื้อขายลม” อย่างบ้าคลั่งกลับสิ้นสุดเพียงแค่ไม่ถึง 1 ปี เมื่อคนเริ่มตระหนักถึงมูลค่าที่แท้จริงของมัน

สุดท้ายแล้วราคาก็เป็นตัวบ่งบอกของอารมณ์คนในตลาดแค่เพียงระยะสั้น แต่มูลค่าที่แท้จริงจะสะท้อนออกมาทันทีที่พายุสงบตัวลง ราคาของดอกทิวลิปปรับตัวลงกลับสู่มูลค่าของ “ดอกไม้” อย่างรวดเร็ว

คนที่ร่ำรวยขึ้นมาในยุคนั้นมีมากมายพอๆกับคนที่ล้มละลายเพราะหัวดอกทิวลิป แต่คนที่สบายใจที่สุดคือคนที่เข้าใจในมูลค่าของมันและมองดูพายุลูกนั้นอยู่ไกลๆ

ดอกทิวลิปถือเป็นสินค้าตัวแรกบนประวัติศาสตร์โลกที่เกิดภาวะฟองสบู่ ถึงแม้ว่าวิกฤตฟองสบู่ดอกทิวลิปจะผ่านมานานถึง 380 ปีแล้ว แต่มนุษย์ก็ไม่เคยเรียนรู้จากมันซักเท่าไหร่ หลังจากวิกฤตฟองสบู่ครั้งนี้ก็ยังมี ฟองสบู่อีกหลายชนิดตามมา

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยตัวมันเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตาม...