บทความตอนนี้ตั้งชื่อจั่วหัวซะหรูว่าเป็น “ทฤษฎี” เลยนะเนี่ย อันที่จริงก็ไม่ใช่ทฤษฎีอะไรขนาดน้านหรอกครับ แต่เป็นหลักการที่ผมอยากจะอธิบายเพื่อนๆเวลาที่มีคนถามว่า หุ้นตัวนี้ราคาเท่า 12 บาทซื้อดีไหม? หุ้นอีกตัวราคา 8 บาท ถูกกว่าหุ้นราคา 12 บาทสิ แล้วจะซื้อตัวไหนดีล่ะ? 

ทั้งหมดนี่เป็นคำถามของนักลงทุนมือใหม่เสมอเวลาที่เปืิิดดูราคาในกระดานหุ้น ก็ไม่รู้จะยังไงต่อดี บางคนก็เลยเลือกหุ้นที่ราคาถูกกว่าอีกตัวเพราะคิดว่าด้วยเงินเท่ากันจะทำให้ซื้อหุ้นได้จำนวนเยอะกว่า พอซื้อไปคิดว่าของถูกถ้าราคาขึ้นก็คงรวยแน่ๆ แต่ซื้อไปชาตินึงก็ราคาไม่ขึ้นซักที แล้วตกลงจะซื้ออย่างไรดีล่ะ 

พอเป็นอย่างงี้ มาถามผมผมก็เลยพยายามอธิบายให้ฟังนะครับโดยเปรียบเทียบกับเวลาที่เราไปซื้อปลาทูในตลาด

ผมจะขอให้ทุกคนได้ดูปลาทู 2 ตัวนี้ก่อนนะครับ

P'tar-01-01

ตัวหนึ่งราคา 8 บาท อีกตัวหนึ่ง 12 บาท คุณเห็นข้อมูลแค่นี้จะซื้อตัวไหนล่ะ?

แน่นอนซื้อตัวราคาถูกสิ! 

แต่ผมถามใหม่ แน่ใจหรอออ?

เหมือนเรามองหุ้นที่ราคาแพงๆแล้วก็มาตั้งคำถามว่า เราจะหาราคาที่ถูกๆบ้างจะซื้อตัวไหนดี แต่ความเป็นจริงแล้ว ราคาไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่เราใช้ตัดสินใจเวลาซื้อปลา เราต้องมาดูตัวแปรอื่นอีกนะครับ โดยปกติเราจะตั้งคำถามเวลาซื้อของอยู่แล้วครับว่า ซื้อด้วยเงินจำนวนเท่านั้นแล้วจะได้อะไรกลับมา เช่น ซื้อปลาในราคาที่แตกต่างกันแล้วจะได้ปลาขนาดเท่าไหร่มาล่ะ มาดูในภาพนี้กันครับ

Screen Shot 2558-08-19 at 6.52.37 PM

เอ๋…. พอผมเพิ่มตัวแปรว่าจะได้รับอะไรจากเงินที่จ่ายไป พอมองแบบนี้แล้วเพื่อนๆคิดอย่างไรกันบ้างครับ?

จากข้อมูลเพิ่มเติม สรุปว่าถ้าเราซื้อปลา 8 บาทจะได้ปลาหนัก 80 กรัม แต่ถ้าซื้อตัว 12 บาทจะได้หนัก 120 กรัม จริงๆแล้วมันราคาต่อน้ำหนักมันเท่ากันนะเพราะถ้าเอาราคาหารด้วยจำนวนกรัมแล้วจะกลายเป็น 1 บาทได้ 10 กรัม ทั้งคู่ แค่ราคามันต่างกันเท่านั้นเองเพราะขนาดใหญ่เล็กต่างกัน

การซื้อของทุกครั้งเราเองก็จะเปรียบแบบนี้เสมอ บางทีก็เช็คหลายๆร้าน บางทีเช็ควันนี้เดือนหน้าเช็คอีกที เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ซื้อมากับสิ่งที่ได้รับ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเราเข้าไปในตลาดเพื่อหาซื้อปลาทู เราจะพอรู้ได้ว่าตัวไหนแพง ตัวไหนถูก 

คิดว่ารูปข้างล่างนี้ตัวไหนขายแพงสุดเมื่อเอาเงินจ่ายไปเทียบกับของที่ได้มา?

P'tar-01-03

 

 ลองดูสิว่าเมื่อเราเดินเข้าไปในตลาดแล้วมีร้านเยอะๆให้เราเช็คราคาได้ ตัวไหนที่เราควรจะซื้อและตัวไหนที่เราไม่ควรซื้อ? มาดูรูปข้างล่างครับ

  • ตัวที่ผมเขียนว่าราคาถูก เราซื้อ 12 บาท ได้ตั้ง 150 กรัมแหนะ ตกกรัมละ 0.08 บาท
  • ตัวที่ผมเขียนว่าราคาแพง เราซื้อ 10 บาท ได้แค่ 90 กรัมเอง ตกกรัมละ 0.11 บาท

พอเป็นแบบนี้เราก็จะมองต่างไปว่าของที่ราคาแพงมันอาจจะได้อะไรกลับมาคุ้มค่ากว่าก็ได้และอัตราเปรียบเทียบระหว่างเงินที่จ่ายไปกับสิ่งที่ได้รับนั้นจะทำให้เรารู้สึกว่ามันถูกกว่า และของที่เราจ่ายไปราคาไม่กี่บาท พอเทียบกับสิ่งที่ได้รับแล้ว จริงๆมันอาจจะถือว่าแพงก็ได้ ถูกป่ะ?

P'tar-01-04

 

คำถามคือ : ถ้าเราจะซื้อปลาให้คุ้มค่าหรือได้กำไรกว่าคนอื่นต้องทำอย่างไร?

1. ซื้อเมื่อเราเห็นว่าราคามันถูกกว่าตลาดที่เป็นอยู่ (ใช้วิธีเทียบกับอดีตที่เคยเป็นหรือเทียบกับร้านอื่นๆ)
2. ถ้าเราเป็นพ่อค้าคนกลาง เราต้องมองเพิ่มว่าจะเอาไปขายที่ไหนให้แพงกว่าเดิมได้

นี่แหละคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอก... ก็เลยเรียกว่าทฤษฎีปลาทู!

แล้วเรานำไปใช้ในการลงทุนในหุ้นได้อย่างไร?

แน่นอนครับว่า ถึงตรงนี้พอเรารู้ว่าราคาอย่างเดียวบอกอะไรไม่ได้นอกจากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการซื้อ หลังจากอ่านบทความนี้แล้วต่อไปเราจะไม่เอาแค่ราคามาเทียบกันว่า หุ้น 5 บาทราคาแพงกว่าหุ้น 1 บาท แต่เราต้องใช้หลักการว่า ซื้อราคาเท่าไหร่แล้วจะได้อะไร วิธีที่ง่ายที่สุดในการดูหุ้นสำหรับมือใหม่นั้นคืือ การดูค่า P/E (ราคาเทียบกับกำไรต่อหุ้น) และ P/BV (ราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี)

ตัวอย่างวิธีคิด

P/E : ซื้อหุ้นมาในราคา P บาท แล้วจะได้หุ้นที่มีผลกำไรต่อหุ้น E บาท

P/E : ซื้อหุ้นมาในราคา 10 บาท แล้วจะได้หุ้นที่มีผลกำไรต่อหุ้น 2 บาท (P/E 5 เท่า)

ถ้าเราไปวิเคราะห์มาแล้วว่า หุ้นที่เราอยากจะลงทุนนั้น ปีที่แล้วมีกำไรต่อหุ้นที่ 2 บาท และอนาคตคาดว่าจะให้ผลตอบแทนในส่วนกำไรต่อหุ้นมากขึ้นด้วย มันเป็นหุ้นที่น่าซื้อมากและเราคงอยากซื้อในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซื้อ 10 บาทก็คงดีกว่า 12 บาทล่ะเนอะ เขาถึงบอกไงว่าให้หาหุ้นดีแล้วซื้อช่วงที่ P/E ต่ำ 

แต่นักลงทุนมือใหม่ที่ผมรู้จักหลายคน กลับไปดู P/E อย่างเดียวตอนซื้อหุ้น ซึ่งตรงนี้อันตรายมากนะครับ เราควรจะดูพื้นฐานและ P/E ประกอบด้วย บางทีหุ้นมันอาจจะแย่มาก คนก็ขาย ราคาก็ลด ส่วนผลกำไรก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่น ราคาลดจาก 10 บาทเหลือ 5 บาท ผลกำไรลดจาก 2 บาท เหลือ 1 บาท นั่นคือหุ้นอยู่ในแนวโน้มที่แย่ครับ P/E ถูกก็จริง แต่ซื้อแล้วขาดทุน

สรุปว่าจะซื้อหุ้นก็ต้องเอาข้อมูลมาดูกันครับ ถ้าหุ้นดีมีการเติบโต เราต้องดูด้วยว่าถ้าจะซื้อวันนี้ ราคาในตลาดเหมาะสมกับสิ่งที่เราจะได้รับหรือไม่ เอาสถิติย้อนหลังพวกค่า P/E มาดูก็จะบอกได้ด้วยนะครับว่าจริงๆแล้วที่ผ่านมาช่วงที่ราคาถูกมันซื้อที่ P/E ประมาณกี่เท่า เพราะฉะนั้นแล้ว

  • ซื้อหุ้นดีๆ ในราคาถูก ถ้ามีจังหว่ะ Grand Sales ก็อย่าพลาด
  • ซ์้อหุ้นดีๆ เติบโตสูง แต่มันไม่ลดราคาเลย ก็คำนวณดูว่าซื้อวันนี้ดูแพงและอนาคตจะแพงกว่าวันนี้จากการเคิบโตอีกไหม
  • ซื้อหุ้นดีๆ แต่ไม่รู้จะซื้อตอนไหนดี ก็ออมหุ้นแบบ DCA เฉลี่ยราคาไปเลย

เห็นไหมว่าการซื้อหุ้นมันก็เหมือนการซื้อปลาทูนั่นแหระ หุ้นก็เช่นกันนะครับ

หมายเหตุ ปลาทูเป็นแค่ตัวอย่างเปรียบเทียบให้เรื่องราวสนุกขึ้นเท่านั้นนะครับ และรายละเอียดเชิงลึกก็มีอีกเยอะ อย่าลืมศึกษาเพิ่มเติมนะครับ อันนี้เป็นแค่การเล่าเบื้องต้นสำหรับมือใหม่เท่านั้น

 

หลักการเลือกซื้อหุ้น