ก่อนหน้านี้อภินิหารเงินออมได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกว่าเคยคำนวณแล้วว่าตัวเองจะต้องมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป เป็นประเด็นที่น่าสนใจก็ลองหาวิธีอื่นๆจนสรุปได้ออกมาเป็นบทความนี้นะจ๊ะ

เริ่มต้นที่คำนวณเงินเกษียณ

ตามหลักการจะมีการคำนวณค่อนข้างซับซ้อน อภินิหารเงินออมขอดึงมาเฉพาะบางส่วนที่น่าสนใจแล้วทุกคนสามารถคำนวณเองได้ สมมติเรามีโจทย์ว่าตอนนี้อายุ 30 เกษียณอายุ 60 หลังเกษียณต้องการใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ควรเตรียมเงินไว้เท่าไหร่

ความรู้ที่ต้องใช้ คือ เงินเฟ้อและการใช้เครื่องคิดเลขการเงิน (มีหลายคนทำคลิปไว้บนยูทูป ลองเปิดค้นหาเองได้จ้า) ในภาพข้างล่างนี้เขียนไว้ 2 ช่อง คือ ไม่รวมเงินเฟ้อกับรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 3%

เรื่องเงินเฟ้อ : แม้ว่าอนาคตเราจะเห็นจำนวนเงินเท่ากัน แต่มูลค่าไม่เท่ากัน เพราะเงินเฟ้อทำให้ค่าของเงินลดลงเรื่อยๆ แปลว่า เราใช้เงินมากขึ้น แต่ซื้อของได้เท่าเดิม

ถ้าอยากรู้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ในวันที่เราเกษียณค่าของเงินจะกลายเป็นเท่าไหร่ คำนวณโดยใช้เครื่องคิดเลขการเงินแล้วจะเห็นว่า

  • ตอนนี้ค่าของเงิน 360,000 บาท 
  • ถ้ามีเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% (มูลค่าเงินของเราลดลง)
  • เวลาอีก 30 ปีข้างหน้า 
  • อนาคตค่าของเงินจะกลายเป็น 873,814 บาท 

แปลว่า เราต้องเตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณปีแรก 873,814 บาท  ไม่ใช่จำนวนเงิน 360,000 บาท หากมีเงินเฟ้อเฉลี่ยแบบนี้ทุกปีไปจนถึงอายุที่คาดว่าจะเสียชีวิต คือ 80 ปี เราจะต้องเตรียมเงินรวม 25,057,929 บาท (แต่ถ้าไม่รวมเงินเฟ้อจะใช้เงิน 7,560,000 บาท) เป็นแบบภาพรวมที่ควรมีเก็บไว้

แยกเป็นรายปี “เก็บเงินวันนี้ ใช้เงินวันไหน”

มันก็เป็นคำถามต่อไปว่า 25 ล้านหรือ 7 ล้านแล้วยังไงต่อ ถ้าต้องการแบบละเอียด ตอนนี้เราควรนำเงินที่เก็บสะสมไว้ที่ต่างๆมาเรียงว่าแต่ละก้อนจะใช้ตอนอายุเท่าไหร่ มันเหมือนเงินเดือน ที่ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไร แบ่งใช้วันละเท่าไหร่เพื่อให้พอใช้ทั้งเดือน แต่การเก็บเงินเกษียณนี้เราจะต้องเฉลี่ยเงินให้มีใช้ไปจนวาระสุดท้ายที่อาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่าที่คิดไว้

ความรู้ที่ต้องใช้ คือ ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ยิ่งเข้าใจความแตกต่างของการเก็บเงินแต่ละแบบ ก็จะมีทางเลือกให้ตัวเองมากขึ้น

ภาพข้างล่างนี้อภินิหารเงินออมลองทำให้ดูเป็นแนวทางว่าหลังเกษียณจะมีเงินอะไรเข้ามาบ้าง ซึ่งความแตกต่างของผลิตภัณฑ์การเงินจะทำให้เราได้รับเงินไม่เหมือนกัน (ดูที่ช่องสีเขียว) เช่น

  • ประกันสะสมทรัพย์(ประกันบำนาญ) เรารู้ว่าจะได้รับเงินเท่าไหร่แบบเป๊ะๆ ตั้งแต่วันแรกที่ทำประกันชีวิต แล้วยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ผลตอบแทนอยู่ที่ IRR ประมาณ 1 - 2.5% ตัวอย่างวิธีการเปรียบเทียบประกันชีวิตแบบออนไลน์ http://bit.ly/2kSlaVl
  • กองทุนรวมหุ้นปันผล ในภาพนี้เป็นตัวอย่างการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมหนึ่ง จำนวนหน่วยลงทุนเท่ากัน แต่ละปีเราได้รับเงินไม่เท่ากัน ในขณะที่บางปีก็ไม่ได้รับเงินปันผล ในอนาคตก็ต้องลุ้นว่าจะจ่ายเท่าไหร่ ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินในปีที่ไม่จ่ายปันผล เราอาจจะต้องขายกองทุนรวมเอาเงินออกมาใช้จ่าย
  • ตราสารหนี้ 4% เราอาจจะต้องหาหุ้นกู้เกรด A ที่จ่ายดอกเบี้ยปีละ 4% ความเสี่ยงอยู่ที่หุ้นกู้ที่มีขายในตลาดตอนนั้นจะมี 4% หรือไม่ ถ้ามีแล้วอายุหุ้นกู้กี่ปี เช่น ถ้าอายุ 5 ปีแปลว่าเราก็ต้องหาหุ้นกู้รุ่นใหม่ทุกๆ 5 ปีที่ผลตอบแทนอาจจะแตกต่างกับที่วางแผนไว้ก็ได้

สมมติว่ารายได้จาก 3 ช่องทางนี้ นำมารวมกันเป็นช่องสีชมพู เปรียบเทียบกับเงินที่จะต้องใช้หลังเกษียณ(ช่องสีม่วง) เราจะเห็นว่าแบบไม่รวมเงินเฟ้อ บางปีก็พอใช้ บางปีก็ไม่พอใช้ แต่ถ้ารวมเงินเฟ้อเข้าไปก็จะรู้ว่ายังขาดเงินอีกเยอะมาก หลายคนเห็นแบบนี้แล้วท้อใจ รู้มั้ยว่าเราโชคดีที่รู้ตอนนี้ที่ยังมีเวลาแก้ไขได้ ยังดีกว่ารู้ตอนที่เกษียณไปแล้ว กลับตัวแก้ไขอะไรไม่ได้นะจ๊ะ

เรียงลำดับเงินที่จะใช้หลังเกษียณ

เราคาดว่าจะเสียชีวิตตอนอายุ 80 ก็จริง การวางแผนก็ต้องเผื่อช่วงที่อายุยืนกว่าที่คิดด้วย เรานำสวัสดิการทั้งหมดที่มีมาเรียงไว้ว่าหลังเกษียณจะใช้เงินก้อนไหนในช่วงอายุเท่าไหร่ ภาพนี้เป็นเพียงตัวอย่างควรนำไปปรับให้เหมาะกับวิธีการเก็บเงินของตัวเองนะจ๊ะ เช่น เงินที่ได้รับแน่นอนนำมาเรียงไว้ก่อน (เงินบำนาญ ชราภาพจากประกันสังคม เงินคืนประกันชีวิต) ส่วนของการลงทุนเก็บไว้ใช้ช่วงท้ายเพื่อให้เงินเติบโต ถ้าค่ารักษาแพงเกินกว่าที่คิดก็ถอนเงินจากประกันชีวิตควบการลงทุนออกมาใช้

สรุปว่า…

เริ่มต้นที่ตัวเราว่าต้องการใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่ คำนวณว่าหลังเกษียณเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ นำวิธีเก็บเงินของเราตอนนี้มาเรียงกันว่าจะใช้จ่ายตอนอายุเท่าไหร่ ถ้าอายุเกินกว่าที่คิดไว้จะใช้เงินก้อนไหน แม้ว่าทุกอย่างอาจจะดูยาวไกล แต่การเริ่มต้นตอนนี้มันเร็วที่สุดแล้วจ้า เพราะยังมีเรี่ยวแรงทำงาน มีเวลาค่อยๆปรับได้จ้า

อภินิหารเงินออม

ประชาสัมพันธ์