หากจะพูดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของโลกตอนนี้ ทุกสายตาคงจับจ้องมาที่เอเชีย

เอเชียถือว่าเป็นภูมิภาคที่ยังมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนหลายอย่าง เช่น รายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังไม่สูงมาก (ยังมีช่องว่างให้เติบโตกว่าจะไปเท่ากับประเทศฝั่งยุโรปหรืออเมริกา) อัตราการเกิดของประชากรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก รวมไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังมีศักยภาพการเติบโต เช่น ญี่ปุ่นที่มีบริษัทที่มีศักยภาพการแข่งขันระดับโลก รวมไปถึงจีนที่ยังมีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนหลายคนยังติดภาพว่า "บริษัทเอเชียมักจะล้าหลังและแข่งขันสู้บริษัทฝั่งตะวันตกไม่ได้เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทเอเชียบางบริษัทถือว่ามีศักยภาพสูงมากและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกได้อย่างทัดเทียม"

โดยเฉพาะบริษัทจากฝั่งเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ถือว่าน่าสนใจในเชิงปัจจัยพื้นฐานมากทีเดียว

Kweichow Moutai คือบริษัทเหล้าที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูงที่สุดในโลก

Kweichow Moutai CO., LTD เป็นบริษัทเหล้าสัญชาติจีนจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในสัญลักษณ์ 600519 บริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์เหล้า Moutai หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อเหล้าเหมาไถ เหล้าพรีเมี่ยมของจีนขวดขาวแดงที่หมักจากข้าวฟ่าง และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 2,000 ปี

ถ้าเทียบกับ Diageo plc บริษัทเหล้าอันดับ 2 ของโลก สัญชาติอังกฤษเจ้าของแบรนด์ Johnnie Walker (จดทะเบียนอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนในชื่อหุ้น DGE) บริษัท Moutai จากจีนก็สามารถแข่งขันได้อย่างสมศักดิ์ศรี ขนาดมูลค่ากิจการตามราคาตลาดของ Diageo อยู่ที่ 69.40 พันล้านปอนด์ ในขณะที่ Moutai มีมูลค่าอยู่ที่ 864.64 พันล้านหยวน ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเงินปัจจุบันแล้ว เหมาไถจากจีนก็ใหญ่กว่าอยู่เกือบเท่าตัว (ทั้ง 2 บริษัทซื้อขายอยู่ที่ PE ใกล้เคียงกันประมาณ 27 เท่า)

Moutai ถือเป็นแบรนด์เหล้าพรีเมี่ยมของจีนที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงมาก”

ในขณะที่เหล้า Johnnie Walker (LON: DGE) มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 60% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 25% เบียร์ช้าง (SGX: Y92) มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 30% อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 18% แต่เหล้า Moutai (SHA: 600519) ทำอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิได้สูงถึง 90% และ 45% ตามลำดับ

เหล้าเหมาไถเป็นเหล้าราคาแพงที่จะเอาไว้เปิดเลี้ยงฉลองแขกคนสำคัญเพื่อแสดงถึงความเป็นจีน เหมาไถจึงมีความสามารถในการสร้างกำไรสูงไปตามความพรีเมี่ยมของแบรนด์ ถึงแม้ว่ายอดขายรวมทั่วโลกของเหมาไถจะต่ำกว่า Diageo เจ้าของแบรนด์ Johnnie Walker แต่ก็ด้วยอัตรากำไรสุทธิที่สูงจึงทำให้กำไรสุทธิของเหมาไถสูงกว่า และได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเหล้าที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดอันดับ 1 ของโลก

Tencent คือบริษัทเกมที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูงที่สุดในโลก

Tencent Holdings LTD เป็นบริษัทเกมสัญชาติจีนที่ครองส่วนแบ่งตลาดเกมสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทเกมที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูงที่สุดในโลก และเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดติด 1 ใน 10 ของโลกด้วย (บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในจีนและใหญ่กว่า Alibaba หรือ BABA ของแจ๊ก หม่าด้วย)

Tencent คือ บริษัทเทคโนโลยีสารพัดนึกในประเทศจีน”

ธุรกิจของ Tencent (HKG: 0700) หลากหลายและครอบคลุมแทบทุกธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศจีน บริษัทเป็นเจ้าของโปรแกรมแชตอันดับ 1 ของจีนอย่าง WeChat (Weixin) และโปรแกรมแชตชื่อดังอย่าง QQ บริการชำระเงินออนไลน์อันดับ 1 ของจีนอย่าง WeChatPay และบริษัทที่ครองตลาดเกมเป็นอันดับ 1 ของจีนและโลกอีกด้วย

Tencent เป็นเจ้าของเกมชื่อดังระดับโลกอย่าง ROV

ถ้าเทียบจากรายได้จากธุรกิจเกม Tencent ถือเป็นบริษัทเกมอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2017 บริษัทมีรายได้จากเกมสูงถึง 18.1 พันล้านเหรียญ เติบโตจากรายได้ปีก่อนหน้าที่ 12.0 พันล้านเหรียญกว่า 50% yoy และทิ้งห่างบริษัทเกมอันดับ 2 อย่าง Sony ที่มีรายได้อยู่ที่ 10.5 พันล้านเหรียญในปี 2017 อยู่เกือบเท่าตัว

อุตสาหกรรมเกมถือว่าเติบโตได้ดีอย่างมาก จากงานวิจัยตลาดของ newzoo เปิดเผยว่าจากปี 2012 – 2021 ตลาดเกมโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 11.0% ทบต้น โดยส่วนที่เติบโตสูงมากคือตลาดเกมมือถือที่เติบโตสูงถึง 26.8% ทบต้นเป็นเวลา 10 ปี แน่นอนว่า Tencent ครองตลาดนี้ได้อย่างดี อย่าง King of Glory ก็เป็นเกมที่มียอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ในประเทศจีน หรืออย่างเกม ROV ก็มีกระแสนิยมไปทั่วโลก

หลายคนอาจคิดว่าธุรกิจเกมไม่น่ามีกำไร แต่ไม่ใช่สำหรับ Tencent เพราะบริษัทมีอัตราการทำกำไรสูงและอัตราการเติบโตของกำไรสูงมาก

ในปี 2017 บริษัททำอัตรากำไรสุทธิได้ถึง 30.1% และมีกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 71,510.00 ล้านหยวน เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 86.56% หรือถ้าเทียบกับการเติบโตกับกำไรสุทธิทบต้น 8 ปีก็สูงถึง 39.83% ต่อปีเลยทีเดียว

Fast Retailing (Uniqlo) คือบริษัทผู้ผลิตและค้าปลีกเครื่องนุ่งห่มอันดับ 2 ของโลก

Fast Retailing CO., LTD หรือที่เรารู้จักกันดีในฐานะบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Uniqlo จดทะเบียนอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในสัญลักษณ์ 9983 บริษัทถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดอยู่ที่อันดับ 2 ของโลกในหมวดกิจการเครื่องนุ่มห่ม เป็นรองจาก Inditex (BME: ITX) เจ้าของแบรนด์ Zara อยู่เพียงบริษัทเดียว

Fast Retailing ก่อตั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 1963 ที่ยามากูชิ ประเทศญี่ปุ่น Uniqlo จัดเป็นร้านประเภท SPA (Specialty-store retailer of Private-label Apparel) คือร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเฉพาะแบรนด์ตนเอง บริษัทครองสัดส่วนตลาดเครื่องนุ่งห่มสูงถึง 6.5% ของตลาดในประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มเปิดร้าน Uniqlo ร้านแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1984 ก่อนจะเริ่มขยายสาขาไปต่างประเทศแห่งแรกที่สหราชอาณาจักรในปี 2001 จนในปี 2017 รายได้จากต่างประเทศของ Uniqlo สูงถึง 47% ของรายได้รวม โดยมีสาขาในประเทศญี่ปุ่นรวม 831 สาขา และสาขาในต่างประเทศอีก 1,089 สาขา

หุ้น Fast Retailing จดทะเบียนครั้งแรกในปี 1994 ที่ราคาเปิด 1,026 เยน (ปรับการแตกพาร์แล้ว) จวบจนในปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2018) ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 48,280 เยน คิดเป็นผลตอบแทนรวมกว่า 47 เด้ง และคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นอยู่ที่ปีละ 17.41%

ในแง่ของยอดขาย บริษัทถือครองอันดับ 3 ในเวทีโลก โดยมีอันดับ 1 เป็น Inditex (Zara) จากประเทศสเปนที่มียอดขายอยู่ที่ 3.33 ล้านล้านเยน รองมาคือ Hennes & Mauritz (H&M) จากประเทศสวีเดนที่ยอดขาย 2.61 ล้านล้านเยน และบริษัท Fast Retailing (Uniqlo) จากประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.86 ล้านล้านเยน

Fast Retailing ถือเป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีการเติบโตต่อเนื่องและยาวนานจนได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทอันดับโลกไปแล้ว

ในแง่ยอดขาย บริษัทสร้างการเติบโตได้ถึง 171.81% ในเวลา 8 ปี หรือเทียบกับการเติบโตทบต้นที่ 13.31% ต่อปี ในขณะที่กำไรสุทธิเติบโต 139.53% ในเวลา 8 ปี หรือเทียบเท่ากับการเติบโตทบต้นที่ 11.54% ต่อปีเลยทีเดียว

บริษัทเอเชียจำนวนมากยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี

หากนักลงทุนสนใจจะลงทุนในบริษัทเหล่านี้สามารถทำได้หลายวิธี โดยอาจจะซื้อหุ้นโดยตรงเลยก็ได้ แต่อาจจะจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นค่อนข้างสูงและติดตามผลประกอบการอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าไม่มีเวลาติดตามเพียงพอ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยมีข้อดีคือใช้เงินเริ่มต้นไม่มาก การทำธุรกรรมไม่ซับซ้อน แถมยังได้ถือหุ้นหลายตัวเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงอีกด้วย

บลจ.กรุงศรี มีกองทุนรวมต่างประเทศให้เลือกได้หลายกองทุน

บลจ.กรุงศรี มีกองทุนรวมต่างประเทศให้เลือกได้หลายกองทุน จะไปลงทุนในกองทุนหลักซึ่งบริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ อีกที จึงมั่นใจได้ว่าผู้จัดการกองทุนที่นั่นมีความใกล้ชิดติดตามสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ ได้ทันท่วงทีกว่าผู้ลงทุนในเมืองไทยอย่างเรา

ถ้าสนใจประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างจีน ก็มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีนให้เลือกหลากหลาย เป็นช่องทางเข้าถึงบริษัทจีนชั้นนำอย่าง Moutai และ Tencent ได้ เช่น กองทุน KFACHINA-A ที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศคือ China A Opportunity Fund ของ UBS Investment เน้นลงทุนในหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น หรือที่เรียกว่าหุ้น A-Share ซึ่งมักจะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการเติบโตของการอุปโภคบริโภคด้วยประชากรมหาศาลในประเทศ แล้วยังมี KF-HCHINAD ที่ลงทุนในกองทุนหลัก First State Greater China Growth Fund ที่ลงทุนทั้งในจีน ไต้หวัน และฮ่องกง มีบริษัทใหญ่ๆ ทางเทคโนโลยีและอีกหลายธุรกิจที่น่าลงทุน

ส่วนญี่ปุ่นก็มีหลากหลายกองทุนเช่นกัน KF-HJPINDX จะลงทุนในกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ที่จะลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Fast Retailing (UNIQLO) SoftBank Group Corp (Masayoshi Son) FamilyMart UNY Holdings Co Ltd (ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น

นอกจากนี้ บลจ.กรุงศรียังมีกองทุนที่ลงทุนในเวียดนาม และอินเดียที่เป็นประเทศเติบโตสูง หรือกองทุนที่ลงทุนในทั้งภูมิภาคเอเชียกระจายหลายประเทศด้วย

สนใจแบบไหนสามารถติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 0 2657 5757 เว็บไซต์ www.krungsriasset.com หรือ ดูรายละเอียดกองทุนเอเชียและโปรโมชั่นคลิก http://bit.ly/AsiaEQ_promo2018

หนีห่าว และ อาริกาโตโกะซาอิมาซซซซ !

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

คำเตือน: ผลการดำเนินการในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือการเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน

หมายเหตุ: 

  • KFACHINA-A: ลงทุนในกองทุนหลัก UBS (Lux) Investment SICAV - China A Opportunity (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 – สูง ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • KF-HCHINAD: ลงทุนในกองทุนหลัก First State Greater China Growth Fund โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 – สูง ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
  • KF-HJPINDX:  ลงทุนในกองทุนหลัก Nikkei 225 Exchange Traded Fund โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ระดับความเสี่ยง 6 – สูง ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน

แหล่งที่มาข้อมูล:

www.fortune.com
www.moutai.com.au
www.aastocks.com
www.jitta.com
www.tencent.com
www.newzoo.com
www.uniqlo.com
www.krungsriasset.com

บทความนี้เป้น Advertorial