สวัสดีคร้าบ วันนี้กลับมาพบกับผม หมอนัท คนดี คนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ “บทความใหม่” คราวนี้มาพบกับทบความแบบสบาย ๆ ง่าย ๆ แต่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมองข้าม และคนส่วนใหญ่มีปัญหากับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมือใหม่ 

ส่วนมือเก๋า บางปัญหาที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ก็ยังมีบางคนที่ยังคงเป็นอยู่ หรือบางครั้งอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ครับ ก็เลยถือโอกาสออกบทความ ทบทวนกันสักนิดเพื่อให้ใครหลายๆ คนได้ทราบถึงแนวทาง แนวคิดการลงทุนที่ถูกต้องมากขึ้นครับ

แต่ความผิดพลาดเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจผิด จากความไม่เข้าใจในประเภท หรือ องค์ประกอบของกองทุน เช่น NAV หรือ การปันผลของกองทุน ซึ่งคราวนี้ เป็นปัญหาที่เราพบได้บ่อย ๆ กับการลงทุนในกองทุนรวมของนักลงทุนเองที่ซื้อกองทุนรวมแบบไม่มีวินัย และคนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปก็คือ

1. ซื้อกองทุนที่ไม่เหมาะกับตนเอง

ปัญหานี้ ผมมักจะพบได้ในช่วง 2-3 ปีมานี่เอง เนื่องจากเป็นช่วงที่กองทุนต่างประเทศ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะลงทุนตามคำบอก หรือ คำแนะนำของ บลจ. ที่ออกกองทุน และมักจะลืมไปว่า ความเสี่ยงของกองทุนที่เราจะลงทุนนั้น สูง ขนาดไหน หรือ มีสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับ แนวคิด หรือ นิสัยการลงทุนของเราหรือไม่ครับ

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความโลภ เข้าบังตา บังใจอยู่นั่นเองครับ(55+)  เนื่องจากกองทุนเหล่านี้ มีผลตอบแทนย้อนหลังที่ดูดี และก็ยังมีความน่าสนใจจากแนวโน้มของการเติบโตในบางอุตสาหกรรม หรือ บางประเทศด้วย(ซึ่งจริง หรือไม่จริง ก็ไม่รู้) หรือ บางคนก็ลงทุนเพราะว่า ความเท่ห์ เพราะว่าใคร ๆ ก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศทั้งนั้น (ไม่ไป ไม่ลงทุนก็เหมือนจะตกเทรนด์) 

ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าจะลงทุนไม่ได้ เพียงแต่เราต้องเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเราด้วย

แนวคิด และวิธีการแก้ไข

หากองทุนที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งคำว่า “เหมาะสม” นั้นหมายถึง

1.1 เข้าใจสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้นว่า มีการลงทุนแบบไหน เช่น ซื้อแล้วถือยาว หรือ มีกระบวนการเลือกหุ้น หรือ สินทรัพย์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในกองทุนอย่างไร ถูกใจ หรือ โดนใจเราหรือว่าไม่

1.2 ความเสี่ยงไม่สูงมากเกินไปกว่าที่เราจะรับได้ ยกตัวอย่างเช่น กองทุน Healthcare ที่มีความเสี่ยงสูง แต่นักลงทุนมักจะเข้าใจว่าเป็นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ซึ่งไม่ใช่เลย เนื่องจาก Healthcare ในต่างประเทศ ไม่ได้หมายถึงกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่ม โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการลงทุนในบริษัทยา หรือ บริษัทที่ผลิต วัคซีน รวมถึงกลุ่ม Biotechnology ที่มีความเสี่ยงสูงครับ

2. ซื้อกองทุนมากเกินไป

ณ FB คลินิกกองทุน

นาย B: พี่หมอครับ ผมมีปัญหากองทุนมาถามครับ

หมอนัท : ครับ

นาย B : ผมมีกองทุนอยู่ 20 กองทุนครับ ผมสนใจจะซื้อเพิ่ม ไม่รู้ว่ามีกองทุนไหนที่น่าสนใจบางไหมครับช่วงนี้ รบกวนหน่อยนะครับ ส่วนกองทุน AAA ผมขาดทุนอยู่ทำไงดี และกองทุน BBB กำลังขึ้นมาขายได้ไหมครับ กองทุน CCC ก็ดีนะครับ แต่ทำไมช่วงนี้ผันผวนจัง……….etc….. จนถึงกองทุนที่ 20

หมอนัท : อ่อ...น้องครับ นี่จะเล่มเกมส์ 20 คำถามกับพี่เหรอ ...(พยายามสงบใจ) น้องขายเหอะครับเชื่อพี่ เอาให้เหลือ 3-4 กองทุนก็พอแล้วนะครับ…..หรือไม่ก็ไปซื้อกองทุนดัชนี หรือ passive fund น่าจะดีกว่าครับ

นาย B : อ่อ… ขอบคุณครับ 

(จากนั้นผมก็ไม่เห็นน้องคนนี้มาถามอีกเลย)

นี่ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นนะครับ อันนี้เป็นเรื่อง ผมเชื่อว่าหลายคนรักพี่เสียดายน้อง กองทุนประเภทเดียวกัน เช่นกองทุนหุ้น ก็มีหลายกองทุน กองทุนตราสารหนี้ก็มีหลายกองทุน เพราะว่าใคร ๆ ก็บอกว่ากองทุนนั้นดี กองทุนนี้ดี และเราก็ลงทุนโดยกลัวที่จะเสียโอกาส ซึ่ง ไม่ใช่หลักการลงทุนที่ดีเลย

ลองนึกดูง่าย ๆ นะครับ อย่างกองทุนหุ้นเอง บางกองทุนก็ไปลงทุนในหุ้นตัวเดียวกัน ยิ่งเราซื้อกองทุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสซ้ำกันเท่านั้นครับ เช่นกองทุนAA อาจจะมีหุ้น 30 ตัว ซึ่งซ้ำกับกองทุน BB ประมาณ 10 ตัว เรามีกองทุนแบบนี้มากขึ้น 5 กองทุน หุ้นที่อยู่ในกองทุนก็ซ้ำกันเกิน 30 กองทุนแล้วครับ ซึ่งถ้าพิจารณาดี ๆ เราไปลงทุนในกองทุน SET50 หรือ กองทุนแบบ Passive Fund อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแพง ๆ นั่นเองครับ

แนวคิด และวิธีการแก้ไข

เลือกกองทุนที่ดี ที่เราชอบมาเพียง 2 กองทุนต่อประเภทกองทุน ก็เพียงพอแล้ว เช่นกองทุนหุ้น 2 กองทุน กองทุนตราสารหนี้ 2 กองทุน ซึ่งถ้าจะให้กระจายความเสี่ยงมากขึ้น ก็ให้เราเลือกกองทุนที่มีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน เช่นกองทุนนึงเน้น Buy and Hold อีกกองทุนเน้นการซื้อ-ขาย เป็นต้น

3. เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้นเฉพาะตอนที่กองทุนมีกำไร

แน่นอนครับ ใคร ๆ ก็อยากที่จะรวยเร็ว รวยแรง รวยสุด ๆ แต่การทุ่มเงินลงทุนมากเกินความจำเป็นก็อาจจะทำให้ เราผิดพลาดได้เช่นกัน โดยคนส่วนใหญ่มักจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากขึ้น เมื่อเห็นว่ากองทุนที่ตนเองลงทุนอยู่นั้น เริ่มทำผลตอบแทนได้ดี ได้สูงมากขึ้น 

ผลก็คือได้ของแพงจำนวนมากมาอยู่ในมือ ประกอบกับในขณะนั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ราคาหุ้นที่อยู่ในกองทุนขึ้นมามากจนถึงจะอิ่มตัว หรือ มากกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก ๆ แน่นอนว่ามีโอกาสที่กองทุนจะปรับตัวลดลงมาได้มากเช่นกันครับ สุดท้ายเราก็เกิดอาการ หรือ สภาวะติดดอย และเป็นดอยที่สูงเสียด้วยครับ T-T

แนวคิด และวิธีการแก้ไข

เนื่องจากการลงทุนกับกองทุน ไม่เหมาะกับการเก็งกำไรเสียเท่าไหร่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย หรือ ค่าธรรมเนียมค่อนข้างแพง ถ้ามีการซื้อ-ขายบ่อย ๆ ก็อาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้นก็ควรที่จะคิดเสมอว่า การลงทุนในกองทุนอาจจะไม่ทำให้เรารวยเร็ว รวยแรงได้ แต่การลงทุนในกองทุนนั้นเหมาะกับการลงทุนระยะยาวครับ เมื่อนักลงทุนเลือกกองทุนที่ถูกใจได้แล้ว จะแบ่งเป็น 2 กรณี

3.1 ถ้าลงทุนเป็นเงินก้อน ให้มีการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมไม่ผันผวนมากนัก และควรมีการทำ rebalancing พอร์ตการลงทุน อยู่ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี

3.2 ถ้าลงทุนแบบทยอยลงทุน ให้ทำการ DCA กองทุนรวมหุ้นที่เราสนใจจะทำให้เราได้ราคาเฉลี่ยที่ดี และช่วยให้ง่ายต่อการวางแผนการเงิน ให้บรรลุตามเป้าหมายได้ดีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยวินัยในการลงทุนอย่างมาก และใช้เวลานาน

4. ชอบซื้อกองทุนออกใหม่

เดี๋ยวนี้มีกองทุนออกมาใหม่กันมากมาย หลายคนก็มักจะชอบกองทุนที่ออกมาใหม่ โดยเฉพาะกองทุนแบบ FIF

เนื่องจากมีการโปรโมทจาก บลจ. และส่วนใหญ่ก็มักจะมีมุมมองทางเศรษฐกิจมาส่งเสริมให้ดูน่าลงทุนกับกองทุนใหม่ ๆ ก็ทำให้นักลงทุนหลายท่าน แห่กันไปซื้อกองทุนที่เปิดใหม่เหล่านี้ โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเสี่ยง หรือ ลงทุนทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าใจว่ากองทุนนั้นไปลงทุนกับหุ้น หรือสินทรัพย์อะไรบ้าง ทำให้หลาย ๆ ครั้ง ลงทุนไปแล้ว เกิดอาการติดดอย (อีกแล้ว) 

แนวคิด และวิธีการแก้ไข

นึกไว้เสมอว่า “ของใหม่” อาจจะไม่ใช่ “ของดี”

ในกรณีที่ของใหม่มาก ๆ ประมาณว่าเพิ่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแระ หรือ เป็นกองทุนที่ไม่มี master fund(ถ้าเป็น FIF) อาจจะต้องพิจารณาให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยดูจากคนที่มาเป็นผู้จัดการกองทุน สอบถามถึงประวัติการบริหารกองทุนเดิม หรือ ถ้าเป็นไปได้ ให้ “รอดูผลงานการลงทุน” ก่อนที่จะลงทุน ตราบใดที่เงินยังอยู่ในมือเรา มันไม่ได้หายไปไหนครับ ดังนั้น ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามกว่าแน่นอนในกรณีนี้

ส่วนถ้าเป็นกองทุนที่เป็น FIF และมีกองทุน Master Fund แล้วละก็ ก็ให้ไปย้อนดูว่า กองทุน Master Fund นั้น มีประวัติอย่างไร บริหารได้ดีไหม

อย่าลืมว่า กองทุนต่างประเทศแบบนี้ มีค่าธรรมเนียม 2 ต่อ (ทั้งในและต่างประเทศ) มีเรื่องค่าเงินเข้ามาเกี่ยวด้วย และ กองทุนในไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกทีนั้น บางทีก็มีการดำเนินนโยบายไม่เหมือนกับกองทุน Master Fund ในต่างประเทศก็เป็นไปได้ครับ ดังนั้น ผลตอบแทนของกองทุนในไทยนั้น อาจจะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าที่เห็นในกองทุน Master Fund ในต่างประเทศก็เป็นไปได้ครับ ดูดี ๆ นะครับ

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญของการลงทุน ไม่ใช่เพียงแค่ปล่อยให้เป็นภาระแก่ผุ้จัดการกองทุนในการบริหารเงินลงทุนของเรา เพราะว่า ผู้จัดการกองทุนเอง ก็ยังผิดพลาดได้ครับ

การลงทุนเองก็มีความเสี่ยงที่ไม่ว่าใครก็ต้องเจอต่อให้เป็นคนเก่งมีประสบการณ์ก็ตามที่ ดังนั้นนักลงทุนเองก็ต้องระมัดระวังการลงทุน อย่าใจร้อน และต้องคอยติดตามการลงทุนด้วยนะครับ