สวัสดีคร้าบบบบ กลับมาพบกับผม “หมอนัท” ประจำคลินิกกองทุนแห่งนี้เองครับ

ไม่กี่วันก่อนผมมีโอกาสไปบรรยายให้กับ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ผู้บริหารเห็นความจำเป็นในเรื่องของการบริหารเงิน และการลงทุน เพื่อสร้างเงินเกษียณให้กับพนักงาน ซึ่งคนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นพนักงานที่ทำงานมาสักระยะ และเริ่มที่จะมีเงินเก็บออมบางส่วนแล้วละครับ แต่ก็ยังลงทุนไม่เป็น หรือเริ่มต้นลงทุนมาได้ไม่นานแต่ก็ไม่รู้ว่าที่ลงทุนอยู่นั้น ลงทุนได้ถูกต้องหรือไม่ครับโดยในการบรรยายของผมนั้นจะมีการทำ Workshop โดยให้พนักงานทุกคนที่เข้ามาฟังผมบรรยาย เขียนความฝันของตนเอง 5 ข้อที่ลงในกระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมี “เงิน” เป็นส่วนประกอบด้วยเสมอครับ

ดังนั้น การที่เราอยากจะไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้ เราเองก็ต้องมีการจัดการบริหารเงินให้ดีครับ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ที่ตอนนี้เราไม่สามารถหวังพึ่งพิงการฝากออมทรัพย์ได้อีกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้สูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  ทำให้เราต้องรู้จักที่จะลงทุนด้วยครับ ซึ่งการลงทุนแบบให้ผลตอบแทนสูงเพื่อตอบสนองเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะกับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้น รวมไปถึงคนที่ลงทุนมาสักระยะแล้วแต่ไม่อาจไปถึงฝั่งฝันได้ หรือ ส่วนใหญ่แล้วยังคงลงทุนในแบบที่เรียกว่า “อยู่บนเส้นทางหายนะทางการลงทุน”

ใครอยากทราบแล้วว่า ลงทุนแบบไหนที่เรียกว่า “อยู่บนเส้นทางหายนะทางการลงทุน” ตามผมมาเลยครับ เดี๋ยวผมถอดประสบการณ์มาเล่าให้ฟังแบบเข้มข้นผ่าน 6 ข้อนี้ครับ

1. เป้าหมายไม่วาง

คนส่วนใหญ่เวลาลงทุนมักจะไม่มีเป้าหมายชัดเจนครับ ส่งผลให้วัดผลยากไปด้วยครับ เพราะไม่รู้ว่าจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ ต้องลงทุนด้วยเงินกี่บาท แล้วผลตอบแทนที่จะได้นั้นเพียงพอต่อความต้องการของเราหรือเปล่า เห็นไหมครับว่า พอเป้าหมายไม่ชัด อะไร ๆ ก็สับสนไปหมดครับ

พอเป็นแบบนี้ หากลงทุนน้อยเกินไปจะทำให้เงินที่จะสะสมก็อาจจะไม่พอในช่วงเกษียณ ก็ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายลดลง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาระต่อลูกหลานในอนาคตอีกด้วยนะครับ ดังนั้น หากใครเงินเก็บไม่เยอะพอ และยังทำแบบนี้อยู่เตรียมลำบากได้เลยครับ

2. มองระยะยาวไม่เป็น

ต่อจากข้อที่แล้วเลยครับ พอตั้งเป้าหมายไม่ชัดเจน ก็พาลทำให้เราไม่ลงทุนระยะยาวไปด้วย ได้กำไรนิดหน่อยก็ทยอยขายกองทุน และก็ซื้อใหม่เพื่อทำกำไร แต่หารู้ไม่ว่า ซื้อ-ขายบ่อย ๆ โดนค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายกินผลตอบแทนไปไม่รู้เท่าไหร่ แถมระหว่างทาง สิ่งล่อตาล่อใจก็เยอะ พอขายกองทุนออกมา บางคนซื้อของออนไลน์เป็นว่าเล่น แทนที่จะได้เงินเกษียณ บางคนยังต้องมาเป็นหนี้บัตรเครดิตแทนอีกด้วย ดังนั้น ใครที่ทำแบบนี้อยู่ เงินในอนาคตหายหมดแน่นอนเลยครับ

3. จัดสรรเงินไม่เคยทำ 

ลองนึกภาพง่าย ๆ นะครับ หากเรากำลังลงทุนอยู่แต่เนื่องจากเกิดเหตุไม่คาดฝันเราอาจจะต้องใช้เงินฉุกเฉินพอดี ไม่ว่าจะเกิดจากญาติป่วย หรือคนใกล้ตัวจำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้เราต้องขายกองทุนออกมาก่อนทั้ง ๆ  ที่เราอาจจะติดตัวแดงอยู่ (ขาดทุน)  พอเป็นแบบนี้การลงทุนระยะยาวของเราต้องหยุดชะงัก ซึ่งจริง ๆ แล้วในการลงทุนระยะยาวนั้นจะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ดันต้องขายมาก่อนทั้ง ๆ ที่ยังติดลบอยู่ ดังนั้น จัดสรรเงินเอาไว้ให้ดีเพื่อความสบายใจในยามฉุกเฉินจะดีกว่าครับ

4. กองทุนดี ๆ ไม่เคยซื้อ

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่พอพูดถึงเรื่องลงทุน สิ่งที่นึกถึงคือจะไปลงทุนกับกองทุนไหนดี ? คล้าย ๆ กับการขูดต้นไม้ขอหวยกันเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะถามเพื่อน ถามคนรอบข้าง ผมบอกได้เลยว่า เพื่อนหรือคนรอบข้างนั้น เผลอ ๆ ก็ไม่รู้ หรือแนะนำให้เราลงทุนอะไรที่ไม่เหมาะกับเราไปอีก ดังนั้น ใครที่ยังถามเพื่อนอยู่ และไม่ศึกษาข้อมูลกองทุนดี ๆ แล้วละก็เสียดายโอกาสแย่เลย

5. ไม่รู้จักกระจายความเสี่ยง

เมื่อเราไม่วางแผนลงทุนระยะยาว คนส่วนใหญ่ก็จะไปเน้นลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงมาก ๆ แทน เพื่อให้ได้เงินมาก ๆ ในเวลาสั้น ๆ เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เราไม่กระจายเงินไปลงทุนในกองทุนประเภทอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำบ้างเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

การไม่รู้จักกระจายความเสี่ยง ถ้าเปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับเราขับรถแล้วเร่งเครื่องรถยนต์อยู่ตลอดเวลา รถที่วิ่งเร็วเกินไป ก็มักมีโอกาสสูงที่จะพลิกคว่ำได้ครับ ดังนั้น เราคงต้องเลือกความเร็วให้เหมาะกับสภาพของถนน และลดความเร็วเวลาเข้าโค้งบ้าง ถ้าเป็นโลกของการลงทุนก็เช่นกัน ต้องมีการเลือกและปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับบางสภาวะ และระดับความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้  ดังนั้น ใครที่ไม่รู้จักกระจายความเสี่ยง ระวังเจอตลาดการลงทุนในภาวะวิกฤต ซึ่งผมบอกได้เลยว่าเงินอาจจะหายไปเกินครึ่งจากที่เก็บสะสมมานะครับ

6. ไม่ติดตามข่าวสาร

เมื่อลงทุนไปได้สักระยะ คนส่วนใหญ่มักจะลืมที่จะมาอัพเดตเงินที่ตนเองได้ลงทุนไปว่าเติบโตไปถึงไหนแล้ว กลยุทธ์ที่ควรทำควรปรับในปีถัดไปต้องเป็นอย่างไร เศรษฐกิจแบบนี้ลงทุนอะไรดีถึงจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือเศรษฐกิจแย่แบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ยิ่งยุคสมัยนี้ สมัยที่ธุรกิจ + การลงทุนนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางธุรกิจอาจจะเจ๊งได้ในชั่วเวลาไม่กี่ปี หากเรายังคงดื้อลงทุนอยู่แบบเดิม ๆ อาจจะทำให้เราขาดทุนอย่างหนักก็เป็นไปได้ครับ

ผมอยากจะบอกว่าไม่มีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมไหน หรือกองทุนประเภทไหนแล้วจะกลายเป็นเสือนอนกินไปได้ตลอด โดยถ้าหากไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายเราอาจจะกลายเป็นเสือนอนตายไปเลยก็ได้ครับ ดังนั้น หากไม่ติดตามข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจและปรับเปลี่ยนแผนในการลงทุน ได้ทันท่วงทีอาจจะทำให้เราเป็นชาวดอยไปโดยปริยายครับ (ซื้อกองทุนแถมที่ดินบนดอย)

นี่คือบทสรุปทั้ง 6 ข้อที่ผมถอดจากประสบการณ์ในสนามแห่งการลงทุนที่มาพร้อมความเสี่ยง ลองเช็คกันนะครับว่าเรามีกี่ข้อ บางคนน้อยข้อก็ดีใจด้วย บางคนมีมากข้อก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปครับ เพราะหากเราต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เราคงต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะมากกกกก (ก ไก่ล้านตัว ) กว่าจะได้ลงทุนจริงคงใช้เวลาเป็นปี ๆ ครับ

บางคนอาจจะแก่เกษียณไปก่อนก็ว่าได้ครับ หรือการให้บริการแบบมีคำแนะนำจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อาจจะถูกจำกัดเพียงแค่คนมีเงิน แต่ในยุคสมัยที่ทุกอย่างรวดเร็วแบบนี้ และด้วยการพัฒนาของระบบการให้คำแนะนำจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการลงทุนนั้นก็สามารถให้บริการดี ๆ ที่จะมาช่วยให้เรื่องลงทุนของเราง่ายขึ้น ทำให้ใคร ๆ ที่มีเงินน้อย ๆ หรือ เป็นคนที่เริ่มต้นเก็บเงินก็สามารถลงทุนได้ และแก้ไขปัญหาได้อย่างง่ายดายด้วย

~ ผ่าม ผ่าม ผ่าม ~

โดยเราเรียกว่าโปรแกรม 5 ขั้นมั่นใจลงทุน นั่นเองครับ

โดย 5 ขั้นนี้ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเลือกลงทุนไม่ถูก ข้อมูลเยอะ เปรียบเทียบไม่เป็น ขาดคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง หรือต้องใช้เงินลงทุนก้อนโต ซึ่ง 5 ขั้นตอนนี้ จะมีทั้งการสำรวจความต้องการของผู้ที่มาลงทุนก่อน แล้วจึงจัดแผนการลงทุนให้ ก่อนจะแนะนำการลงทุนแบบเป็นกลาง (แบบไม่ยัดเยียด) ประมาณว่า

“ไม่เน้นขาย เน้นคำแนะนำที่ถูกต้อง” เพื่อประโยชน์สุขของผู้ลงทุนเป็นหลัก

และเพื่อให้ลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ หลังจากลงทุนไปแล้วก็จะมีการติดตาม + ปรับพอร์ตการลงทุน รวมทั้งรายงานผลการลงทุนของเราอยู่อย่างสม่ำเสมอครับ ซึ่งตัวกลางทางการเงินที่ให้บริการตามมาตรฐาน 5 ขั้นมั่นใจลงทุนจะประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ        

1. สำรวจเป้าหมาย และวิเคราะห์ความต้องการ

ผู้ให้บริการจะสอบถามข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับด้านการเงินของเราครับ ไม่ว่าจะเรื่องเป้าหมายที่เราอยากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่าง ๆ ก็เพื่อที่จะช่วยให้เป้าหมายระยะยาวของเราไปถึงได้ และเพื่อออกแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดนั่นเองครับ

2. กำหนดสัดส่วนการลงทุน

เมื่อผ่านขั้นตอนแรกไป ทางผู้ให้บริการ 5 ขั้นจะทำการ จัดสรรเงินลงทุน หรือ Asset Allocation ให้กับเราทันทีครับ โดยขั้นตอนนี้เป็นการออกแบบสัดส่วนในการแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนอสังหา ฯ กองทุนทองคำ กองทุนต่างประเทศ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้รองรับเป้าหมายและความเสี่ยงของเราได้นั่นเองครับ

ซึ่งข้อดีของการลงทุนแบบ Asset Allocation จะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างดีมาก เนื่องจากราคาของสินทรัพย์หลาย ๆ สินทรัพย์นั้น บางครั้งไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน ก็จะทำให้ความเสี่ยงจากการลงทุนลดลงไปครับ เช่น กองทุนหุ้นที่เราถือมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ว่ากองทุนอสังหาฯ ที่เราถือกลับปรับตัวลดลง ซึ่งถ้าหากเราลงทุนแต่กองทุนอสังหาฯ เพียงอย่างเดียว เราอาจจะขาดทุนมากก็ได้ครับ เพราะว่าไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะเป็นพระเอกได้ตลอดกาลครับ มีขึ้นลงสลับกันไปในแต่ละปี แต่ละช่วงเวลาครับ

3. เลือกลงทุนตามเป้าหมาย

ในขั้นตอนนี้ ทางผู้ให้บริการจะทำการคัดเลือกกองทุนอย่างมีหลักการให้กับเราเพื่อลงทุนนั่นเองครับ โดยที่ทางผู้ให้บริการจะดูตั้งแต่ ผลตอบแทนย้อนหลัง ความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน ระดับความเสี่ยง ค่าธรรมเนียม กลยุทธ์และภาพรวมนโยบายของกองทุน เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเม็ดเงินที่เราลงทุนไปนั้น จะไม่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่เราจะรับได้ ได้กองทุนที่เหมาะกับเราจริง ๆ และจะนำไปสู่เป้าหมายการลงทุนที่ตั้งใจไว้นั่นเองครับ

4. ติดตามและปรับกลยุทธ์

เมื่อเป้าหมายชัด มีการจัดสรรเงินลงทุนอย่างถูกต้อง รวมถึงได้กองทุนที่ดีแล้ว การติดตามให้การลงทุนของเราเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงไม่ให้สูงมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้กองทุน หรือสินทรัพย์ลงทุนที่ดี เหมาะกับทุกสถานการณ์อยู่เสมอ อะไรที่ไม่ดี เราไม่เอาไว้ อะไรที่ดีเราก็จะลงทุนต่อเนื่องไปครับ ซึ่งเราเรียกกลวิธีแบบนี้ว่า ‘Rebalance’ นั่นเองครับ

5. รายงานทุกสถานะการลงทุน

ส่วนนี้ถือว่าสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ เลยครับ โดยเราสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุน และสถานะและความเคลื่อนไหวการลงทุนในพอร์ตของเราผ่านรายงานที่ส่งจากผู้ให้บริการได้ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราได้มั่นใจว่าการลงทุนของเรายังเป็นไปตามเป้าหมายอยู่ และถ้าหากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงทีได้นั่นเองครับ

จาก 5 ขั้นตอนที่กล่าวมานี่คือมาตรฐานใหม่ของการลงทุนในยุคนี้ และยังช่วยอำนวยความสะดวกของผู้ลงทุนในยุคนี้ด้วยครับ ที่สำคัญ ก.ล.ต.จะเข้ามาดูแลด้านการคัดเลือกสินค้าที่เกี่ยวกับการลงทุนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ของที่จะขายกับผู้ลงทุนมาจากระบบที่ดี มีคุณภาพ มีที่มาที่ไป ดังนั้น หากใครเห็นสัญลักษณ์นี้ ก็สามารถมั่นใจได้เลย ว่าระบบการให้คำแนะนำนี้ได้ผ่านการกำกับดูแลจาก ก.ล.ต. แล้วนั่นเอง

“แต่ส่วนผลตอบแทนคงต้องไปวัดกันด้วยคำแนะนำจากแต่ละผู้ให้บริการนะครับ”

“เพราะการลงทุนก็ยังคงมีความเสี่ยง และไม่ได้รับประกันเงินต้น
และผลตอบแทนในอดีตไม่การันตีอนาคตนะคร้าบ”

ก่อนจากกันวันนี้ สิ่งที่จะทำให้นักลงทุนมือใหม่ หรือ คนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนประสบความสำเร็จได้คือการมีวินัยนั่นเองครับ ซึ่งผมจะฝากเคล็ดลับให้ลงทุนผ่าน 5 ขั้นมั่นใจลงทุน ซึ่งเราจะมีการทยอยลงทุนเพื่อให้เหมาะกับเงินที่ได้มาแต่ละเดือนนั่นเองครับ ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า DCA หรือ Dollar Cost Average นั่นเองครับ วิธีการนี้สร้างความมั่งคั่งให้เราได้ พร้อมความสะดวกสบาย เพราะว่าผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะมีระบบไว้รองรับเรื่องนี้อยู่ครับ ไม่ต้องจำวันที่ลงทุนว่าวันไหนเวลาไหน ไม่ต้องคำนึงถึงสภาวะตลาดว่าจะเป็นขาขึ้น หรือขาลง แต่ทั้งนี้เราต้องลงทุนบนสินทรัพย์ที่ดี และสามารถเติบโตได้ในระยะยาวด้วยนะครับ

DCA เป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเลยครับ อย่างภาพนี้จะเห็นได้ว่ากว่าราคาหน่วยลงทุนของกองทุนที่ผม DCA ไว้จะปรับตัวสูงขึ้น ผ่านวิกฤตต่าง ๆ ได้ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ปีเลยทีเดียวครับ ช่วงแรก ๆ ราคาเฉลี่ยที่ได้จาก DCA อาจจะสู่สีกับราคาซื้อจริงในตลาด แถมเวลาตลาดตก ราคาเฉลี่ยก็ดันสูงกว่าราคาตลาดซะอีก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า ผลของการที่เราทำ DCA ไว้ก็จะเริ่มทำงาน โดยราคาเฉลี่ยจะต่ำกว่าราคาซื้อจริงค่อนข้างมากครับ

DCA ผมเรียกอีกอย่างว่า กลยุทธ์ “อึด ถึก ทน” ครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอสรุปเพื่อให้เข้าใจกันง่าย ๆ แบบนี้ครับ โปรแกรม 5 ขั้นมั่นใจลงทุนก็คือ มาตรฐานการให้บริการออกแบบการลงทุนอย่างมีคุณภาพ และครบวงจร ที่จะมาแก้ไขปัญหาการลงทุนที่ไม่ถูกต้องนั่นเองครับ

โดยผู้ดำเนินธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 27 ราย สามารถเข้าไปดูได้ตามลิงก์นี้เลยครับ (https://www.sec.or.th/TH/Documents/ListofMarketProfessionals/wealth-list.pdf) ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการนั่นเองครับ จากเดิมที่การบริการที่ดูแลกันแบบนี้มีให้เฉพาะผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น ทาง ก.ล.ต. เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เพราะต้องการให้ประชาชนที่เพิ่งเริ่มต้น หรือมีเงินน้อยก็สามารถได้รับบริการการให้คำแนะนำที่ดี และถูกต้องด้วยนั่นเองครับ

นี่คือหลักการตามมาตรฐาน 5 ขั้นตอนครับ ซึ่งการเรียนรู้อย่างเดียวโดยไม่ลงมือทำ คงไม่ถึงเป้าหมายแน่นอนครับ ส่วนวันนี้ผมเองคงต้องลาไปก่อน แล้วมาพบกันใหม่ ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนครับ สวัสดีคร้าบ

บทความนี้เป็น Advertorial