[WEEKLY OUTLOOK กับอัศวินกองทุน] สรุปภาพรวมการลงทุน ช่วงวันที่ 19-23 ธันวาคม 2559

สวัสดีครับ พบกับคอลัมน์ Weekly Outlook ครั้งที่ 27 และ “อัศวินกองทุน” คนเดิมก็ยังอยู่กับทุกคนเหมือนเช่นเคยครับ สำหรับคราวนี้เราจะมาดูภาพรวมการลงทุนในช่วงวันที่ 19-23 ธันวาคม 2559 กันต่อเลยครับ

ก่อนที่จะดูภาพรวมประจำสัปดาห์ ผม Update ให้ฟังก่อนนะครับว่า หลังจากการที่ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะถัดไป ดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก ประกอบกับระยะเวลาที่ใช้ในการอนุมัตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วยครับ เอาล่ะ จับตาดูกันต่อไปดีกว่าครับ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

สรุปภาพรวมประจำสัปดาห์
“ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากเงินดอลลาร์แข็งค่า”

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (=)

หลังจากที่ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาที่ระดับ 0.50-0.75% การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 4 ปลายปีนี้ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะต่อไปอย่างที่ผมได้เล่ามาข้างต้นนี้่ ซึ่งแนวโน้มแบบนี้ผมอยากแนะนำให้คงการลงทุนไว้ก่อนครับ

ตลาดหุ้นยุโรป (+)

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศในช่วงที่ผ่านมาดีกว่าคาดการณ์ และเงินยูโรมีโอกาสอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลยังส่งผลบวกต่อกำไรของกลุ่มธนาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นยุโรปครับ ดังนั้นผมว่า สำหรับสัปดาห์นี้เรามาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกันในตลาดยุโรปนี้กว่าครับ

ตลาดหุ้นจีน (A-SHARE + / H-SHARE +)

ธนาคารกลางจีนยังมีเครื่องมือทางนโยบายเพียงพอที่จะเพิ่มสภาพคล่องหากจำเป็น ขณะที่การปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเป็นผลดีต่อรายได้หุ้นกลุ่มธนาคาร นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ยังชี้ถึงการเร่งตัวของการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อไป ดังนั้นจัดไปอย่าให้เสียครับ แนวโน้มดูแล้วดีมีลุ้นครับผม

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (=)

ผมมองว่าค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯได้สะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว จึงอาจมีแรงขายเพื่อทำกำไรในตลาดหุ้นในช่วงนี้ เนื่องจากปรับขึ้นมากกว่า 17% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อืมมมม ถ้าเป็นแบบนี้ผมว่าดูท่าทีและคงการลงทุนในญี่ปุ่นไปก่อนดีกว่าครับ

ตลาดหุ้นเกาหลี (+)

ทางฝั่งเกาหลีกันบ้าง ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดทุนเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ แนวโน้มการส่งออกของเกาหลีใต้ที่น่าจะสูงขึ้น จากดัชนีภาคการผลิตของประเทศจีนที่สูงกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นเกาหลียังคงมีความน่าสนใจอยู่ครับ แบบนี้ผมอยากแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในเกาหลีต่อไปเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ

ตลาดหุ้นไทย (+)

ราคาน้ำมันโลกภายหลังกลุ่มผู้ผลิตนอก OPEC ประกาศปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม เป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้มาตรการลดหย่อนภาษีช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของปีซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มค้าปลีก และเงินลงทุนใน LTF ช่วงโค้งสุดท้ายจะช่วยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย แหม่… ดีขนาดนี้คงไม่ต้องบอกแล้วใช่ไหมครับว่าต้องทำยังไง จัดสิครับ รออะไรอยู่

ตลาดหุ้นอินเดีย (+)

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมมองว่าเศรษฐกิจของอินเดียยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งดัชนีที่ปรับตัวลงมามากในระดับหนึ่ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นอินเดียมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นในแง่ของราคาต่อมูลค่าพื้นฐาน ถ้ามองกันแล้วผมว่ายังไงเรายังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่อไปได้อยู่ครับ

เงินสดและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (-)

“ลดการถือครองเงินสด และหาการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น” สั้นๆเหมือนเดิม เพิ่มเติมคงต้องหาเงินสดเพิ่มมาลงทุนมากกว่าคร้าบ

น้ำมัน (+)

คาดว่าความร่วมมือกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ที่เกิดขึ้นจะช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเร่งตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผมยังคงแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในน้ำมันอยู่นะครับ

ทองคำ (+)

จากการที่ Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ราคาทองคำได้สะท้อนข่าวร้ายไว้ค่อนข้างสูงแล้ว คาดว่าระยะถัดไปเงินดอลลาร์จะไม่แข็งค่ามาก แบบนี้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่งครับ

ตราสารหนี้ไทย (=)

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุ 1-3 ปีปรับตัวลงตามทิศทางตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เรายังคงเลือกใช้ตราสารหนี้ในการกระจายความเสี่ยงเหมือนเช่นเคยครับ ดังนั้นคงสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ไว้บ้างนะครับ

สรุปสำหรับแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ โดยรวมๆแล้วการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED นั้นมีผลกระทบต่อหลายฝั่งหลายฝ่าย แต่ผมว่ายังมีหลายๆตลาดในเอเชียที่สามารถไปต่อกันได้อยู่ครับ (อ้อ รวมตลาดยุโรปที่ฟืนตัวด้วยนะครับ)

คำแนะนำคงไม่ต่างจากเดิมเท่าไรครับว่า อยากให้ลองมองดูดีๆครับว่าตลาดไหนที่เหมาะกับเรา เรามีความสามารถในการติดตามและเข้าใจแนวโน้มการลงทุน รวมถึงอย่าลืมเรื่องการวางแผนการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างไรเพื่อให้ผลตอบแทนสูงที่สุดครับ