ช่วงนี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักลงทุนทั้งมือใหม่มือเก๋าทั้งหลายถึงธุรกิจที่น่าลงทุนครับ ในส่วนตัวของผมเองชอบธุรกิจที่ไม่ค่อยมีคู่แข่งเท่าไหร่ หรือเรียกกันว่าธุรกิจผูกขาดแล้วกัน คำว่าผูกขาดหลายๆคนคงทราบดีจากการเรียนเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นอะไรที่ไม่มีทางเลือก ทุกคนต้องใช้ ส่วนใหญ่จะนึกถึงระบบสาธารณูประโภคที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น การไฟฟ้า การประปา แล้วก็นึกไม่ออกว่าการมองธุรกิจผูกขาดนั้นจะมองอย่างไร

แต่ในความคิดของผมนะ บางครั้งมันก็อาจจะไม่ได้แบ่งได้หรอกว่าอะไรผูกขาดแท้ๆ บางอย่างมันก็มองได้หลายแบบจริงๆ จะมองว่าผูกขาดก็ผูกนะ จะว่าเป็นกึ่งผูกขาดก็ได้เพราะเห็นมีทางเลือกอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้แข่งกันโดยตรง เหตุผลทางทฤษฎีบางครั้งมันแยกเป๊ะๆไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละท่านว่าจะเป็นอย่างไรนะครับ แต่สำหรับผมก็จะขอแชร์ความคิดเกี่ยวกับธุรกิจผูกขาดซักหน่อย

ธุรกิจผูกขาด-กึ่งผูกขาดมองได้หลายประเภท

ผูกขาดเพราะกฎหมาย

การผูกขาดแบบแรกก็อย่างที่เล่าให้ฟังครับ รัฐบาลจะสงวนไม่ให้คนอื่นทำ ผูกขาดเองเลย ห้ามใครมาแข่งด้วย ถ้าเป็นธุรกิจที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจสัมปทาน โดยใช้หลักการ Build Operate Transfer (รัฐบาลอนุญาตให้สร้าง - จัดการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตามเวลาที่ตกลง - โอนกลับให้รัฐบาลเป็นเจ้าของ) หลายๆคนก็คงนึกออกบ้างแล้วใช้ไหมครับว่าธุรกิจเหล่านี้มีอะไรบ้าง แน่นอนว่าเมื่อมันไม่มีคนทำกิจการรายอื่นเพราะกฎหมายห้ามไม่ให้มี ถ้ามีผลกำไรเกิดขึ้นในการทำธุรกิจมันก็จะเป็นอะไรที่เติบโตโดยไร้คู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น จะนั่งรถไฟฟ้าต้องไปนั่งยี่ห้ออะไร อยากไปเที่ยวปารีสต้องขึ้นเครื่องบินที่ไหน

ผูกขาดเพราะคุณภาพ

บางครั้งพอเรามองหาว่าธุรกิจอะไรที่มันผูกขาดทางกฎหมายก็ดูเหมือนจะยาก และหากมีการแปรรูปออกมาให้เอกชนเป็นเจ้าของก็อาจจะเข้าไปอยู่ในวังวนของการประท้วงกิจการผูกขาดดังกล่าว ก็เลยคิดว่างั้นลองมาดูธุรกิจที่ไม่ต้องยุ่งกับความขัดแย้งจากนโยบายรัฐดีกว่า มาดูในแนวทางว่าธุรกิจไหนที่ผูกขาดในเชิงคุณภาพ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจะเจอคู่แข่งในตลาดบ้าง แต่ความมีคุณภาพก็จะทำให้ลูกค้าเลือกเข้ามาใช้บริการกับบริษัทเหล่านี้อยู่ดี การผูกขาดทางคุณภาพบางครั้งเราสามารถมองเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดได้เลยนะครับว่า สินค้าและบริการใดๆ ให้มีคู่แข่งอย่างไรก็ชนะเพราะของเขาดี  สิ่งที่ผมพอจะนึกออกในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าคุณจะเลือกซื้อโทรศัพท์ที่มีคุณภาพดีซักเครื่องหนึ่ง คุณจะนึกถึงแบรนด์บางแบรนด์เท่านั้นและมองว่าเจ้าอื่นไม่ใช่คู่แข่งในเชิงคุณภาพเลย ธุรกิจเหล่านี้มีคู่แข่งก็จริงอยู่ แต่ย่อมกินส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มเป้าหมายของเขาได้มากมายมหาศาล นอกจากโทรศัพท์แล้วผมยังเห็นหลายๆบริษัทที่สามารถให้บริการที่ดีกับลูกค้า มีการขยายตัวของกิจการจนเข้าไปควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภคจนให้ตั้งของระหว่างธุรกิจนั้นๆและคู่แข่งไว้ติดกัน คนส่วนใหญ่ก็ยังมีแนวโน้มจะเลือกแบรนด์ธุรกิจที่มีคุณภาพดีก่อน ไปเล่นฟิตเนสที่ไหนดี?

ผูกขาดเพราะความเชี่ยวชาญ

ความเชี่ยวชาญก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้ผูกขาดได้ บางครั้งพอเราต้องการจะเลือกใช้บริการอะไรยังต้องถามเพื่อนว่า "ที่ไหนดี?" และแน่นอนว่ามันจะมีธุรกิจบางอย่างที่คู่แข่งเยอะมากแต่คนจะนึกถึงเพราะความเชี่ยวชาญของเขา เช่น ปวดตา ไปหาหมอจักษุแพทย์ที่ไหนดี อยากทำหน้าสวยไปหาหมอ ไปทำหน้าที่ไหนดีที่สุด อยากทานวิตามินเพื่อสุขภาพทานยี่ห้อไหนดี คือจริงๆพวกนี้มันมีคู่แข่งอยู่เหมือนกัน แต่ต่อให้นึกถึงคู่แข่งเจอก็อาจจะไม่เลือกคู่แข่งเพราะความเชี่ยวชาญทำให้ต้องไปใช้บริการ จริงๆแล้วการผูกขาดเพราะความเชี่ยวชาญอาจจะมาพร้อมๆกับการผูกขาดเพราะคุณภาพดีก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นอาจจะทำให้ภาพลักษณ์และความเชี่ยวชาญของบริการเติมเต็มกันเข้าไปอีก

ผูกขาดเพราะการจัดการ

เชื่อผมไหมว่าบางธุรกิจสามารถจัดการจนตัวอย่างสามารถเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจเลยก็มี การจัดการที่ผมมายถึงจะเป็นในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทำเลที่ตั้ง เช่น เห้ยยยย ไปที่ไหนก็เจอมันและก็ดันต้องเลือกใช้บริการมันด้วย มันเป็นเจ้าแรกที่ทำอะไรพิเศษกว่าคนอื่นและคนอื่นไม่มี ยังไงก็ต้องเจ้านี้ หรืออาจจะเป็นการจัดการในมิติอื่นๆเช่นมิติทางสังคม ประมาณว่าใครๆก็ใช้มันเกิดเป็นกลุ่มของ Social Contribution ขึ้นมา ลองดูในกลุ่มสังคมไทยก็ได้ที่เราเองก็รู้ว่า Social Network มันมีเป็นสิบๆ ยี่ห้อ แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกใช้หลักๆแค่อย่าง 2 อย่าง เท่านั้น นี่ก็คือการผูกขาดธุรกิจอีกแบบหนึ่งเช่นกัน

หลักการนี้เป็นหลักการเบื้องต้นที่สามารถลองนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการมองธุรกิจหนึ่งๆว่ามันสามารถอยู่ในวิถีทางที่จะชนะคู่แข่งในระยะยาวได้หรือไม่ สิ่งที่ผมเขียนอาจจะมีคนมองว่ามันยังมีวิธีคิดอย่างอื่นได้อีก และน่าจะต่อยอดไปได้อีกด้วย ถ้าใครมีความเห็นดีๆก็มากระซิบกันในแฟนเพจหน่อยนะครับ จะได้แชร์ให้กับเพื่อนๆที่ชอบลงทุนด้วยกัน และที่สำคัญก็คือ แม้มันจะเป็นธุรกิจที่ผูกขาดก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการไม่มีคู่แข่งนั้นจะสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุน บางทีผูกขาดแต่ขาดทุนย่อยยับก็มี แต่สำหรับผมชอบมองอะไรที่มันมีมิติผูกขาดหลายๆด้านแบบนี้ละครับ แล้วเราก็ลองเอาไปจับกับ Business Model อื่นๆอย่าง Five Forces อีกที ดูงบการเงินประกอบว่ามันมีกำไรเติบโตอย่างไร รวมถึงมองความ Sensitive ในการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมทางการแข่งขันและเทคโนโลยี ก็จะทำให้เรามีความสุขในการลงทุนระยะยาวมากขึ้นก็ได้นะ