ช่วงที่ผ่านมาอภินิหารเงินออมได้คุยกับหลายๆ คน เขาบอกว่าตอนเกษียณมีเงินล้านกว่าๆก็พอแล้ว เพราะจะไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ใช้เงินอะไรมาก แต่อย่าลืมว่ามันมีเรื่องของ "เงินเฟ้อ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เราต้องซื้อของแพงขึ้นทุกปี ลองนึกถึงเงินเดือนของตัวเองว่าอยากได้คงที่แบบนี้ตลอดไปมั้ย เชื่อว่าส่วนใหญ่บอกว่าต้องการได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี นี่เองจึงทำให้ราคาของกินของใช้แพงขึ้นในระยะยาว

"เงินเฟ้อ" ทำให้ราคาของกินของใช้แพงขึ้น

ตัวอย่างนี้น่าจะทำให้เห็นภาพง่ายขึ้น สมมติว่าเราทำงานที่บริษัทผลิตอาหาร ปีนี้เราได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 5% แปลว่า เจ้าของบริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5% ถ้าต้องการรักษากำไรให้เหมือนเดิมก็ทำได้หลายวิธี เช่น

  • เพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เราทำงานหนักกว่าเดิม
  • ลดต้นทุนอื่นๆลง เช่น ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ เลิกจ้างพนักงานเก่าที่เงินเดือนสูง เปลี่ยนไปจ้างเด็กใหม่ที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า 
  • ผลักภาระไปให้คนซื้อ โดยการเพิ่มราคาสินค้า 5% เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วิธีนี้ทำให้ผู้บริโภคซื้อของแพงขึ้น

มาถึงตรงนี้หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าในอนาคต “เงินเฟ้อ” ทำให้เราต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น แต่ซื้อของได้จำนวนเท่าเดิม แล้วเงินเกษียณที่คิดไว้จะเพียงพอตามที่คิดไว้มั้ยก็ต้องมาคำนวณด้วยเครื่องคิดเลขการเงิน เรามาดูตัวอย่างนี้เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นนะจ๊ะ

ตัวอย่าง : สมมติว่าตอนนี้เราอายุ 30 ปีใช้จ่ายสบายๆเดือนละ 20,000 บาท(หรือปีละ 240,000 บาท) แล้วคิดว่าหลังเกษียณต้องการใช้จ่ายเท่าเดิม เรามาดูกันว่าตุนเงินไว้ 5,000,000 บาทจะพอใช้หลังเกษียณได้กี่ปี

เริ่มจาก…คำนวณเงินในอนาคตว่าเป็นเท่าไหร่?

การคำนวณนี้ทำได้ด้วยเครื่องคิดเลขทางการเงิน (ถ้าใครไม่รู้ว่าคำนวณอย่างไรสามารถค้นหาวิธีใช้เครื่องคิดเลขการเงินได้ในยูทูปนะจ๊ะ) สรุปง่ายๆว่า...

  • หลังเกษียณเงินที่เราใช้ปีละ 240,000 บาท 
  • ตอนนี้อายุ 30 ปี เงินก้อนนี้จะกลายเป็น 582,542 บาท ในอีก 30 ปีข้างหน้าตอนที่เราอายุ 60 คิดที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 3% 

ต่อมา...คำนวณว่าเงินที่ตุนไว้อยู่ได้อีกกี่ปี?

ถ้าเราคำนวณแบบง่ายๆว่าเงิน 5,000,000 บาท กับรายจ่ายปีละ 582,542 บาท เงินจะหมดตอนอายุ 68 ปีกว่าๆเท่านั้น ถ้าเราเป็นคนดูแลสุขภาพดี รวมถึงญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตอายุ 80 กว่าๆ แปลว่าเราอาจจะมีอายุยืนถึง 80 ด้วยเช่นกัน นี่เองที่เรียกว่า “เงินหมดก่อนเสียชีวิต”

อย่าลืม!! ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ

สมมติว่าเราต้องกลายเป็นผู้สูงอายุนอนติดเตียง ขยับตัวไม่ไหว ต้องหาคนมาดูแลหาข้าวหาปลาให้กินทั้งเช้า กลางวัน เย็น จะไปไหนก็ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แบบนี้ตอนกลางวันอาจจะต้องจ้างคนมาดูแลเรา ส่วนลูกหลานกลับมาจากที่ทำงานแล้วก็ดูแลตอนกลางคืน

ค่าใช้จ่ายจ้างผู้ดูแลนี้อยู่ที่ประมาณ 27,000 - 40,000 บาทต่อเดือนและขึ้นอยู่กับอาการของผู้สูงอายุด้วย ถ้ารวมกับเรื่องนี้เข้าไปก็ยิ่งทำให้เงิน 5,000,000 บาทหมดเร็วกว่าเดิม แล้วถ้าพ่อแม่ของเราไม่ได้ตุนเงินก้อนนี้ไว้ เราที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ต้องเตรียมเงินไว้ให้ท่านด้วยนะจ๊ะ

มีเงินบำนาญก็อย่าชะล่าใจ!!

สำหรับใครที่ทำงานเป็นข้าราชการรู้แน่นอนว่าจะได้เงินใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ อย่าเพิ่งมั่นใจกับสิ่งที่เห็น เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ เราอาจจะเคยเห็นข่าวประเทศที่มีเงินเฟ้อพุ่งกระฉูดเป็นล้าน%ก็เลือกใช้วิธีลดรายจ่ายของรัฐ โดยลดเงินบำนาญข้าราชการมาแล้ว เช่น เวเนซุเอลา หรือประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีมากๆก็กำลังหาทางออกให้กับเงินผู้สูงอายุเช่นกัน สุดท้ายเราก็ต้องดูแลตัวเอง

วางแผนการเงินแล้วอย่าลืมเรื่องเงินเฟ้อ การใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าอยู่เมืองกรุงก็จริง แต่ก็หนีเงินเฟ้อไม่พ้นเหมือนกันจ้า ล่าสุดอภินิหารเงินออมไปกินกาแฟ 1 แก้วกับไข่ลวก 2 ฟองในตลาดสดแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ คนขายเป็นผู้สูงอายุท่านขายมาหลายสิบปี ท่านเล่าว่าประมาณ 25 ปีที่แล้วขายชุดละ 10 บาท ตอนนี้ขายชุดละ 30 บาท เท่ากับว่าราคาแพงขึ้น 4.49% ต่อปี แล้วในอนาคตอีก 25 ปีข้างหน้าเราก็จะได้ทานกันชุดละ 90 บาท!!

วางแผนเรื่องการใช้เงินตั้งแต่ตอนนี้ 

แล้วจะไม่เหนื่อยใจตอนเกษียณนะจ๊ะ

อภินิหารเงินออม

ประชาสัมพันธ์