หากมองไปรอบตัว จะพบว่ามีการสื่อสารการตลาดมากมาย ที่ตั้งใจดึงเงินออกจากกระเป๋าพวกเรา แต่จะมีสักกี่คนที่มีสติพอที่จะไม่หลงไปกับการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น

เมื่อชอปปิ้งออนไลน์และเห็นข้าวของมาส่งแทบวันเว้นวัน หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริง ๆ แล้วข้าวของเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่อยากได้ตามกระแส

จากนั้นก็จะมีคำถามตามมาว่า เงินที่จ่ายซื้อข้าวของเป็น “รายจ่ายที่ต้องการจ่ายจริง ๆ หรือไม่” ซึ่งโดยส่วนตัวของผู้เขียน รายจ่ายมี 2 ประเภท คือ รายจ่ายเพื่อการลงทุนและรายจ่ายเพื่อการออม

รายจ่ายเพื่อการลงทุน

เป็นคำพูดที่ดูจะกว้างและลึกในหลายมิติและหลายคนก็รู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้ตระหนักว่ารายจ่ายในส่วนนี้เป็นรายจ่ายที่จ่ายให้ตัวเองในอนาคต ซึ่งอาจจะเลือกลงทุนได้ทั้งสองรูปแบบ

(1) การลงทุนในทรัพย์สินที่จับต้องได้

สามารถหาประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินนั้นได้อย่างชัดเจน เช่น บ้าน รถยนต์ เพชรพลอยอัญมณี และของมีค่าอื่น ๆ เรียกการลงทุนแบบนี้ว่าว่า การลงทุนแบบ Tangible Investment

(2) การลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ

เช่น หุ้น พันธบัตร ตราสารการเงินอื่น ๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย เงินปันผล หรือกำไรจากส่วนต่างของราคา หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เรียกการลงทุนแบบนี้ว่า การลงทุนแบบ Intangible Investment

รายจ่ายเพื่อการออม

แม้จะเคยได้ยินพ่อแม่บอกพวกเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่ารู้จักเก็บออม เผื่ออนาคตจะได้ไม่ลำบาก

ตัวอย่างการออมอย่างง่าย ๆ เช่น ออมเงินในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้ทุก 6 เดือน

ถ้าออมปีละ 360 บาท หรือ 180 บาท ทุก ๆ 6 เดือน (เฉลี่ยเดือนละ 30 บาท วันละ 1 บาท)

ผ่านไป 1 ปี จะมีเงิน = 360.45 บาท
ผ่านไป 10 ปี จะมีเงิน = 3,686.80 บาท
ผ่านไป 20 ปี จะมีเงิน = 7,562.38 บาท
ผ่านไป 30 ปี จะมีเงิน = 11,636.41 บาท

จะเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก ทีนี้ลองมาดูว่าถ้าเราเพิ่มเงินออมมากขึ้น

ด้วยการออมปีละ 3,600 บาท หรือ 1,800 บาท ทุก ๆ 6 เดือน (เฉลี่ยเดือนละ 300 วันละ 10 บาท)

ผ่านไป 1 ปี จะมีเงิน = 3,604.50 บาท
ผ่านไป 10 ปี จะมีเงิน = 36,867.96 บาท
ผ่านไป 20 ปี จะมีเงิน = 75,623.77 บาท
ผ่านไป 30 ปี จะมีเงิน = 116,364.08 บาท

จะเห็นว่าถ้าออมเงินวันละ 10 บาท สามารถมีเงินหลักแสนได้และถ้าเก็บเงินวันละ 100 บาท จะมีเงินหลักล้านได้หรือไม่

ถ้าออม ปีละ 36,000 บาท หรือ 18,000 บาท ทุก ๆ 6 เดือน (เฉลี่ยเดือนละ 3,000 วันละ 100 บาท)

ผ่านไป 1 ปี จะมีเงิน = 36,045.00 บาท
ผ่านไป 10 ปี จะมีเงิน = 368.679.62 บาท
ผ่านไป 20 ปี จะมีเงิน = 756,237.67 บาท
ผ่านไป 30 ปี จะมีเงิน = 1,163,640.83 บาท

จะเห็นว่าออมเงินวันละ 100 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ผ่านไป 30 ปี ก็มีเงินล้านได้ สบายๆ

สมมติว่าถ้าหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้ระดับ 3 - 5% เงินออมจะงอกเงิยมากแค่ไหน

ถ้าออมเงิน 18,000 บาท ทุก ๆ 6 เดือน ให้ได้ผลตอบแทนที่ 5% ผ่านไป 30 ปี จะมีเงิน 1,594,341.14 บาท จะเห็นว่ายิ่งระยะเวลาในการลงทุนนาน ประกอบกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จะทำให้เงินออมของเราเพิ่มพูนมากขึ้นตามไปด้วย

มาถึงตรงนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่าเมื่อหักค่าใช้จ่ายในแต่ละวันก็แทบไม่เหลือเงินเพื่อมาเก็บออมและลงทุน คำตอบ คือ การเก็บเงินวันละ 100 บาท เป็นไปได้ ด้วยการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ลดการช็อปปิ้ง หยุดการซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หยุดการทานข้างนอกบ้าน จากนั้นก็นำเงินนำเก็บออมและลงทุน และเมื่อมีวินัยในการวางแผนการเงิน อีกไม่กี่ปีจะได้หยิบเงินล้านแน่นอน

เขียนโดย: กิติชัย เตชะมโนกุล ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM