ธุรกิจ "ตู้ไฟฟ้า" กำลังเติบโตไปตามภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ การเติบโตครั้งใหม่ของไทย’ เปิดเผยว่า นโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี และเพิ่มอัตราการจ้างงานกว่า 100,000 อัตราต่อปี ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเขตเศรษฐกิจเติบโตจากการกระตุ้นและสนับสนุนของรัฐ ภาคเอกชนย่อมตัดสินใจเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อเก็บเกี่ยวสิทธิประโยชน์จากการลงทุนเหล่านี้ โดยที่แรกที่เงินลงทุนจะไหลไปคือ ส่วนของการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงโครงสร้างและระบบภายใน

โดยอุปกรณ์หลักสำหรับระบบโครงสร้างของโรงงานอุตสาหกรรมคือ "ตู้ไฟฟ้า" (Panel) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการควบคุมและไฟฟ้ากำลัง สำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม โดยตู้ไฟฟ้าจะทำให้เครื่องจักรทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นที่นิยมในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง หรืออยู่ในสภาวะที่เลวร้าย เช่น ฝุ่นควันมาก อากาศร้อนจัด อากาศเย็นจัด หรือความชื้นสูง

หนึ่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และให้บริการเกี่ยวกับระบบเหล่านี้คือ "CPT" หรือ บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี และเป็นน้องใหม่ที่กำลังจะจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเร็วๆ นี้

อ้างอิงจากงบการเงินปี 2559 รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากการขาย ตู้ไฟฟ้า (Panel) ประมาณ 53.44% โดยตู้ไฟฟ้านี้ผลิตจากโรงงานของบริษัทฯ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสูง และรายได้อีก 13.76% มาจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมอื่น รวมรายได้สองส่วนนี้เป็นรายได้จากการขาย คิดเป็นสัดส่วน 67.20% ของรายได้รวมของบริษัทฯ

ในขณะที่อีก 32.57% เป็นรายได้จากการให้บริการ โดยส่วนแรกคือการให้บริการรับเหมาและติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยและระบบตู้ไฟฟ้าในโรงงาน ตรงนี้เป็นรายได้ในลักษณะงานรับเหมา ประมาณ 28.70% ของรายได้รวม ส่วน 3.87% ที่เหลือเป็นรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาซ่อมแซมในช่วงเวลาหลังจากที่หมดสัญญาประกัน ซึ่งรายได้ตรงนี้ก็จะมีความต่อเนื่องมากกว่า

รายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2557 2558 2559 อยู่ที่ 1,071.46 ล้านบาท 1,065.31 ล้านบาท และ 1,230.28 ล้านบาทตามลำดับ เห็นได้ว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในส่วนการขายจะค่อนข้างมั่นคงและมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับรายได้จากการให้บริการ ซึ่งแม้จะดูผันผวนบ้างในบางปี แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

จากข้อมูลงบการเงินปี 2559 อัตรากำไรขั้นต้นของส่วนงานขายดีกว่าส่วนงานให้บริการ โดยอัตรากำไรขั้นต้นของฝั่งขายอยู่ที่ 27.64% ในขณะที่ฝั่งรับเหมาอยู่ที่ 13.22% ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นของงานรับเหมายังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยล่าสุดที่เห็นจากงวด 9 เดือน 2560 อัตรากำไรขั้นต้นของฝั่งรับเหมาขยับขึ้นมาเป็น 23.64% ในขณะที่ฝั่งขายปรับขึ้นมาเป็น 27.74%

ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร บริษัทฯ สามารถควบคุมได้ค่อนข้างดี เห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบ ไม่มีปีไหนกระโดดออกไปจนทำให้ให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงอย่างรุนแรง

สำหรับต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทฯ ก็มีไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้รวม สัดส่วน Interest Coverage Ratio ที่บ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนถึงบรรทัดสุดท้าย อัตรากำไรสุทธิก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 – 2559 จนถึงล่าสุดในงวดรวม 9 เดือนของปีนี้ และคงต้องพิจารณาต่อไปเพื่อดูถึงผลกระทบจาก Seasonal Effects ด้วย อย่างไรก็ตาม เทียบจากปี 2557 – 2559 กำไรสุทธิของบริษัทฯ ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 53.35 ล้านบาท 85.52 ล้านบาท และ 113.01 ล้านบาทตามลำดับ

ในเรื่องความเสี่ยงของกิจการมีอยู่ 2 ด้านคือ ด้านลูกค้าที่พึ่งพิงลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นหลัก เฉลี่ยแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ แต่ทางบริษัทฯ ก็ทราบประเด็นตรงนี้และมีการปรับสัดส่วนลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในฝั่งด้านซัพพลายเออร์ ตอนนี้มี 3 รายใหญ่ที่ส่งสินค้าให้กับบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของขาซื้อ โดยบริษัทฯ มีมุมมองว่าไม่มีปัญหาเพราะมีความสัมพันธ์อันดี และเชื่อมั่นว่างานตู้ไฟฟ้าเป็นการพิจารณาสินค้าจากคุณสมบัติสินค้าเป็นหลัก หากซัพพลายเออร์เจ้าใดมีปัญหาก็สามารถหารายอื่นมาทดแทนได้ โดยเน้นการใช้คุณสมบัติของสินค้าเป็นจุดนำในการจัดซื้อ

สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CPT ครั้งนี้ รวมจำนวน 270 ล้านหุ้น รวมเป็น 30% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ โดยจะระดมทุนไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานใหม่และซื้อเครื่องจักรประมาณ 200 ล้านบาท ขยายงานไปต่างประเทศประมาณ 70 ล้านบาท และส่วนที่เหลือก็จะใช้ในการเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ ต่อไป

หากใครสนใจธุรกิจตู้ไฟฟ้าที่จะโตไปตามภาคอุตสาหกรรมอย่าง CPT ก็สามารถอ่านข้อมูลกิจการเพิ่มเติมได้ที่ http://cpt-ipo.com/

โดยบทความฉบับนี้ไม่มีเจตนาแนะนำซื้อ ถือ หรือขาย เพียงแต่ช่วยทำการสรุปหนังสือชี้ชวนตราสารทุนมาเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและสะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อได้

ตู้ไฟฟ้า กำลังจะมาหาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว !

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

บทความนี้เป็น Advertorial