ZEN หรือ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คือบริษัทที่ประกอบธุรกิจ Food Services และเป็นเจ้าของเครือร้านอาหารชื่อดังมากมาย ยกตัวอย่างร้านอาหารเรือธง เช่น ZEN AKA On the Table ตำมั่ว และลาวญวน โดยความน่าสนใจล่าสุดคือ ZEN กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะธุรกิจประเภท Food Services เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างมีโครงสร้างทางอุตสาหกรรมดี และเป็นกิจการที่นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานมักให้ความสนใจ

บริษัทฯ มีแบรนด์อยู่ในเครือทั้งสิ้น 12 แบรนด์ และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีสาขารวมทั้งของกลุ่มบริษัทฯ และสาขาแฟรนไชส์ ทั้งในและต่างประเทศทั้งสิ้น 255 สาขา โดยแต่ละแบรนด์มีการเจาะกลุ่มตลาดแตกต่างกันออกไป 

ฝั่งแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นจะมี ZEN เป็นแบรนด์เรือธง เน้นขายอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม เจาะกลุ่มครอบครัวและคนทำงานที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง, AKA เป็นร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น (ซี่โครงหมูหมาล่าอร่อยมาก พิมพ์ไปน้ำลายไหลไป) เจาะกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน กลุ่มเพื่อน และครอบครัวรุ่นใหม่ มีบุฟเฟต์เข้ากับไลฟ์สไตล์คนสมัยนี้ และ On the Table เป็นร้านอาหารไลฟ์สไตล์ อาหารหลากหลาย บรรยากาศดี เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มเพื่อน พนักงานออฟฟิศ และครอบครัวรุ่นใหม่ ทั้ง 3 แบรนด์ดังนี้มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อครั้งอยู่ในช่วง 400 – 500 บาท 

ในขณะที่ฝั่งแบรนด์ร้านอาหารไทย มีแบรนด์เรือธงที่โดดเด่นและเป็นที่นิยมมากคือ ตำมั่ว เน้นอาหารรสชาติไทยอีสาน ส้มตำเนื้อๆ ปลาร้าเน้นๆ จุดเด่นคือราคาไม่แพง แข่งขันกับร้านอาหารอีสานขนาดใหญ่นอกห้างได้สบาย การใช้จ่ายต่อหัวต่อครั้งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250 บาท ตรงนี้เจาะกลุ่มตลาดกว้างมาก จำนวนสาขาเยอะ และชื่อเสียงร้านก็เป็นที่นิยม

ธุรกิจของ ZEN แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ ธุรกิจแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจอาหารค้าปลีก หรือ Food Retail ซึ่งบริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการจำหน่ายในร้านอาหารมาต่อยอดเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ทั้งน้ำปลาร้าปรุงรส น้ำจิ้มแจ่ว แจ่วบอง หมี่มั่ว ซึ่งจะมีการขยายช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต

และเนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้พัฒนาร้านอาหารที่เป็นแบรนด์ตนเอง จึงไม่มีต้นทุนค่าซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากการขายแฟรนไชส์อีกด้วย  โดยในส่วนสาขาที่เป็นของแฟรนไชส์ บริษัทฯ จะได้ค่าตอบแทนในรูปแบบของ (1) Initial Fee หรือค่าธรรมเนียมเก็บครั้งแรกครั้งเดียว (2) Royalty Fee หรือค่าธรรมเนียมเรียกเก็บรายเดือนเป็นอัตราร้อยละจากยอดขายของสาขา และ (3) Marketing Fee หรือค่าธรรมเนียมค่าการตลาดที่เรียกเก็บรายเดือนเป็นอัตราร้อยละจากยอดขายของสาขาเช่นกัน โดยระยะเวลาสัญญาแฟรนไชส์จะอยู่ที่ประมาณ 5  ปี

จากโครงสร้างรายได้รวมสังเกตว่า รายได้หลักของบริษัทฯ มาจากร้านสาขาของกลุ่มบริษัทฯ เอง โดยสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2561 แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นกินสัดส่วนรวม 81.2% ของรายได้รวม ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ เลยก็ว่าได้ ในขณะที่แบรนด์ร้านอาหารไทยกินสัดส่วนรวม 9.4% ของรายได้รวม แต่สังเกตว่ารายได้ส่วนนี้เติบโตค่อนข้างดี ส่วนรายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์ถือว่ากินสัดส่วนไม่มาก โดยเป็นปกติของลักษณะธุรกิจ เพราะรายได้จากแฟรนไชส์จะได้ในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่อัตราการทำกำไรสูง

ในแง่ของงบกำไรขาดทุน พบว่าในช่วงปี 2558 – 2560 รายได้ของบริษัทฯ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่กำไรสุทธิของบริษัทฯ ลดลง

จากเหตุผลสำคัญคือ บริษัทฯ มีการการเตรียมความพร้อมด้านระบบบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งการเพิ่มบุคลากรและการลงทุนด้านระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ  รวมทั้งทำการตลาดเพื่อสร้าง Brand Awareness ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการในเครือแบรนด์ตำมั่ว จึงทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯ ลดลง 

อย่างไรก็ตาม งบการเงินในรอบ 9 เดือนของปี 2561 ก็มีการฟื้นตัวของอัตราการทำกำไรที่ดีมากขึ้น โดยอัตรากำไรสุทธิขึ้นมาอยู่ที่ 4.9% เมื่อเทียบกับ 2.7% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

หากบริษัทฯ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและสร้างความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นเช่นนี้แล้ว อัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

โดยภาพรวมแล้วธุรกิจ ZEN ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีก ด้วยจุดแข็งสำคัญคือแบรนด์ที่มีศักยภาพสูง โดยกลุ่มบริษัทฯ มีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่หลากหลาย เจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับตั้งแต่ผู้มีรายได้ขั้นต้นถึงสูง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการปรับตัวด้วยการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารไทยที่เจาะตลาดกว้าง อย่างตำมั่วเข้ามาเสริมทัพ ช่วงเวลา 3 ปีนี้ก็เห็นได้ชัดว่าบริษัทฯ กำลังเร่งขยายการเติบโตผ่านแบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามา ผ่านช่องทางใหม่ ตลาดใหม่ และการทำการตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากฐานฝ่ายงานสนับสนุนที่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ทำให้ ZEN พร้อมสำหรับการเติบโต

ธุรกิจร้านอาหารถึงแม้ไม่ใช่ธุรกิจที่ผูกขาดหรือสามารถครองตลาดได้อย่างกินรวบ แต่ก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสวยงามในตนเอง เพราะเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันผ่านการสร้างแบรนด์อย่างเด่นชัด สินค้าและบริการมีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่นอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ ร้านอาหารขายประสบการณ์การทานอาหารในสังคมปัจจุบันที่การเข้าร้านอาหารเหมือนเป็นการพักผ่อนประเภทหนึ่ง เราได้กินอาหาร ได้ใช้เวลา ได้สร้างประสบการณ์ในบรรยากาศที่เราพึงพอใจ ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งอีกอย่างที่ธุรกิจแนวออนไลน์หรือ e-commerce ยากที่จะมาทดแทนหรือ disrupt ธุรกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์

ตอนนี้ ZEN ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เสนอขายหุ้นแล้ว ใครอยากติดตามข้อมูลของ ZEN เพิ่มเติมก็สามารถไปดาวน์โหลดข้อมูล filing ของบริษัทฯ มาอ่านกันแบบเต็มๆ ได้ที่ http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=225149

เขียนไปก็น้ำลายไหลไป ท่าทางเขียนเสร็จเย็นนี้ต้องแวะร้านตำมั่วสักหน่อยแล้ว!

ลงทุนศาสตร์ - Investerest