ใครๆ ก็พูดว่านี่คือยุคของ 'พลังงานทดแทน'

โดยเฉพาะพลังงานสะอาดนั้น ค่อนข้างชัดเจนมากในโลกธุรกิจปัจจุบัน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าที่มหาเศรษฐีอย่าง 'Elon Musk' ผลักดันจนกลายเป็นกระแสทั่วโลก ไหนจะนโยบายขนส่งปราศจากน้ำมันปิโตรเลียมที่หลายประเทศในยุโรปก็ออกปากกันมามากมายว่า ตั้งเป้าจะให้รถยนต์ในประเทศเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสะอาดหรือแบบไฮบริดจ์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงพลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรมระดับโลก ที่ประเทศจีนก็เพิ่งเปิดตัวสวนแผงโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไป

เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับหุ้นไอพีโอน้องใหม่อีกตัวหนึ่งกันคือ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP บริษัทโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ผมชอบเรียกอย่างติดตลกว่า อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนของไร้ค่าอย่างแสงแดดให้กลายเป็นเงิน

ในปี 2555 ครอบครัวไกรพิสิทธิ์กุล ได้ยื่นคำร้องและข้อเสนอเพื่อขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ในนามของ บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด (“SPN”) โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“SSP”) ซึ่งประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

  • ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย มีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้าง โซลาร์ ภายใต้การดำเนินงานของ SPN ที่ จ.ลพบุรี
  • ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย โครงการฮิดะกะ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (ยังไม่เริ่มก่อสร้าง) อีก 2 โครงการคือ โครงการยามากะ และโครงการโซเอ็น
  • ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop ประกอบด้วยโครงการ SNNP 1 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง และ SNNP 2 อยู่ระหว่างการพัฒนา

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยอีก 1 โครงการที่ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่อยู่ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2560 ซึ่งตอนนี้ได้ผ่านการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ

อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ฯลฯ

ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีรายได้หลักมาจากโครงการเสริมสร้างโซลาร์ ลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 52 เมกะวัตต์ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ โดย ณ สิ้นรอบบัญชี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 876.7 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากอัตราค่าไฟฟ้า (ค่าไฟฐานบวกค่า Ft) 285.6 ล้านบาท (32.6 เปอร์เซ็นต์) และรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ค่า Adder) 583.6 ล้านบาท (66.6 เปอร์เซ็นต์) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเป็นสัญญาประเภท Non-Firm (ไม่กำหนดปริมาณไฟฟ้าขั้นต่ำที่ต้องจ่ายให้การไฟฟ้า) มีอายุสัญญา 5 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้คราวละ 5 ปี เมื่อครบกำหนดอายุสัญญา ซึ่งได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (“Adder”) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอัตรา 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปี จากวันเริ่มต้นเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีนโยบายที่จะต่ออายุสัญญาเมื่อครบกำหนด 5 ปี จนสิ้นอายุโครงการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโครงการมีอายุประมาณ 25 ปี

ในส่วนของความสามารถในการทำกำไร จากงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 2 ปี บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 498.5 ล้านบาท และ 447.4 ล้านบาทตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 58.5 เปอร์เซนต์ และ 51.0 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

สำหรับข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน คือจำนวนหุ้นที่เสนอขายไม่เกิน 276,375,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1 บาทต่อหุ้น ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 230,375,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 46,000,000 หุ้น รวมคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะมานำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมมาลงทุน และนำไปลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ

ในส่วนของงบกระแสเงินสดย้อนหลัง 2 ปี พบว่ากระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่เป็นลบในปี 2558 กลับมาเป็นบวกในปี 2559 ส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนเป็นลบทั้ง 2 ปี โดยมีสัดส่วนสำคัญมาจากการลงทุนในอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ ในขณะที่กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเป็นบวกตามกิจกรรมการจัดหาเงินที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ขยายกิจการ

จุดเด่นทางธุรกิจ

1. มีโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี และโปร่งใส ซึ่งมีกลไกการตรวจสอบภายในและถ่วงดุลอำนาจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินธุรกิจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น

2. ดำเนินธุรกิจโดยคณะผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ บริหารงานด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ และมีแนวทางการบริหารงานที่กระชับ มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและมีความยืดหยุ่น สามารถปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว

3. ผู้บริหารมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการศึกษา พัฒนา และลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการที่เลือกลงทุนนั้น สามารถพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ พร้อมทั้งได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์

4. ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น พร้อมทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

5. มีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีแผนการพัฒนาโครงการในอนาคตแล้ว 114.1 เมกะวัตต์

6. มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอน จากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือ และมีโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง ภายใต้การรับประกันประสิทธิภาพต่างๆ ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์

ความเสี่ยงทางธุรกิจ

เนื่องจากปัจจุบัน SSP เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก บริษัทฯ จึงมีความเสี่ยงหลายอย่างที่เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา อาทิ ความเสี่ยงที่แสงแดดจะมีความเข้มน้อยกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีข้อได้เปรียบตรงจุดนี้เพราะแสงแดดแรง จากทำเลที่ตั้งประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ความเสี่ยงที่แผงโซลาร์เซลล์จะเสื่อมเร็วกว่ากำหนด โดยตรงนี้บริษัทฯ ก็มีการรับประกันจากผู้รับเหมาในเรื่องอายุการใช้งาน ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งบริษัทฯ มีการทำประกันภัยไว้ตามความเหมาะสม รวมไปถึงความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงในการดำเนินงาน และความเสี่ยงจากปัญหาทางกฎหมาย

จากที่กล่าวมานี้ หุ้นโรงไฟฟ้าจึงถือเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่มองเห็นภาพอนาคตได้ชัดเจน เนื่องจากสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐนั้น เป็นเครื่องการันตีอย่างดีถึงรายได้ที่มั่นคงในอนาคต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาถึงโอกาสที่โครงการจะล่าช้า เพื่อนำไปปรับในการประเมินมูลค่าได้อย่างเหมาะสม

บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการลงทุนของผู้ลงทุนที่สนใจหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยบทความฉบับนี้ไม่มีเจตนาแนะนำซื้อ ถือ หรือขาย เพียงแต่ช่วยทำการสรุปหนังสือชี้ชวนตราสารทุนมาเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและสะดวกต่อการนำไปใช้งานต่อได้

อ่านหนังสือชี้ชวนตราสารทุนฉบับเต็มได้ที่ http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=113961

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

บทความนี้เป็น Advertorial