วันนี้ aomMONEY ขอหยิบบทสัมภาษณ์ของอีกแขกรับเชิญที่พิเศษไม่แพ้ท่านอื่น จาก งาน aomMONEY Investment Conference 2020 อย่าง ภก. กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจลงทุนศาสตร์ ในประเด็นหัวข้อ ทักษะการเอาตัวรอดของนักลงทุนรายย่อย หลัง COVID-19 เพื่อการเติบโตในอนาคต จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง มาติดตามกันเลยได้ครับ

บทเรียนของนักลงทุนรายย่อยจากวิกฤตในตลาดหุ้นที่ผ่านมา

ลงทุนศาสตร์ :  ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนน่าจะได้เห็นภาพและเข้าใจมากๆ กับตลาด ที่ผ่านมาจากสถานการณ์ COVID-19 คือ “การคาดเดาตลาด” เป็นสิ่งที่แทบจะคาดเดาไม่ได้ ถ้าเราจำเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาได้ จะเห็นว่าตลาดทำ Circuit Breaker 3 ครั้งมากถึง 2 วันติด และตลาดลงไปถึง 950 - 960  จุด ตอนนั้นทุกคนก็เต็มไปด้วยความกังวล แต่ภาพรวมตลาดหุ้นตอนนี้ คือ ฟื้นตัวมากกว่า 30% แล้ว 

ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าทุกคนน่าจะได้คำตอบเป็นไอเดียในการลงทุนก็คือ “จริงๆ แล้วมันไม่มีใครสามารถทำนายตลาดหุ้นได้อย่างแท้จริง” ถึงแม้ว่าภาพที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่เราก็ไม่สามารถจะวิเคราะห์หรือคาดการณ์อนาคตได้มากขนาดนั้น หลายคนที่กังวล เลือกไม่กลับมาถือหุ้นอีก ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด เพราะในอนาคตตลาดหุ้นอาจจะตกกลับไปอีก หรืออาจจะวิ่งไปต่อก็ได้ ไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะให้โฟกัสที่วินัยการลงทุนหรือว่าแบบแผนการลงทุนของเรามากกว่า มากกว่าการที่จะมุ่งไปยังเรื่องของการคาดเดาตลาดที่มันค่อนข้างพิสูจน์ชัดเจนว่า จริงๆแล้วมันแทบคาดเดาไม่ได้เลย

ข้อได้เปรียบ/ข้อเสียเปรียบของการเป็นนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้น

ลงทุนศาสตร์ : ข้อได้เปรียบ คือ ช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก ผมว่านักลงทุนรายย่อยได้เปรียบกว่านักลงทุนสถาบันหรือว่านักลงทุนที่เป็นกองทุนรวม หรือว่า โบร์กเกอร์ , Prop Trade ,  ต่างชาติ ผมว่านักลงทุนที่เป็นบัญชีบุคคลได้เปรียบมากๆ ในข้อหนึ่งก็คือ เรื่องของจิตวิทยาการลงทุน อย่าลืมนะครับว่าการที่เราถือเงินคนอื่นไม่ว่าจะในฐานะของกองทุนรวม ของ Prop Trade หรือของต่างชาติ มันต้องตอบคำถามเจ้าของเงินเสมอว่าหุ้นจะตกอีกไหม ทำไม NAV ถึงลดลง ทำไมถึงผลประกอบการออกมาขาดทุน แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยเราไม่ต้องตอบ เราตอบแค่ตัวเอง 

ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดแข็งที่สุดของนักลงทุนรายย่อย ก็คือเรื่องของความเป็นอิสระ เราสามารถคิดได้เลือกได้ รวมไปถึงแม้กระทั่งเราสามารถตัดสินใจผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรา Cut Loss ไปตอน 1,000 จุด เราอาจจะเห็นว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนแบบ Technical เราเห็นว่าตลาดทำ  Dead Cross แล้ว ตลาดลงแล้ว สัญญาณขายมาแล้ว เราตัดสินใจขายไปตอนที่ 1,000 จุด แป๊บเดียวตลาดเด้งมา 2 วันตลาดเด้งกลับมาจุดเดิม เราอาจจะขาดทุนเยอะแยะ แต่เราไม่ต้องตอบคำถามใคร 

ดังนั้นการจัดการเรื่องวิธีคิด การจัดการอารมณ์ การ Manage ตลาด การจัดการพอร์ต สำหรับนักลงทุนรายย่อยง่ายกว่าเยอะ ลองคิดถึงเจ้าของเงินเยอะๆ อย่างกองทุนรวมต้องรับโทรศัพท์ทุกวัน ช่วงที่ผ่านมาตลาดลงจาก 1,500-1,600 มาเหลือ 1,100 จุด ใครที่เป็นนักวางแผนการเงินต้องคุยกับลูกค้าแทบทุกวัน ลูกค้าถามทุกวันว่าทำไมเงินลดลงตลอดเลย แต่พอเป็นเงินของตัวเองเรามีอิสระมากเราเลือกได้ เราคล่องตัวว่าจะเข้าตัวไหนออกตัวไหน มันเป็นอิสระของเรา 

แต่แน่นอนมันมีข้อเสีย และข้อเสียที่สำคัญที่สุดสำหรับผมซึ่งมันไม่ใช่ข้อเสียที่ใหญ่เลย ก็คือเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล เราต้องยอมรับความจริงว่าการนักลงทุนรายย่อยหลายครั้ง เราเข้าเข้าถึงข้อมูลได้ยากกว่านักลงทุนที่มีเงินเยอะ อย่างเช่น Analyst Meeting เราอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ หรือว่าการเข้าถึงข้อมูลที่เชิงลึกต่างๆ ที่บริษัทส่วนใหญ่จะให้กับนักลงทุนที่มีเม็ดเงินจำนวนมากเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนรวม นักลงทุนรายย่อยอาจต้องรอ Opportunity Day อาจต้องรอ 56-1 หรือรอ บทวิเคราะห์ออกมา 

แต่ถามว่าเป็นจุดสำคัญไหม ผมมองว่าไม่ได้สำคัญมาก ถ้าเราลงทุนระยะกลาง - ยาว เพราะว่าจริงๆ แล้วการรู้ปัจจัยพื้นฐานล่วงหน้าซักวันสองวันเนี่ยอย่างมากหุ้นก็ขึ้นไป 1 ลิ่ง ซึ่งปัจจุบัน 1 ลิ่ง ก็คือ 15% ซึ่ง 15% ในระยะยาวสมมติ 3 ปี 5 ปี 15% ไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะเลยนะครับ ถ้าเรามองว่ามันจะขึ้นเป็น 100% 15% ก็แค่นิดเดียว 10% กว่าๆ 

ดังนั้นผมมองว่าการเป็นนักลงทุนรายย่อยในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน มีข้อดีนะครับ แล้วยิ่งเงินเราน้อยเราคล่องตัวจะเข้าตัวไหนออกตัวไหน มัน Switch ตัวได้รวดเร็ว ยังไงผมก็มองว่าช่วงที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยก็ค่อนข้างที่จะได้ประโยชน์เยอะครับ

ตลาดหุ้นไทยในระยะยาวสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนรายย่อย?

ลงทุนศาสตร์ : ต้องตอบแยกเป็นอย่างนี้นะครับ ถ้าลงทุนในดัชนีหรือกองทุนรวมที่เน้นหุ้นขนาดใหญ่  Set 50 / Set 100 อันนี้ผมไม่กล้าฟันธงว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีไหมในระยะยาว เพราะว่าผมก็ยัง Question เยอะอยู่กับภาพการเติบโตในระยะยาวของประเทศไทย เพราะว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการในเวลาสักประมาณ 2 ปี แน่นอนว่าการตั้งคำถามของผมก็ไม่ได้แปลว่ามันถูกหรือมันผิด แต่ถ้าเป็นส่วนของการเลือกหุ้นรายตัว โดยส่วนตัวผมก็ยังเชื่อถือว่าถ้านักลงทุนมีความขยันที่มากเพียงพอ หรือว่ามีความพยายามมากเพียงพอมันก็ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับที่เปลี่ยนชีวิตได้ประสบความสำเร็จได้อยู่แล้ว

แน่นอนว่าคำว่าเปลี่ยนชีวิต ประสบความสำเร็จของแต่ละคนมันมีนิยามที่ไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าคุณจะต้องได้ปีละ 100% ปีละ 200% แบบเปลี่ยนชีวิตเห็นหน้าเห็นหลัง แค่ได้ผลตอบแทนปีละ 10% ต่อเนื่องซัก 10-20 ปี คุณก็ถือว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนแล้วโดยค่าเฉลี่ย 

ยกตัวอย่างผมเอง ปีนี้ผมเข้าตลาดมาปีนี้เป็นปีที่ 6 นะครับ ไม่ว่าตลาดจะดีหรือจะแย่แค่ไหน ผมก็ยังมีหุ้นที่ได้ผลตอบแทนเกิน 100% ทุกปี บอกเลยว่าอันนี้เราไม่ได้อวดนะ เพราะผลตอบแทนแย่ๆ มันก็มีแล้วก็มาถัวกันบ้างแหละ แต่โดยภาพรวมแล้วเนี่ยคือมันก็ยังดี ผมเข้าตลาดมาตอน 1,600 คนก็พูดกันว่ามันจะหมดยุคทองของตลาดหุ้นไทยแล้ว ไม่ขึ้นจาก 200 จุดไปเป็น 1,600 แล้วนะ มันจะไปที่ไหนต่อได้ 

แต่ผมอยู่ในตลาดมา 6 ปี ตอนเข้าตลาดจำได้เลยตอนนั้นตลาด 1,588 จุด นั่นเป็นวันแรกที่เข้านะครับจนถึงวันนี้มันเหลือ 1,300  แต่ความมั่งคั่งโดยรวมของผมมันขึ้นไปหลายสิบเท่าแล้ว หรือว่าผมยังได้หุ้นเด้งมาสักประมาณ 20 ตัวได้แล้ว ก็เป็นการพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้ว ตลาดหุ้นยังมีที่ให้ความสำเร็จของเราอยู่เสมอ แต่เราต้องกลับมาถามตัวเองใหม่ว่า เราจะมีความพยายามมากพอที่จะไปถึงมันหรือเปล่า ?

คำพูดที่ว่ากันว่ามันมีแค่นักลงทุน 20% เท่านั้นที่จะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้ 

และจะมีนักลงทุนแค่ 5% เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ

ผมเชื่อนะครับถึงแม้ว่ามันจะเป็นคำพูดที่ดูไม่วิทยาศาสตร์และไม่มีอะไรรับรองงานวิจัยจริงจัง แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้ระดับนึง เพราะว่าโดยประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมก็เห็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ประมาณนี้ครับสัก 5% ได้ ดังนั้นต้องถามตัวเองว่าเราพยายามมากพอที่จะไปอยู่ใน 5% นั้นหรือเปล่า 

หรือถ้าเราจะไม่ได้อยากเปลี่ยนชีวิตขนาดนั้น ต้องการแค่ลงทุนเพื่อการเกษียณ มีชีวิตรอดได้ เรามีความพยายามมากพอที่จะเป็น 20% ที่อยู่รอดในตลาดหุ้นหรือเปล่า ถ้าพยายามมากพอผมว่ายังไงก็ยังมีช่องทางให้เราอยู่เสมอครับ

3 ทักษะสำคัญของนักลงทุนรายย่อยที่จะอยู่รอดได้ทุกๆ สถานการณ์

ลงทุนศาสตร์ : ผมขอไล่ลำดับตามความสำคัญและความจำเป็นนะครับ 

1. “ความรู้” เป็นข้อแรกที่ผมรู้สึกว่าสำคัญที่สุด

นักลงทุนจำนวนมากโฟกัสไปที่เรื่องของเวลาเรื่องของเงินทุน ผมมองว่าจริงๆ ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เวลาน้อยมากต่อวัน มีเวลาแค่วันละ 30 นาที แต่ถ้ามีความรู้มากพอมันก็สามารถ Wrap up ทุกอย่างได้ หรือว่า ทุน อันนี้คือยิ่งไม่สำคัญใหญ่เลย บางคนบอกต้องมีเงินเป็นหลักล้านเท่านั้น ผมบอกว่าที่จริงๆ แล้วการลงทุนมันเป็นเรื่องของเปอร์เซ็นต์คือ มีเงินหมื่นล้าน การลงทุนได้เปอร์เซ็นต์เดียว ก็ยังแพ้คนที่มีเงิน 1 ล้านแต่ลงทุนได้ 100% ผมว่าเราควรจะวัดกันที่เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก  

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความรู้  ผมย้ำอยู่บ่อยๆ ว่าความรู้ในตลาดหุ้นมันไม่ใช่ความรู้ที่เป็นความรู้ที่หยุดนิ่ง มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงทุกวัน มันไม่ได้หมายความว่าความรู้ที่เรามีอยู่วันนี้มันจะใช้ได้ตลอดไป มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงแรกอาจต้องใช้เวลามากสักหน่อยในการจะต้องปูพื้นฐาน เราอาจจะต้องมีพื้นฐานที่ค่อนข้างจะนิ่งสัก 70% อีก 30% อาจจะเป็นพลวัตที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปีหน้ามีแนวทางมีมุมมองอะไรใหม่ๆ ก็ปรับ

2. การมีวินัย

นักลงทุนทุกคนที่ประสบความสำเร็จที่ผมเห็นในชีวิตนี้ ทุกคนเป็นคนที่มีวินัยในการลงทุนสูงมาก เป็นคนที่ตอบตัวเองได้ชัดเจนว่าซื้อหุ้นเพราะอะไร ขายหุ้นเพราะอะไร แล้วก็ถือหุ้นเพราะอะไร ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ผมรู้จักคนที่มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน หมื่นล้านก็รู้จักหลายคน ทุกคนมีมุมมองที่ค่อนข้างจะแข็งแรง แล้วก็ตอบโจทย์ตัวเองได้มากว่าเขาทำอะไรอยู่ แล้วก็จะทำอะไรต่อไป 

ดังนั้นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยกตัวอย่าง ช่วงที่ตลาดลงมาเยอะๆ หลายคนถามผม ผมก็บอกว่าหุ้นมันถูกนะ ถ้าคุณประเมินมูลค่าหุ้นแล้วคุณคิดว่ามันถูก คุณก็ซื้อได้ แต่ก็จะมีหลายคนที่มองว่ามันเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ จริงๆ แล้วมันก็วิกฤตนั่นแหละ ก็ไม่ได้เถียง แต่ถ้ามองว่าอีก 3 ปี  5 ปี ประเทศไทยยังอยู่ ประเทศไทยยังไม่ล่มสลาย การซื้อหุ้นในวันนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าคุณคิดว่า COVID-19 ครั้งนี้จะเอาแบบโลกสลายไปเลย มันก็โอเคคุณไม่ซื้อ ก็คงไม่แปลก เพราะว่าถ้ามันแย่ขนาดนั้น หุ้นทุกคนก็คงล้มหมด ดังนั้นวินัยเป็นเรื่องสำคัญ 

3. สุดท้ายคือ Passion

อีกข้อหนึ่งที่ผมค้นพบจากการได้พูดคุยกับนักลงทุนเก่งๆ จำนวนมาก ก็คือว่าความรักต่อการลงทุน ชอบที่จะอยู่กับมันจริงๆ เป็นปัจจัยสำคัญมาก ตลาดหุ้นมีนักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาแล้วก็ออกไป ไม่ว่าเขาจะกำไรหรือว่าเขาจะขาดทุน บางคนกำไรแล้วก็สนุกแล้วก็ออกไป หรือว่าบางคนขาดทุน เข็ดแล้วก็ออกไป แต่คนที่อยู่รอดในระยะยาว มันคือคนที่มี passion ที่จะอยู่ หมายความว่ากำไรฉันก็จะอยู่ต่อ ขาดทุนฉันก็จะอยู่ต่อ ซึ่งความอึด ความเหนียว ความพยายามที่จะอยู่อย่างต่อเนื่อง ต้องประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกหลายๆ อย่าง อย่างน้อยก็ต้องมีความหลงไหลใฝ่ฝันในการจะเป็นนักลงทุนระดับหนึ่ง ดังนั้นผมจะพูดเสมอว่า มีความรู้แล้วมีวินัยแล้ว อย่าลืมเติม passion กับมันด้วย อย่าลืมความสุข อย่าลืมสนุกที่จะเป็นนักลงทุน เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เรายืนอยู่ได้ในระยะยาวครับ

มุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นหลังจากผ่านวิกฤต COVID-19

ลงทุนศาสตร์ : ผมมีมุมมองกับแนวทางการลงทุนเหมือนเดิม มุมมองต่อตลาดค่อนข้างจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ตลาดลงมา 500 จุด ผมก็ยังใช้ทักษะแบบเดิมในการลงทุน แล้วก็ยังทำกำไรจากมันได้อยู่ มันค่อนข้างจะพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อที่ผมมี ไม่ใช่ความเชื่อที่ผิด ก็ยังสามารถหาเงินได้อยู่ตามปกติ

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมยังลงทุนตามวิธีเดิมที่ใช้ตอนตลาดหุ้น  1,700 , 1,500 / 1,700 , 1,500 ลงทุนยังไง  1,200  1,300  ก็ยังลงทุนแบบนั้น ผมเชื่อมั่นว่าชุดความคิดที่ผมมี มันค่อนข้างจะอยู่ตัว แล้วก็ทำกำไรได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมได้จากวิกฤตครั้งนี้  คือ ความหวังในการลงทุน เพราะว่ามันพิสูจน์ได้ชัดว่าตลาดยังมีความตื่นเต้น ตกใจกับปัญหาอะไรมากมายค่อนข้างจะเกินจริงเสมอ และอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไปบางจุดเสมอ ซึ่งนักลงทุนต้องการสิ่งนี้ 

เพราะถ้าคนทั้งตลาดคิดเหมือนกัน เก่งเหมือนกันหมด เราจะหาส่วนต่างจากการลงทุนไม่ได้ แต่การที่ตลาดตกใจมากในบางวัน แล้วก็ตื่นเต้นมากในบางวัน เป็นโอกาสของนักลงทุนที่มีสติแล้วก็ใจเย็นพอ สามารถหาผลกำไรจากนั้นได้ ผมรอวิกฤตมาเป็นเวลานานมาก แล้วก็ได้เจอมันจริงๆ แล้วก็เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า หมายถึงว่า ผมได้ซื้อหุ้นที่อยากซื้อหลายๆ ตัว ในมูลค่าที่ค่อนข้างจะสมเหตุสมผลมาก แล้วก็ยินดีที่จะถือมันในระยะยาวสักหน่อย เพราะว่าจริงๆ ธุรกิจนี้ ถ้าผ่าน COVID-19 ไปได้ก็ยังดูดีอยู่ 

ถ้าไม่มีวิกฤตแบบนี้ ไม่มีปัญหาแบบนี้ เราก็อาจจะไม่ได้สร้างชีวิตหรือเปลี่ยนชีวิตอย่างที่นักลงทุนจำนวนมากในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ มีพอร์ตหลักพันหลักหมื่นล้าน ก็สร้างตัวเองมาจากต้มยำกุ้งหรือสร้างตัวเองมาจาก Subprime ทั้งนั้น 

ดังนั้น วิกฤตในด้านหนึ่งมันเป็นการเขย่าตลาดเอาคนบางกลุ่มออกจากตลาดไปก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นการสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการที่ตลาดยังมีวิกฤตอยู่ ผมก็เชื่อว่ามันก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า ถ้ามันมีวิกฤตก็แปลว่ามันยังมีโอกาสที่จะทำให้เราสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

และนี่คือบทสัมภาษณ์จาก ภก. กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจลงทุนศาสตร์ ในประเด็นหัวข้อ ทักษะการเอาตัวรอดของนักลงทุนรายย่อย หลัง COVID-19 เพื่อการเติบโตในอนาคต  aomMONEY คิดว่าวันนี้นักลงทุนรายย่อยทุกคนน่าจะได้มุมมองและทักษะที่สำคัญในการลงทุนหลังช่วง COVID-19

aomMONEY ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าวิกฤต  COVID-19  ไปได้ด้วยกันครับ

บ.ก.aomMONEY

https://youtube.com/watch?v=i_EDX5FuxHI%3Fwmode%3Dopaque

ทักษะการเอาตัวรอดของนักลงทุนรายย่อย หลัง COVID-19 เพื่อการเติบโตในอนาคต 

 ภก. กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจลงทุนศาสตร์

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/