ผมขอทายว่าทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่เคยได้ยินคำว่า “กองทุนรวม” มาก่อน (แน่สิ หัวบทความก็จั่วไว้ว่ากองทุนรวมตัวเบ้อเร่อ) แต่ผมก็ขอเดาอีกครั้งว่าไม่ใช่ทุกคนที่เคยลงทุนในกองทุนรวม หลายคนอาจจะยังสะสมเงินไม่ถึงเป้าหมายที่จะนำมาลงทุนได้ หลายคนอาจจะยังกล้าๆ กลัวๆ เพราะยังไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความรู้พอจะลงทุนหรือยัง

วันนี้ผมจึงขันอาสาขอพาทุกคนเข้าสู่โลกของกองทุนรวม ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับโลกแห่งนี้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด โลกที่โอกาสการลงทุนเป็นของทุกคน

กองทุนรวม คืออะไร?

กองทุนรวม คือทรัพย์สินสำหรับลงทุนที่เกิดจากการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อนำไปลงทุนต่ออีกทีหนึ่ง โดยนักลงทุนแต่ละคนก็จะมีสิทธิ์ในกองทุนรวมเท่ากับสัดส่วนเงินที่ใส่ลงไป ยกตัวอย่างเช่น เราและเพื่อน 3 คนลงเงินคนละ 100 บาทเพื่อไปซื้อสลากออมสิน แบบนี้ถ้าได้ผลประโยชน์อย่างดอกเบี้ยหรือถูกรางวัล ผลประโยชน์ก็ต้องแบ่งกัน 4 คน เพราะทุกคนมีสัดส่วนการลงทุนเท่าๆ กัน เพียงแต่กองทุนรวมจะมีโครงสร้างซับซ้อนกว่านี้มากตามขนาดเม็ดเงิน แต่กองทุนรวมก็มีข้อดีอย่างมากสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาหรือความสามารถที่จะลงทุนเอง เพราะทุกกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยบริหารจัดการลงทุนแทนให้ ดังนั้น ถึงแม้เราจะไม่มีความรู้เชิงลึกอะไรเลย แต่ถ้าเราเลือกกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม เราทุกคนก็สามารถลงทุนได้เหมือนผู้เชี่ยวชาญ


มือใหม่ควรเริ่มต้นศึกษาอย่างไรดี?

ถ้าถามผมว่านักลงทุนมือใหม่ควรเริ่มศึกษากองทุนรวมอย่างไรดี? ใจผมก็อยากจะตอบว่าอ่านหนังสือสอนกองทุนรวมดีๆ สักเล่ม แต่ถ้าตอบแบบนั้นต้องโดนคนอ่านด่าในใจแน่ๆ วันนี้ผมจึงจะมาแนะนำหลักเบื้องต้นในการลงทุนกองทุนรวมอย่างง่าย ซึ่งผมแนะนำเลยว่าเบาะแสสำคัญทุกอย่างของกองทุนรวมอยู่ที่ "หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ" หรือเรียกอีกอย่างว่า "Fund Fact Sheet" ของกองทุนรวม


ภาพตัวอย่างหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนเปิดทหารไทย global income (TMBGINCOME)

"หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม มีแทบทุกอย่างที่นักลงทุนควรรู้"

แต่อย่าเพิ่งตกใจไปว่าภาพข้อมูลที่ใส่มาเล็กจนอ่านไม่ออก เพราะเดี๋ยวผมจะเล่าประเด็นสำคัญไปทีละจุดเลยว่าต้องอ่านตรงไหนบ้าง ภาพประกอบนี่ใส่มาให้จินตนาการภาพออกเฉยๆ ว่าหน้าตาของหนังสือชี้ชวนเป็นประมาณนี้ อ่านเองจะได้ไม่ตกใจ


นโยบายการลงทุน คือหัวใจของกองทุนรวม

สิ่งสำคัญที่สุดในการลงทุนกองทุนรวมคือตอบให้ได้ว่าเงินที่เราจะไปลงทุนนั้นจะนำไปลงทุนในอะไรต่อ เช่น หากเราซื้อกองทุนรวมหุ้น เงินที่เราซื้อกองทุนไปก็จะไปลงทุนในหุ้นต่อ ในขณะที่หากเราซื้อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เงินที่เราซื้อกองทุนก็จะไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อ

โดยข้อมูลดังกล่าวนี้จะบอกอยู่ใน "นโยบายการลงทุน"

นโยบายการลงทุนจะบอกถึงสินทรัพย์ที่กองทุนรวมนี้จะนำเงินไปลงทุนต่อ ความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมจึงผันแปรไปตามนโยบายการลงทุนเป็นสำคัญ หากลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่ผันผวนค่อนข้างมากอย่างหุ้น ทองคำ หรือน้ำมัน กองทุนรวมก็จะผันผวนมาก แต่ถ้าลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ผันผวนค่อนข้างน้อยอย่างเงินฝากธนาคาร หรือตราสารหนี้ กองทุนรวมก็จะผันผวนน้อยตามนโยบาย

นอกจากนี้นโยบายการลงทุนก็ยังบอกอีกด้วยว่าผู้จัดการกองทุนมีหลักการในการเลือกสินทรัพย์อย่างไร ตรงนี้เราสามารถศึกษาได้ว่าเราเหมาะสมกับกองทุนรวมหรือไม่ เช่น บางกองทุนเน้นหุ้นขนาดเล็ก ถ้าเราชอบลงทุนเฉพาะหุ้นใหญ่แข็งแกร่ง แบบนี้อาจจะต้องหากองทุนอื่นเพิ่มเติม


ค่าธรรมเนียม คือค่าใช้จ่าย ยิ่งต่ำยิ่งดี



"ค่าธรรมเนียม" คือเงินที่เราต้องจ่ายให้กับกองทุนรวมเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการนำเงินของเราไปลงทุน ยิ่งค่าธรรมเนียมต่ำเท่าไหร่ก็ยิ่งดีสำหรับเรามากเท่านั้น ก่อนลงทุนเราจึงควรเปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนที่สนใจกับกองทุนอื่นที่มีนโยบายเหมือนกัน ถ้าเลือกได้ควรเลือกกองที่ค่าธรรมเนียมต่ำกว่า...

แต่ประเด็นที่ห้ามพลาดคือ เราจะเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมได้ก็ต่อเมื่อกองทุนรวมนั้นมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น

แน่นอนว่าการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทมีความยากง่ายแตกต่างกัน ค่าธรรมเนียมก็มากน้อยต่างกันไปตามระเบียบ 


ผลตอบแทนย้อนหลัง ใช้ดูเป็นแนวทางได้


ถึงแม้ว่าใต้หนังสือชี้ชวนทุกฉบับจะสลักไว้ว่าผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนย้อนหลังก็พอที่จะใช้ประกอบการวิเคราะห์ได้ จุดสำคัญคือเราควรเปรียบเทียบผลตอบแทนย้อนหลังกับตัวชี้วัด(Benchmark) ซึ่งจะระบุให้ในหนังสือชี้ชวน กองทุนรวมที่บริหารสร้างผลตอบแทนชนะตัวชี้วัดได้ย่อมบอกถึงความสามารถของผู้จัดการกองทุนได้ดี 

สภาพคล่องของกองทุนรวม ห้ามมองข้ามเด็ดขาด


"สภาพคล่องของกองทุนรวม" อาจฟังดูเข้าใจยาก จำไปเลยว่าก่อนลงทุนทุกครั้งต้องถามตัวเองว่า “ซื้อและขายอย่างไร?” กองทุนรวมส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาระหว่างการขายและได้เงินสด เนื่องจากผู้จัดการกองทุนต้องไปขายสินทรัพย์นำเงินมาคืนเราอีกที เราจึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารเงินให้ดีในกรณีที่จำเป็นต้องถอนมาใช้ รวมไปถึงบางกองทุนรวมมีข้อกำหนดพิเศษในการลงทุนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ห้ามพลาด เช่น กองทุนรวมที่เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวและจะรับซื้อคืนอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือกองทุนรวมที่เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวและจะรับซื้อคืนเมื่อผลตอบแทนของกองทุนรวมสูงกว่า 10% เป็นต้น นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีแผนจะใช้จ่ายในเวลาอันใกล้


การบริหารงานของผู้จัดการกองทุน คือเบื้องหลังของความสำเร็จ

กองทุนรวม...คือการนำเงินไปฝากผู้เชี่ยวชาญลงทุนแทน ดังนั้นเราต้องพิจารณาเสมอว่าผู้เชี่ยวชาญคนนั้นจะสามารถบริหารเงินเราได้อย่างยอดเยี่ยมหรือไม่

ในหนังสือชี้ชวนจะมีชื่อผู้จัดการกองทุนปรากฎอยู่เสมอ เราสามารถนำชื่อไปค้นหาผลงานในอดีตได้ หลายคนมีงานพูดงานเขียนงานบรรยาย เราก็สามารถติดตามเพื่อศึกษาความรู้และดูทัศนคติเชิงการลงทุนได้ แต่ถึงแม้ว่าผู้จัดการกองทุนหลายคนจะติดตามได้ยาก การดูผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลังก็พอจะบอกคร่าวๆ ได้ถึงความสามารถและสไตล์การลงทุนแล้ว อย่าลืม เทียบผลตอบแทนกองทุนกับตัวชี้วัดในช่วงเวลาที่ผู้จัดการกองทุนทำงานเท่านั้น หลายกองทุนมีการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุน เราต้องเลือกเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน


การเลือกกองทุนรวมให้เหมาะสมกับตัวเอง คือหน้าที่ของนักลงทุน

ถึงแม้ว่ากองทุนรวมจะดีเลิศแค่ไหน แต่ถ้านักลงทุนเลือกไม่เหมาะสมกับตัวเองก็อาจจะนำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาดได้ สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องพิจารณาถึงความผันผวนที่รับได้และผลตอบแทนที่คาดหวัง โดยทั่วไป หากเราอยากได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินฝากประจำธนาคารแต่คิดดอกเบี้ยทุกวัน แบบนี้เราจะเหมาะกับกองทุนรวมตลาดเงิน แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเพื่อชนะเงินเฟ้อ แบบนี้เราจะเหมาะกับกองทุนรวมตราสารหนี้ หากอยากได้ผลตอบแทนค่อนข้างคงที่และสม่ำเสมอสักปีละ 5 – 8 เปอร์เซ็นต์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่ดี หากเราติดตามราคาทองคำและน้ำมัน อยากลงทุนแต่เน้นความสะดวก กองทุนรวมทองคำและน้ำมันก็สามารถลงทุนได้ แต่ถ้ามุ่งหวังการลงทุนระยะยาวและหวังผลตอบแทนที่สูงกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป กองทุนรวมหุ้นไทยและกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศน่าจะเป็นคำตอบที่ดี

อย่าลืมว่าความผันผวนจะมาเป็นเงาตามตัวของผลตอบแทนเสมอ ผลตอบแทนน้อยความผันผวนมักจะน้อย ผลตอบแทนมากความผันผวนมักจะมาก การลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนลงได้ แต่สำคัญที่สุด “ความเข้าใจ” คือมิตรแท้ของการลงทุนทุกประเภท ศึกษาให้มาก เข้าใจให้มาก และมีทัศนคติที่ดี เราก็จะสามารถอยู่กับความผันผวนและสร้างผลตอบแทนตามความเหมาะสมได้อย่างมีความสุข

ขีดเส้นใต้สามทีว่าเนื้อหาบทความนี้ไม่ใช้ทั้งหมดของการลงทุนในกองทุนรวม เพียงแต่เป็นหลักคิดพิจารณาเบื้องต้นสำหรับลงทุนในกองทุนรวมเท่านั้น

หากสนใจเพิ่ม สามารถหาหนังสือดีๆ มาอ่านเพิ่มเติม หรือศึกษาจากแหล่งข้อมูลอื่นได้ บทความนี้เป็นเสมือนการก๊อกก๊อกก๊อก เปิดประตูสู่โลกกองทุนรวม เปิดออกดูว่าใครมาเท่านั้น (เพลงบอกอายุมาก) 

การลงทุนในกองทุนรวมไม่ยาก แต่ก็ไม่ถึงกับง่ายมากเสียทีเดียว แต่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการลงทุนในกองทุนรวมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ได้ใช้ความรู้ ความพยายาม และเวลาที่มากเกินไปเลย

ศึกษาอีกนิด หาความรู้อีกหน่อย พอเลือกกองทุนรวมเป็นคราวนี้ก็สบายแล้ว ฝากเขาลงทุนไป เราก็ติดตามสักสามเดือนครั้ง ไม่เริ่มตอนนี้แล้วจะเริ่มตอนไหน รู้ไหมว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่า และมันกำลังไหลผ่านไปทุกวัน

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจการลงทุน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้น หรือซื้อกองไหนดี ต้องการคำแนะนำจากผู้รู้ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพิ่มเติมได้จากบริการ ทีเอ็มบี แอดไวเซอรี่ (TMB Advisory) ที่เตรียมกลยุทธ์การลงทุนด้วยกองทุนเด่นที่คัดสรรมาจาก 8 บลจ.ชั้นนำ มาให้เลือกลงทุนครับ เลือกรับข่าวสารการลงทุนดีๆ ได้ฟรี! อีกเพียบ เพียงลงทะเบียนที่ https://tmbbank.com/IN/TMBADVISORY/RG หรือนัดหมายพบผู้เชี่ยวชาญการลงทุนส่วนตัวได้ที่นี่ https://tmbbank.com/tmbadvisory-room


ลงทุนศาสตร์ - Investerest


บทความนี้เป็น  Advertorial