สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน กลับมาพบกันที่คลินิกกองทุนแห่งนี้อีกครั้งนะครับ ช่วงหลัง ๆ มานี้ ผมเริ่มได้รับคำถามที่ทำให้ผมประหลาดใจมาก ๆ คือ ผมเริ่มพบเจอคำถามใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ถามแค่ว่า ลงทุนกับกองทุนไหนดี (ประมาณว่าเห็นผมเป็นคนให้เลขเด็ดจึงมาขอหวยกัน)

แต่คำถามที่เข้ามานั้นเริ่มเป็นคำถามประมาณว่า ผมอายุ 28 แล้วต้องจัดพอร์ตอย่างไรดี ?, ลงทุนจากนี้ไปจนถึงเกษียณจะต้องใช้เงินลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่ ? จึงมีเงิน 20 ล้าน, มีเงิน 200,000 บาทจะลงทุนด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ดีจึงได้ผลตอบแทน 6% ครับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเงินลงทุนมากขึ้น (น้ำตาจิไหล)

แสดงว่าหลัง ๆ มานี้ นักลงทุนหลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ และ การจัดพอร์ตการลงทุนมากขึ้นนั่นเองครับ แน่นอนว่าเป็นผลดีในระยะยาวมากกว่า มาถามผมว่า “กองทุนไหนดี ?” ทั้งนี้ที่ผมไม่อยากให้นักลงทุนเลือกลงทุนในกองทุน ๆ ประเภทเดียวตลอดเวลา ก็เพราะว่าการลงทุนระยะยาว ๆ ถึงแม้ว่าจะช่วยลดความผันผวนของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างกองทุนหุ้น ได้ก็ตามที

แต่ระหว่างทางเองการเลือกลงทุนในกองทุนประเภทเดียวก็มึความผันผวนอยู่มากครับ ใครใจไม่ถึงพอก็จะท้อใจไปก่อนก็มีครับ แต่การจัดพอร์ตการลงทุนอย่างถูกต้องเพื่อลงทุนระยะยาว และมีการปรับพอร์ตอย่างมีวินัย จะทำให้เราสามารถถึงเป้าหมายได้แบบสบายใจมากกว่าครับ

ในเรื่องความเสี่ยงเองหากเราจัดพอร์ตได้ดี ความเสี่ยงที่มีก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ภาพนี้ครับ ซึ่งเป็นภาพที่ผมเองชอบเอามาประกอบการบรรยายบ่อย ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า การจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวจะทำให้ความเสี่ยงลดลงมาก ๆๆๆๆๆ กว่าการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด สินทรัพย์หนึ่งครับ

เช่น หากเราลงทุนในหุ้น 50% และ ตราสารหนี้ 50% ลงทุนไปเพียง 5 ปี โอกาสขาดทุนไม่มีแล้ว โอกาสที่จะผลตอบแทนที่น้อยที่สุดคือได้แค่ 1% (คนที่ได้นี่ถือว่าซวยสุด ๆ แล้วนะครับ) ซึ่งผมเชื่อว่าหากเราได้สินทรัพย์ที่ดีแน่นอนว่าจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้อย่างแน่นอนครับ ซึ่งเมื่อเราเข้าใจแล้วว่า การจัดพอร์ตลงทุนระยะยาวมันดีอย่างไร

คราวนี้เรามาดูเครื่องมือที่ผมคิดว่าเหมาะมากกับการลงทุนระยะยาว ช่วยลดภาษี แถมเงินให้อีกต่างหาก ซึ่งเครื่องมือนี้เราเรียกกันว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นั่นเองครับ (Provident Fund หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PVD)

ที่ผมต้องเลือก PVD มาเป็นตัวช่วยหลักของการเก็บเงินเกษียณนั้นก็เพราะว่า

  • หากเราเก็บเงินกับ PVD จะมีเงินสมทบจากนายจ้างสมทบมาให้อีก (บางที่ให้ 10% ถ้าเราทำงานทั้งปี เหมือนได้เงินโบนัสมาฟรี ๆ เพิ่มอีก 1 เดือนเลยนะครับ)
  • เป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอแบบรายเดือน (Dollar Cost Average) ที่จะช่วยให้ความผันผวนลดลงระหว่างทางได้อีก
  • การหักเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นการวางแผนการเงิน และการใช้จ่ายได้อย่างดี (เงินเดือนเรา หากได้รับเต็มย่อมใช้หมดแน่นอน)
  • เดี๋ยวนี้ PVD สามารถที่จะจัดพอร์ตได้ตามใจของสมาชิกกองทุนแล้ว

เมื่อ 'กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD)' เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มากขนาดนี้

ถ้าหากเรามีการจัดพอร์ตที่ดีกับ PVD ย่อมทำให้เรามีเงินเกษียณพอใช้ไม่ยากแล้วละครับ

และถ้าพูดถึงการจัดพอร์ตการลงทุนหลาย ๆ คนชอบที่จะเปรียบเทียบว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงไป เหมือนแยกไข่ไว้หลาย ๆ ตะกร้า ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ (แค่ย้ำความเข้าใจ ไม่ได้จะโต้แย้งอะไรนะครับ 55+) แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการจัดพอร์ตที่หลาย ๆ ท่านไม่ทราบ และไม่ค่อยให้ความสำคัญก็คือ ผลตอบแทน และความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุมันไม่เท่ากันน่ะสิครับ !!!

ผมเคยเจอบางคนวางแผนการลงทุนประมาณว่า ถ้าเราลงทุน 20,000 บาททุกเดือน ตั้งแต่เริ่มทำงาน ได้ผลตอบแทน 12% ไปจนถึงอายุ 60 ปี จะมีเงิน 20 ล้าน, 30 ล้าน ซึ่งเป็นการคิดเลขที่ตรงตัวเกินไปนิดหน่อย เพราะว่าวิธีนี้เป็นการคำนวนแบบคร่าว ๆ เท่านั้น ซึ่งพอเราต้องมีการวางแผนอย่างลงลึก และมีรายละเอียดมากขึ้น การคำนวนแบบนั้นอาจจะไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่

เพราะว่าในความเป็นจริง หากเราไม่มีการปรับลดความเสี่ยงลงตามช่วงอายุละก็ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หากเราเก็บเงินได้ตามเป้า 20 ล้านบาท (ลงทุนในกองทุนหุ้น 100% มาตลอดทาง) ปรากฏว่าปีที่เราเกษียณเกิดวิกฤตทางการเงินพอดี (โชคดีมาตลอด ซวยตอนจบ) เงินที่เราเก็บมาอาจจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง หรือว่า 10 ล้านเท่านั้นเอง (หัวใจวายตายก่อนได้ใช้เงินอี๊ก)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ระหว่างทางเราเองก็ควรที่จะมีการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงลง และการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงนี่แหละครับ ที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนน้อยลงได้ ยิ่งปีหลัง ๆ ที่อายุมากขึ้น ๆ

ซึ่งการที่จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับมากที่สุด แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือว่าไม่สูงเกินกว่าที่จะรับได้ในแต่ละช่วงอายุนี่แหละครับ คือความยากกกกก ที่สุดของการบริหารเงินลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของตัวเลข แต่จะเป็นเรื่องของ ศิลปะ ในการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยครับ

เห็นไหมครับว่า เรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความยุ่งยาก เลยเป็นที่มาของปัญหาในการเลือกลงทุนกับ PVD ครับ เพราะว่า หลายคนเลยมีคำถามว่า ไม่รู้ว่าจะเลือกนโยบายลงทุนอย่างไร ไม่มีนโยบายการลงทุนให้เลือก นโยบายที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน ฯลฯ

แต่ว่าถ้าเราโชคดี ได้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีระบบในการปรับพอร์ตตามอายุให้แบบอัตโนมัติ สมาชิกก็ไม่ต้องมานั่งเลือกแผนการลงทุนเอง ไม่ต้องมานั่งปรับพอร์ตการลงทุน ไม่ต้องมาคำนวณเองว่า อายุเท่านี้แล้ว ต้องมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเท่าไหร่ และความเสี่ยงจะสูงเกินไปหรือไม่

เราเรียกกองทุนและบริการแบบนี้ว่า 'Target Date Fund' หรือ 'กองทุนสมดุลตามอายุ'ครับ

ซึ่งในปัจจุบัน บลจ. ที่ให้บริการก็ยังมีไม่มากครับ ผมเลยจะขอยกตัวอย่าง กองทุน PVD ของ CIMB-Principal ที่เป็นผู้จัดทำ Target Date Fund แบบนี้ขึ้นมานะครับ