เป้าหมายในชีวิตของหลายๆ คน ก็คงเป็นเรื่องการมีเงินเก็บออมหลังเกษียณ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ลำบากใช่ไหมล่ะครับ แต่บทสัมภาษณ์ในวันนี้จะมาท้าทายความคิดเหล่านั้น ด้วยการตั้งคำถามที่ว่า “เงินซื้อความสุขได้จริงหรือ” และ “เราต้องใช้เงินอย่างไรถึงจะมีความสุข” โดยคนที่จะมาให้คำตอบเราก็คือ อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันได้เลยครับ

เศรษฐศาสตร์ความสุขคืออะไร?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : เศรษฐศาสตร์คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สมมติถ้าเรามีเงิน เราก็ควรจะใช้เงินให้เกิดความสุขที่สุด บางคนใช้เงินซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อหุ้น มันก็ควรจะเกิดความสุขใช่ไหม แต่พอเราเก็บข้อมูลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศก็พบว่า เงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขนาดนั้น มันก็เลยทำให้เราพยายามวิจัยว่า ทำไมเงินที่คนคิดว่าจะทำให้เกิดความสุข กลับไม่ใช่อย่างนั้น

นักเศรษฐศาสตร์ความสุขก็เลยต้องมาคิดว่า แทนที่เราจะดูเงินเป็นเป้าหมายชีวิต เราดูความสุข ความพึงพอใจในชีวิต สุขภาพจิต เป็นเป้าหมายชีวิต ตัวเงินเป็นเพียงแค่พาหนะที่จะพาเราไปถึงตรงจุดนั้นเท่านั้นเอง ถ้าคุณใช้เงินแล้วไม่มีความสุข แสดงว่าคุณใช้เงินไม่เป็น

“เงินซื้อความสุขไม่ได้” ก็ไม่ใช่เรื่องจริง?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ไม่ใช่เรื่องจริง เงินซื้อความสุขได้ แต่ว่าในเชิงสถิติเรายังไม่เห็นว่าเงินซื้อความสุขได้เท่าที่เราคิด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราเปรียบเทียบรายได้ของตัวเองกับคนรอบข้าง เช่น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มขึ้น 1% ความพึงพอใจที่เรามีต่อการทำงานจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าความสุขที่เราได้มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะหายไปหมดเลย ถ้าคนอื่นรอบตัวที่ทำงานคล้ายกัน อายุพอๆ กัน แล้วมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเท่าๆ กันกับเรา พูดง่ายๆ คือถ้าเงินเดือนเราขึ้น โอเคแฮปปี้ แต่ความสุขจะหายไปหมดเลยถ้าคนอื่นเงินเดือนขึ้นตามเราไปด้วย ในทางกลับกันถ้าเราใช้เงินกับประสบการณ์บ้าง หรือใช้เงินเพื่อคนอื่นบ้าง อันนี้จะให้ความสุขกับเราได้มากกว่า

ถ้าจะใช้เงินให้มีความสุขก็ต้องใช้เงินกับประสบการณ์ หรือมอบให้คนอื่น?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ใช่ครับ นั่นคือผลของงานวิจัย ถ้าเราเลือกระหว่างการใช้เงินซื้อรถปอร์เช่มาสักคันหนึ่ง ได้รถมาวันแรกเรามีความสุขมาก โอ้โห เราเป็นหนึ่งเดียวในซอย แต่สมมติว่าเราตื่นขึ้นมาวันถัดไป แล้วพบว่าทุกบ้านในซอยมีรถปอร์เช่หมดเลย ความสุขที่เราได้จากรถปอร์เช่คันนั้นมันจะหายวับไปเกือบหมด นั่นก็เพราะมีการเปรียบเทียบนั่นเอง 

หรืออย่างวันแรกที่เราเงินเดือนขึ้น เราก็จะใช้เวลาดีใจและคิดถึงมัน แต่พอผ่านไป 4-5 วันเงินก็เข้าอยู่ในบัญชี เราก็จะไม่ได้คิดถึงมันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเงินที่ทำให้เรามีความสุขมันหายไปแล้ว แต่ถ้าเราใช้เงินกับประสบการณ์ หรืออะไรก็ตามที่เราใช้เงินแล้วสมาธิไปอยู่กับตรงนั้น เช่น การอยู่กับเพื่อน การไปเที่ยว แล้วเรายังสามารถพูดถึงหรือคิดถึงมันได้บ้าง ประสิทธิภาพของเงินที่มีต่อความสุขมันจะยังอยู่ไปด้วย เพราะเงินมันเป็นพาหนะทำให้เราคิดถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้พอเกิด Covid-19 การใช้เงินกับประสบการณ์มันหายไปเยอะเลย เพราะเราใช้กับมันไม่ได้

หลายคนเลยหันไปซื้อของออนไลน์เยอะขึ้นเรื่อยๆ มันคือวิธีแก้ปัญหา?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ต้องดูก่อนว่าเราซื้อแล้วเงินแปรสภาพไปเป็นอะไร ถ้ามันเป็นสิ่งที่ซื้อมาแล้ว สมาธิของเราไม่ได้โฟกัสกับสิ่งนั้น ความสุขที่ได้ก็จะหายไป แต่ถ้าเราซื้อแล้วให้คนอื่น เช่น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของต่างประเทศ เขาสุ่มให้เงินคนกลุ่มหนึ่งไป 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วบอกว่าให้เอาไปซื้อของสำหรับตัวคุณเอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสุ่มมา ก็ให้เอาเงินนี้ไปซื้อของให้คนอื่น จะเป็นคนแปลกหน้าก็ได้ เสร็จแล้วเขาก็โทรศัพท์ไปถามถึงความสุขของคนทั้ง 2 กลุ่มในคืนวันนั้น แล้วก็พบว่าคนที่นำเงินไปซื้อของให้คนอื่นกลับรู้สึกมีความสุขมากกว่า เหมือนกับว่าเงินที่เขาได้มามันมีผลประโยชน์มากกว่าคนที่ซื้อของให้กับตัวเอง

แต่มันก็มีพฤติกรรมที่ต่างจากแต่ก่อน มีงานวิจัยพบว่าการรอคอยสินค้าออนไลน์ มันสร้างความสุขให้กับเราได้มากกว่าการซื้อของแล้วได้ทันที ยกตัวอย่างผลสำรวจของ Tripadvisor ที่บอกว่ามีคนจองทริปเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ภายใน 3 เดือนที่อยู่ระหว่างรอเนี่ย เขากลับไปดูที่หน้าเว็บไซต์ที่จองไว้ตลอดเวลา หลายครั้งด้วย ซึ่งสาเหตุที่คนกลับไปดูหน้าเว็บไซต์ก็คือ พวกเขาได้ฝันว่า โอ้...เราจะได้ไปเที่ยวแล้ว ดูรูปนี้สิๆๆ งานวิจัยพบว่าความสุขที่เราได้จากการรอมันอาจจะสูงกว่าความสุขที่เราได้จากการไปเที่ยวจริงๆ คล้ายๆ กับการซื้อลอตเตอรี่นะครับ คนที่ซื้อลอตเตอรี่ส่วนใหญ่เขารู้ว่าโอกาสที่จะชนะมันน้อยมาก แต่ก็ซื้อแล้วรอคอย เพราะความสุขที่ได้จากการรอและการหวังเนี่ยมันสูงกว่าการถูกลอตเตอรี่ด้วยซ้ำไป

ถ้าเราอยากใช้เงินเพื่อเพิ่มความสุขในวันนี้และอนาคต ก็อาจจะจองทริปท่องเที่ยวปีหน้าไปเลย แล้วก็คิดถึงแต่ตรงนั้น ระหว่างรอก็พยายามหากิจกรรมต่างๆ เพิ่มรสชาติของการรอ เช่น จองทริปเที่ยวญี่ปุ่นแบบยกเลิกหรือขอคืนเงินได้ แล้วระหว่างรอก็อาจจะมีกิจกรรมเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ได้วันละ 3 คำ อันนี้น่าจะเป็นการใช้เงินที่มีประโยชน์ต่อความสุขของเรา มากกว่าใช้เงินซื้อสิ่งที่เราอยากได้ในทันที แล้วไม่ได้คิดถึงมันอีก ซึ่งอาจจะอยู่รกบ้านไปเรื่อยๆ

ในมุมของคนที่ไม่มีรายได้หรือถูกลดรายได้ สามารถนำมุมมองของเศรษฐศาสตร์ความสุขมาช่วยได้อย่างไร?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : การสูญเสียรายได้ส่งผลกระทบใหญ่พอสมควรกับความสุข ความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนเราเกลียดการเสียมากกว่า ยิ่งถ้าเสียงานที่เราทำ ผลกระทบมันมากกว่าการที่เราเสียเงินไปอีก เพราะมันหมายถึงการเสียทั้งเงินด้วยเสียทั้งความหมายของชีวิตจากการทำงานด้วย การเยียวยาส่วนหนึ่ง คือ รัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วย อย่างประเทศอังกฤษที่ผมอยู่ แต่ก่อนเราคิดว่าคนที่ว่างงานเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องช่วยเขามาก แต่พอเริ่มทำวิจัยก็พบว่าไม่ใช่ คนที่ว่างงานจะมีการสูญเสียความพึงพอใจในชีวิต ดังนั้นถ้าเราให้เงินกับเขา มันไม่ได้ช่วยเขาเท่าไรในเชิงของความสุข เพราะสิ่งที่เสียไปคือความเชื่อมั่นในตัวเอง และความกลัวในการเสียรายได้ในอนาคต

พอเรารู้อย่างนี้แล้ว แทนที่จะให้เงินเขา ก็ต้องทำให้เขากลับมาทำงานให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม สิ่งที่จะเยียวยาแทนได้นอกจากการแจกเงิน คือการทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่าอยู่ ยังมีทางออก วิธีเยียวยาอีกอย่างหนึ่งคือถ้าเขาได้รับรู้ว่า เขาไม่ใช่แค่คนเดียวที่ประสบเหตุการณ์นี้อยู่ มีงานวิจัยบอกว่าคนที่ว่างงานจะทุกข์มาก แต่ความทุกข์นั้นจะลดลง ถ้ารู้ว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่ว่างงาน มันไม่มีตราบาปเกิดขึ้น

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ความสุข ได้มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อวางแผนนโยบายต่างๆ ไหม?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ผมทำงานทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แต่ไม่ค่อยมีบทบาทที่เมืองไทยเท่าไร อาจจะมีบทบาทที่นี่มากกว่าในเชิงของงานวิจัยหรือการแนะนำนโยบาย อย่างเช่นเศรษฐศาสตร์ความสุขเราพบว่า ปกติคนมักจะคิดถึงเรื่องเงิน คิดถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พอเรารู้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นถูกต้องแล้ว แต่มันทำให้เราห่างหายจากสิ่งที่ “ถูกต้องกว่า” ในการทำให้ประชาชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจะมีการเทรนตั้งแต่เด็กๆ เลย ในโรงเรียนประถมฯ มัธยมฯ เกี่ยวกับความเมตตากรุณาคนอื่น การเข้าใจ สอนทำสมาธิ ถ้าเจอสิ่งที่ร้ายๆ ในชีวิตแล้วจะต้องจัดการอย่างไร นี่คือนโยบายของเศรษฐศาสตร์ความสุข

ส่วนทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เรารู้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจแบบผิดๆ ซึ่งส่งผลให้เราไม่มีความสุขที่ยั่งยืน เราก็ออกนโยบายต่างๆ เพื่อทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีต่อตนเอง

ถ้าดูในมุมของครอบครัว ภาวะ Covid-19 เราสามารถใช้เศรษฐศาสตร์ความสุขมาช่วยเหลือคนในครอบครัวได้อย่างไร เช่น ถ้าเห็นเสาหลักของครอบครัวขาดรายได้ หรือมีคนที่ประสบปัญหา

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ผมว่าคนในครอบครัวต้องพูดคุย ทำความเข้าใจกัน 90% ของปัญหาสามารถแก้ไขได้ถ้าเราคุยกัน อย่างตอนที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้จะเป็นสัปดาห์สุขภาพจิตของประเทศอังกฤษ เขาจะพูดเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตของผู้ชาย ซึ่งสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตลอดคือผู้ชายจะร้องไห้ไม่ได้ มีความทุกข์ต้องเก็บเอาไว้ ทำให้สถิติอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าละอายถ้าต้องระบายความรู้สึก เขาก็จะมีนโยบายออกมาว่าถ้าใครกำลังทุกข์ โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย คนในครอบครัวก็สามารถบอกว่า ไม่เป็นไรนะ เราคุยกันได้ เราทุกข์ไปด้วยกันได้ อย่าแบกไว้แค่คนเดียว และถ้าต้องการความช่วยเหลือก็สามารถพบจิตแพทย์ได้ มันไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป สิ่งนี้ควรจะถูกสื่อสารมากขึ้นในสังคม

หลังจากช่วง Covid-19 พฤติกรรมความสุขของคนไทยจะเปลี่ยนไปไหม?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ผมว่าเปลี่ยนส่วนหนึ่งครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนตลอดไปหรือเปล่า ก่อนที่จะเกิด Covid-19 เรามีตัวเลือกในชีวิตเยอะมาก อยากใช้เงินซื้อความสุขอะไรก็ทำได้ แต่พอหลัง Covid-19 ตัวเลือกต่างๆ ก็จำกัดมากขึ้น ความสำคัญในชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไป แต่ก่อนที่ต้องทำงานหาเงิน เราใช้เวลาอยู่บนถนนแต่ละวันนานมาก แต่ตอนนี้ Covid-19 บังคับให้เราต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น มันทำให้กลับมาคิดว่าความสำคัญของชีวิตอยู่ตรงไหนบ้าง เราไม่จำเป็นต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนมากนัก เรา Work from Home ได้ ส่วน Work-Life Balance อาจจะดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อความสุขประจำวัน และความสุขระยะยาวของเรา

มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือพฤติกรรมการใช้เงินของคนอังกฤษเปลี่ยนไปเยอะมาก คนแทบไม่ได้ใช้เงินซื้อเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่น แต่เน้นซื้อเสื้อผ้าที่ใส่สบายมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราต้องออกจากบ้าน ก็เลยต้องแต่งตัวดีๆ เพื่อสถานะทางสังคม แต่พอเกิด Covid-19 เราไม่แคร์ เพราะมันไม่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น เราอาจจะออมมากหน่อย แต่พอหลัง Covid-19 แล้วเราจะกลับไปใช้เงินเพื่อบ่งบอกสถานะมากกว่าใช้เงินเพื่อความสุขอีกไหม อันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน

การ Work from Home ทำให้เราเจอคนน้อยลง มันส่งผลต่อสภาพจิตใจไหม แล้วต้องแก้ไขอย่างไร?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : อันนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ ตอนแรกๆ ที่มีล็อกดาวน์เราพูดถึงเรื่อง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ตอนนี้เราพยายามที่จะเปลี่ยนเป็น Physical Distancing คือแค่ตัวที่ห่างกัน แต่ก็ยังติดต่อกันนะ ช่วงที่เกิด Covid-19 ผมให้สัมภาษณ์ที่เมืองไทยเกิน 20 ครั้งแล้ว จากที่เขียนหนังสืออย่างเดียว ไม่เคยให้สัมภาษณ์ใครเลย สิ่งนี้เป็น New Normal ของเรา พอมีเทคโนโลยีแล้วเราจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง

มีเทคนิคสำรวจความสุขด้วยตัวเองแบบง่ายๆ อย่างไร?

อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี : ความสุขมีอยู่ 3 มิติ คือความสุขระยะสั้น เช่น การวิตกกังวล ยิ้ม หัวเราะ ตัวชี้วัดก็คือเราใช้เวลาในแต่ละวันทำอะไรบ้าง, ความสุขระยะยาว คือความพึงพอใจในชีวิต ตัวแปรก็คือเรามีงานไหม มีเงินไหม ซึ่งตัวนี้หลายคนขาดหายไปเพราะ Covid-19 และสุดท้ายคือความสุขระยะยาวมาก เช่น เรามีเป้าหมายในชีวิตไหม ชีวิตของเรามีความหมายไหม ถ้าเรารู้จักทั้ง 3 มิติแล้ว ก็ให้เช็กว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวแปรของสิ่งเหล่านี้ อะไรบ้างที่ตกหายไป จากนั้นก็ต้องพยายามหาอย่างอื่นมาชดเชย เพราะเราจะอยู่ไม่ได้ถ้าทั้ง 3 มิตินี้มันหายไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะให้ความสำคัญกับมิติไหนมากกว่ากัน

แต่สิ่งที่สำคัญมากกับทุกมิติคือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สิ่งนี้สำคัญมากกว่าเงินเสียอีก เพราะฉะนั้นแทนที่จะดูแค่เรื่องเงินอย่างเดียว ก็ต้องดูด้วยว่าเราใช้เงินอย่างไร เพื่อที่จะเติมโจทย์ของความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นๆ ได้ มันจะตอบโจทย์ความสุขเราในระยะยาวได้ดีกว่าแค่ตัวเงินอย่างเดียวครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ พออ่านถึงตรงนี้ aomMONEY เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจความหมายของการใช้เงินมากขึ้น เราอาจจะใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองได้ แต่ความสุขที่แท้จริงคือการใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์ หรือสร้างความทรงจำดีๆ ให้กับตัวเราและคนรอบข้าง นี่คือหลักการใช้เงินตามแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์ความสุขนั่นเองครับ

https://youtube.com/watch?v=M0Yd7kga-vM%3Fwmode%3Dopaque

เจาะลึกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมการใช้เงินในอนาคตหลัง Covid-19 

โดย "อ.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี" ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/