ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่เริ่มต้นทำงานหลังจากจบการศึกษา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตเพื่อก้าวสู่เส้นทางอิสระทางการเงิน จากวันวานที่ได้เงินค่าขนมจากทางบ้าน ก็เข้าสู่การหารายได้ด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่า สามารถใช้เงินได้ตามต้องการโดยไม่กังวลอีกต่อไป
ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่ากับช่วงเวลาที่ได้รับเงินเดือนก้อนแรก และไม่น่าแปลกใจหากหลายคนกำลังคิดเกี่ยวกับทุกสิ่งที่ต้องการซื้อ เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด เสื้อผ้าแรร์ไอเทม รถยนต์คันแรก แผนการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดยาว หรือการมีบัตรเครดิตใบแรกของชีวิต
อย่างไรก็ตาม การหารายได้ด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะนำมาซึ่งความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่อาจคาดไม่ถึง ดังนั้น หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีอาจ “ตกม้าตาย” ตั้งแต่ได้เงินเดือนก้อนแรก
สำหรับขั้นตอนง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอนจะช่วยให้เด็กจบใหม่จัดการการเงินได้อย่างถูกต้อง กับ สิ่งที่ต้องเจอ “ครั้งแรก” มีดังนี้
(1) การจัดทำงบประมาณ…ครั้งแรก
ถึงแม้การทำงบประมาณอาจเป็นเรื่องไม่สนุก โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ แต่ถ้าต้องการวางแผนการเงินให้ราบรื่นในระยะยาวก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำ ด้วยการเริ่มต้นระบุแหล่งรายได้ทั้งหมด เช่น เงินเดือน รายได้พิเศษ แล้วทำ รายการค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้พ่อแม่ เงินเก็บออม จากนั้นก็จัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ค่าซื้อหนังสือ ค่าสังสรรค์ เป็นต้น ที่สำคัญต้องติดตามค่าใช้จ่ายสม่ำเสมอ และปรับปรุง (ถ้าจำเป็น) เพื่อให้เป็นไปตามแผน
สำหรับวิธีการแบ่งรายจ่ายก็ควรให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น สูตร 50/35/15
50% = ค่าใช้จ่ายคงที่
35% = ค่าใช้จ่ายผันแปร
15% = เก็บออม
(2) เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน…ครั้งแรก
ทุกคนควรมีเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน เป็นเงินก้อนแรกในชีวิต เพื่อจะได้นำมาใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และต้องใช้เงินโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ตกงาน เจ็บป่วย โดยปกติเงินก้อนนี้ควรมี 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท ควรมีเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน 15,000 - 30,000 บาท วิธีการเก็บเงิน คือ นำไปฝากไว้กับบัญชีออมทรัพย์ เพราะสามารถฝากถอนได้สะดวก รวดเร็ว
(3) จัดการหนี้...ครั้งแรก
หากมีการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็ต้องวางแผนจ่ายหนี้คืน ด้วยการทำความเข้าใจเงื่อนไข ดอกเบี้ย ระยะเวลาการจ่ายหนี้ หรือถ้ามีหนี้อื่นๆ ก็ต้องรวบรวมหนี้เพื่อให้เห็นจำนวนหนี้ทั้งหมด จากนั้นก็วางแผนว่าจะแบ่งเงินเพื่อจ่ายหนี้เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม โดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม เด็กจบใหม่ไม่ควรก่อหนี้ แต่ควรสร้างความมั่งคั่งให้เข้มแข็งก่อน อาจตั้งเป้าหมายส่วนตัวเอาไว้ เช่น 5 ปีแรกจะไม่ก่อหนี้เด็ดขาด เป็นต้น
(4) เป็นหนี้…ครั้งแรก
คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ ถ้ามีเงินมากพอ ยิ่งในยุคสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะห้ามไม่ให้ก่อหนี้ยังไง ก็เหมือนกลายเป็นยิ่งยุ เพราะแค่มีเงินเดือนเข้ากระเป๋า เราก็จะกลายเป็นคนมีเครดิตทันที และสามารถเข้าถึง บัตรเครดิต ไว้ผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% หรือสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อขอกู้เวลาขัดสน ต้องบอกแบบนี้ว่า “การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด” แต่ต้องเป็นหนี้ให้ถูกประเภท เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้เข้ามา และต้องจัดการให้ดี อย่าเป็นหนี้เกินตัว โดยสัดส่วนหนี้ต้องไม่เกิน 60% ของรายได้ต่อเดือน ไม่อย่างนั้นจะลำบากเอา
(5) กำหนดเป้าหมายทางการเงิน...ครั้งแรก
จริงๆ แล้วเด็กจบใหม่วัยทำงานควรระบุเป้าหมายทางการเงินให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าเราจะทำงานเก็บเงินไปเพื่ออะไร โดยเป้าหมายระยะสั้น เช่น ปลดหนี้ให้หมดภายใน 1 ปี, เก็บเงินเพื่อซื้อมือถือให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับเป้าหมาย ระยะกลาง เช่น เก็บเงินเพื่อดาวน์คอนโดมิเนียมให้ได้ภายใน 3 ปี สำหรับเป้าหมายระยะยาว เช่น เก็บเงินเพื่อแต่งงานเมื่ออายุครบ 35 ปี หรือเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น
(6) ออมเพื่อเกษียณ…ครั้งแรก
หลายคนอาจมองว่าการออมเพื่อวัยเกษียณยังไม่ต้องรีบทำ เพราะเป็นเรื่องของวัย 40 ปีขึ้นไป ความจริงแล้วถ้าเริ่มออมเพื่อเกษียณให้เร็วที่สุดจะทำให้มีอิสรภาพการเงินเร็วขึ้น โดยเทคนิคเบื้องต้น คือ ถ้าทำงานบริษัทเอกชน ควรออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถ้าเป็นข้าราชการก็ผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ก็ออมเงินเพื่อเกษียณผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
นอกจากนี้ ควรแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนด้วยตัวเอง เช่น หุ้น กองทุนรวม ทองคำ เช่น ถ้าเริ่มเก็บออมอายุ 25 ปี และเกษียณอายุ 60 ปี แสดงว่ามีเวลาเก็บออม 35 ปี (420 เดือน) สมมติว่าเก็บออมเดือนละ 1,000 บาท ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เมื่อถึงวันเกษียณจะมีเงิน 1,136,092 บาท
(7) เรียนรู้และลงทุน...ครั้งแรก
นอกจากตั้งหน้าตั้งตาทำงานแล้ว ควรแบ่งเวลาศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ทำความเข้าใจตัวเลือกการลงทุนต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง เช่น หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และควรเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเป้าหมายระยะยาว
เมื่อลงทุนไปสักระยะหนึ่ง สถานการณ์และราคาสินทรัพย์อาจเปลี่ยนแปลง และทำให้น้ำหนักของสินทรัพย์บางประเภทมากหรือน้อยเกินไป ก็ควรปรับพอร์ตลงทุน เพื่อให้สัดส่วนพอร์ตลงทุนโดยรวมกลับไปเท่ากับสัดส่วนตอนตั้งต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้เช่นกัน
(8) ทำประกัน…ครั้งแรก
นอกจากการออมเพื่อวัยเกษียณที่เด็กจบใหม่มักไม่ให้ความสำคัญ การซื้อประกันก็เป็นอีกประเด็นที่เด็กจบใหม่มองว่าไม่ต้องรีบร้อน แต่ความจริงการทำประกันจะทำให้สามารถปกป้องเป้าหมายการเงินในระยะยาวได้
โดยประกันชีวิตแบบตลอดชีพ จะเหมาะสมที่จะเป็นประกันฉบับแรกในชีวิต เพราะมีระยะเวลาจ่ายคืนที่แน่นอน ทำให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับต่ำและเบี้ยประกันจะคงที่ตลอดอายุสัญญา เข้าใจง่าย ยืดหยุ่นสูง เหมาะกับเด็กจบใหม่ รายได้แต่ละเดือนยังไม่เยอะ อีกทั้ง ประกันชีวิตแบบตลอดชีพถือเป็นช่องทางการออมเงินด้วย เพราะเงินที่จ่ายเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะคืนตอนครบกำหนด เช่น เลือกจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี ปีละ 20,000 บาท (รวมเบี้ยประกันที่ส่ง 400,000 บาท) และเมื่อถึงอายุ 90 ปี จะได้ทุนประกันคืน 1 ล้านบาท (กรณีไม่เสียชีวิต) หมายความว่า จ่ายเงิน 4 แสนบาท แต่ได้เงิน 1 ล้านบาท
(9) ยื่นภาษีเงินได้...ครั้งแรก
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่ากรมสรรพากรจะมีการปรับปรุงภาษีเงินได้ส่วนบุคคลตลอดเวลา จึงควรทำความเข้าใจว่ารายการภาษีไหนที่สามารถลดหย่อนหรือเครดิตได้ โดยติดตามว่าประเด็นไหนที่มีผลกระทบต่อรายได้ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพการขอคืนภาษี และแน่นอนว่า เมื่อมีเงินเดือนประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป ทุกคนต้องยื่นภาษี แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม และถ้าวันหนึ่งรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ ก็ต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมว่า มีตัวช่วยอะไรบ้างที่จะทำให้เราประหยัดภาษีได้บ้าง ซึ่งต้องวางแผนให้ดี
(10) จัดลำดับการใช้เงินและใช้ชีวิต...ครั้งแรก
เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องง่ายที่จะตกหลุมพรางของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงควรระมัดระวัง ในการดำเนินชีวิตและสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ด้วยการให้ความสำคัญการออมและการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางการเงินในระยะยาว
การวางแผนทางการเงินเป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่อง มีระเบียบวินัย ตัดสินใจอย่างรอบรู้ ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นเร็วและถูกวิธี สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ตัวเอง จะสามารถวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับอนาคตทางการเงินได้