หุ้น IPO ถือเป็นของหวานจานโปรดของนักลงทุนในยุคนี้

เนื่องจากหุ้นไอพีโอส่วนมากนั้นเข้าตลาดมาวันแรกจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกและมักจะเป็นบวกค่อนข้างมาก ทำให้นักลงทุนที่ได้สิทธิ์จองซื้อมักจะได้กำไร ส่วนผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ก็มักจะมาลุ้นเอาตอนตลาดเปิด หุ้นบางตัวที่เป็นที่นิยมมากๆ ก็อาจให้ผลตอบแทนได้ถึง 200% ในวันเดียว

แล้วนักลงทุนควรต้องดูอะไรบ้างก่อนซื้อหุ้น IPO ?

หุ้นไอพีโอนั้นมีหลักการวิเคราะห์ไม่ต่างจากการวิเคราะห์หุ้นเพื่อลงทุนโดยปรกติเลย เพียงแต่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยที่แตกต่างจากการวิเคราะห์โดยปรกติซึ่งจะอธิบายอยู่ในตอนท้ายของบทความนี้

ส่วนของการวิเคราะห์เหมือนหุ้นตามปรกติ

  • ปัจจัยมหภาค
    กิจการได้รับภาวะเกื้อหนุนจากปัจจัยระดับประเทศหรือภูมิภาคอย่างไรบ้าง แง่มุมที่ต้องวิเคราะห์เช่น ลักษณะสังคม การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย เทคโนโลยี รวมไปถึงสภาพแวดล้อม
  • อุตสาหกรรม
    กิจการอยู่ในอุตสาหกรรมแบบไหน และพื้นฐานภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไร แนวโน้มของอุตสาหกรรมสดใสหรือไม่อย่างไร
  • พื้นฐานธุรกิจ
    กิจการประกอบอาชีพอะไร ลูกค้าคือใคร ผลิตภัณฑ์บริการคืออะไร จุดเด่นจุดด้อยของธุรกิจอยู่ตรงไหน โดยอาจเน้นการเปรียบเทียบกับกิจการที่คล้ายกันที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนที่ห้ามลืมที่สุดคือความเสี่ยงของกิจการที่จะเปิดเผยอยู่ในหนังสือชี้ชวนตราสารทุน
  • ผู้บริหาร
    กิจการถูกบริหารโดยใคร นักลงทุนอาจกดค้นหาจากเสิจเอนจิ้นต่างๆ รวมไปถึงอ่านประวัติของกิจการประกอบซึ่งก็พอจะบอกถึงลักษณะและแรงจูงใจของผู้บริหารได้
  • งบการเงิน
    กิจการมีสถานะทางการเงินอย่างไร ตรวจสอบงบกำไรขาดทุนเพื่อดูความสามารถในการทำกำไร ตรวจสอบงบกระแสเงินสดเพื่อดูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและคุณภาพกำไร และตรวจสอบงบดุลเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ โครงสร้างของเงินทุนบริษัท ถึงแม้ว่างบการเงินก่อนเข้าตลาดนั้นจะมีความละเอียดลออในการตรวจสอบน้อยกว่างบการเงินของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดแล้ว แต่งบการเงินของหุ้นไอพีโอก็ถือว่าเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ในการวิเคราะห์เลย
  • การเติบโต
    กิจการจะมีการเติบโตอย่างไรในอนาคต ข้อนี้สำคัญมากอีกเช่นกัน เนื่องจากหุ้นไอพีโอนั้นมักจะถูกชูแนวโน้มการเติบโตในอนาคตเป็นจุดขาย นักลงทุนจึงต้องทำการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการเติบโตเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจและประเมินมูลค่าต่อไป
  • มูลค่าพื้นฐาน
    กิจการนี้ควรถูกซื้อขายที่ราคาเท่าไหร่ เรื่องนี้ก็ถือเป็นหัวใจของหุ้นไอพีโอ เพราะส่วนใหญ่หุ้นไอพีโอนั้นมักจะถูกขายในราคาที่เต็มมูลค่า แต่ก็มีโอกาสที่หลายครั้ง ปัจจัยการเติบโตในอนาคตยังไม่ถูกรวมเข้ามาในราคาไอพีโอ นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมองภาพธุรกิจและการเติบโตให้ขาด เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่าราคานี้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

ส่วนการวิเคราะห์เพิ่มเติมสำหรับหุ้น IPO

  • เหตุผลของการระดมทุน
    กิจการนี้ถูกนำจดเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่ออะไร นักลงทุนต้องวิเคราะห์ถึงเหตุผลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ระดมทุนเพื่อขยายการเติบโต แบบนี้อาจเพิ่มมุมมองของการโตในอนาคต หรือถ้าระดมทุนเพื่อชำระหนี้ แบบนี้อาจมองภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงซึ่งอาจนำไปสู่มูลค่าที่สูงขึ้นได้
  • โครงสร้างการถือหุ้นก่อนและหลังระดมทุน
    กิจการนี้จะมีโครงสร้างกิจการเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากระดมทุนสำเร็จแล้ว นักลงทุนต้องพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังจดทะเบียนว่าโครงสร้างดังกล่าวเอื้อประโยชน์อย่างไรต่อการลงทุนบ้าง เช่น ผู้บริหารยังคงถือหุ้นบริษัทเยอะอยู่ แบบนี้อาจวางใจได้ว่าผู้บริหารยังมีแรงจูงใจในการทำให้บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จ แต่ถ้าผู้บริหารจะถือหุ้นน้อยลงมากหลังจดทะเบียน แบบนี้ต้องวิเคราะห์หาแรงจูงใจว่าเป็นเพราะเหตุผลไหน และผู้ที่จะเข้ามารับไม้ต่อนั้นมีศักยภาพอย่างไรบ้างในการขับเคลื่อนบริษัท
  • จิตวิทยาการลงทุน
    เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากไม่แพ้หัวข้อไหนเลยในการวิเคราะห์หุ้นไอพีโอ เพราะหุ้นไอพีโอนั้นมีจำนวนขายที่จำกัด ทำให้ความรู้สึกอยากซื้อของคนนั้นสูงขึ้นได้มากกว่าปรกติ อารมณ์ของนักลงทุนส่งเข้ามาส่งผลต่อราคาตลาดค่อนข้างมาก นักลงทุนอาจต้องวิเคราะห์ถึงจิตวิทยาตลาดที่เกี่ยวข้องในการลงทุนว่ามีผลต่อราคาหุ้นมากระดับไหน ถึงแม้ว่าสุดท้ายนักลงทุนต้องตัดสินใจตามพื้นฐานและมูลค่ากิจการ แต่การเข้าใจถึงจิตวิทยาก็พอจะช่วยให้วางแผนรับมือสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ได้

การวิเคราะห์หุ้น IPO นั้นมีข้อจำกัดคือ

ข้อมูลที่มีนั้นน้อยกว่าหุ้นที่จดทะเบียนแล้วค่อนข้างมาก ทำให้หลายครั้งการวิเคราะห์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ความยากลำบากนี้เองก็อาจจะกลายมาเป็นข้อดีเพราะข้อมูลที่จำกัดและยากที่จะเข้าถึงทำให้ตลาดอาจจะเข้าใจถึงมูลค่าของกิจการผิดไปได้และนำมาซึ่งโอกาสลงทุนของนักลงทุนนั่นเอง

หลายครั้ง IPO ย่อมาจาก It’s probably overpriced.
แต่หลายครั้ง IPO ก็ย่อมาจาก It’s probably opportunity.

ลงทุนศาสตร์ - Investerest