[WEEKLY OUTLOOK กับอัศวินกองทุน]สรุปภาพรวมการลงทุน ช่วงวันที่ 19 - 23 กันยายน 2559
สวัสดีครับ กลับมาเจอกันในสัปดาห์นี้กันอีกครั้งกับผม “อัศวินกองทุน” เจ้าเก่าเจ้าเดิมเพิ่มเติมความความรู้ที่จะเสริมมุมมองการลงทุนในสัปดาห์นี้ ผ่าน Weekly Outlook เหมือนเคยครับ
แหม่.. สัปดาห์นี้ก็เป็นสัปดาห์ที่ 15 แล้วครับ ซึ่งสัปดาห์นี้เองผมมีข่าวดีมาบอกครับ นั่นคือ....ผมจะทำการ อัพเกรดบทความ นั่นเองครับบบบ โดยจะเพิ่มเติมในส่วนของตลาดที่น่าสนใจในแต่ล่ะสัปดาห์ในช่วงต้นของบทความเพื่อจะนำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันแฟนๆที่น่ารักทุกคนให้ได้อรรถรสมากยิ่งขึ้นครับ
เอาล่ะครับ.. กลับมาต่อดีกว่า เรามาดูกันเลยครับ สำหรับวันที่ 19 - 23 กันยายน 2559 มีสินทรัพย์อะไรที่น่าลงทุนกันบ้าง พร้อมแล้วใช่ไหมครับ เอาล่ะ จัดไปเลยคร้าบบบ
ถ้าเราพูดถึงการลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ ผมเชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภท ที่ดิน บ้าน คอนโด โรงงาน โกดัง ฯลฯ โดยผลตอบแทนจากสินทรัพย์กลุ่มนี้ได้มาจากกำไรส่วนเพิ่มจากการซื้อ-ขาย หรือค่าเช่า โดยรายได้จากค่าเช่าเจ้าของสามารถปรับเพิ่มขึ้นอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อตามภาวะเศรษฐกิจได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันเงินเฟ้อ (Inflation hedge) ได้เป็นอย่างดีครับ
แต่อย่างที่ว่าแหละครับ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น สภาพคล่องน้อย ต้องใช้ความรู้ความชำนาญ และต้องใช้เงินลงทุนสูงเพราะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง ทำให้ใครหลายคนไม่กล้าตัดสินใจลงทุนเสียที
ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านเครื่องมือทางการเงินอีกทางหนึ่งที่เป็นที่นิยม นั่นคือ “การลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REITs) และการลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถสะท้อนลักษณะผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ข้อดี คือ มีสภาพคล่องสูงกว่า ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ และมีผู้จัดการ REITs ที่มีความชำนาญช่วยทำหน้าที่บริหารอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ”
ผมอยากแนะนำว่าการลงทุนประเภทนี้มีความน่าสนใจ และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และสร้างกระแสเงินสดระหว่างการลงทุน โดยถือเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับการจัดสรรสินทรัพย์นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้อีกทางหนึ่งด้วยครับ ยังไงก็ลองเก็บทางเลือกนี้ไว้พิจารณาดูกันด้วยนะครับ
สรุปภาพรวมประจำสัปดาห์ "จับตาทิศทางนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่น"
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
คาดว่า Fed จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21 ก.ย. 59 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ำกว่าการคาดการณ์ ทำให้การย่อตัวของตลาดหุ้นเป็นจังหวะในการเข้าซื้อ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีๆ ในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นสหรัฐครับผม
ตลาดหุ้นยุโรป
ECB ยังไม่มีมาตรการกระตุ้น และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาในการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย นี่ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เราควรจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นยุโรปเช่นกันครับ
ตลาดหุ้นจีน (A-SHARE / H-SHARE)
ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนเงินทุนต่างชาติ เนื่องจาก Fed ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. นี้ ประกอบกับเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ของบริษัทจดทะเบียน นี่คือโอกาสที่เราเองควรจะเพิ่มการลงทุนในสองตลาดหุ้นจีนนี้เช่นเดียวกันครับ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ฝั่งตลาดหุ้นญี่ปุ่น การลงทุนภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสสาม หลังจากยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือน ส.ค. ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สอง ประกอบกับ BOJ มีแนวโน้มเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมวันที่ 21 ก.ย.นี้ และญี่ปุ่นเองก็ยังคงผจญกับภาวะเงินฝืดอยู่ แบบนี้ขอแนะนำให้เพิ่มการลงทุนเข้าไปเลยครับ
ตลาดหุ้นเกาหลี
ตอนนี้มีปัจจัยสนับสนุนให้เงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากมายครับ ในขณะที่ BOK มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงภาวะเงินฟืด ซึ่งตลาดหุ้นเกาหลีก็เป็นอีกที่หนึ่งที่น่าสนใจ เอ้า เพิ่มการลงทุนกันต่อไปครับผม
ตลาดหุ้นไทย
แม้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะลดลงและยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุน แต่ราคาต่อมูลค่าพื้นฐานหุ้นไทยที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ทำให้ความน่าสนใจลดลงครับ ช่วงนี้ควรคงการลงทุนอยู่นิ่งๆ ดูสถานการณ์กันไปก่อนครับ
ตลาดหุ้นอินเดีย
การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ประกอบกับตัวเลขภาคการผลิตชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะสนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในระยะต่อไป แบบนี้มีแต่เรื่องดีๆเข้ามา ดังนั้นเพิ่มการลงทุนในตลาดอินเดียได้เลยครับ
เงินสดและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
ความผันผวนของตลาดหุ้นมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนควรลดการถือครองเงินสด และหาการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นครับ
น้ำมัน
คาดว่าราคาน้ำมันจะมีปัจจัยหนุนจากการลดลงของปริมาณน้ำมันดิบสำรองสหรัฐฯ ที่ลดลงติดกันถึงสองสัปดาห์ ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการเจรจาการคงกำลังการผลิตในการประชุมช่วงปลายเดือน ก.ย. แบบนี้ก็จัดไปอย่าให้เสีย เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในน้ำมันได้เลยครับ
ทองคำ
ราคาทองคำยังมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหลังจาก ECB ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ