สวัสดีครับกลับมาพบกับ ผมหมอนัท ประจำคลินิกกองทุนแห่งนี้กันอีกครั้งนะครับ 

ในช่วงนี้ มีหลายท่านเลยครับ ที่อยากจะเริ่มการลงทุนกับกองทุนรวม และจำนวนนักลงทุนในกองทุนรวมเองก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยกองทุนที่น่าสนใจก็มักจะเป็นกองทุนหุ้น ,กองทุนหุ้นต่างประเทศตามที่หลาย ๆ บลจ. แนะนำกัน

เรียกได้ว่า กองทุนเหล่านี้ฮอทฮิตกันในหมู่นักลงทุนทั่วไปเลยทีเดียว !!!

ส่วนรูปแบบกองทุนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ มักจะชอบและให้ความสนใจมากก็คือ “กองทุนปันผล” ครับ เนื่องจากว่าเสน่ห์ของกองทุนปันผลนั้น คือ “กระแสเงินสด” ที่มีออกมาให้กับผู้ลงทุนนั้นเอง แต่จากประสบการณ์ของผม มีหลายท่านอาจจะเข้าใจว่า “กองทุนหุ้นปันผลมีความเสี่ยงที่น้อยกว่า” กองทุนไม่ปันผล

ซึ่งผมคงต้องบอกว่า “ไม่ใช่”ครับ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว กองทุนทั้งสองประเภทนั้น “มีความเสี่ยงที่เท่ากัน” เนื่องจากว่ากองทุนทั้ง 2 ประเภท ได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเท่ากันอย่าง “หุ้น” นั่นเอง

และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนปันผลอยู่ครับ ซึ่งในวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับ

1. ซื้อกองทุนที่ NAV ต่ำ ๆ จะดีกว่าซื้อกองทุนที่ NAV สูง ๆ

จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันทั้งกองทุนปันผลและไม่มีปันผลนะครับ ลองดูตัวอย่างดังนี้ครับ ซื้อกองทุน A ราคาหน่วยละ 20 บาท แต่ระหว่างปีกองทุนเลือกหุ้นได้ดี ทำให้ปลายปีราคา NAV เพิ่มขึ้นเป็น หน่วยละ 22 บาท
ส่วนกองทุน B ราคาหน่วยละ 10 บาท แต่ระหว่างปีกองทุนเลือกหุ้นได้ไม่ค่อยดี ปลายปีราคา NAV ลดลง เหลือหน่วยละ 8 บาท จากตัวอย่างนี้เห็นไหมครับว่าการซื้อกองทุนที่มี NAV ต่ำ ๆ ไม่ได้ดีอย่างที่คิดนะครับ
ซึ่งผลตอบแทนจริง ๆ จะขึ้นกับ "นโยบายการลงทุน และ สินทรัพย์ในกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนบริหาร" นั่นเอง

2. กองทุนปันบ่อย ๆ เยอะ ๆ ดีกว่ากองทุนปันผลไม่บ่อย และปันผลน้อย

เพื่อให้เห็นภาพ และเข้าใจง่าย ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ กองทุน A ซื้อมาราคาหน่วยละ 10 บาท ได้เงินปันผล 4 ครั้ง (ครั้งละ1 บาท) และเมื่อถึงสิ้นปีมีราคาเป็น 15 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นผลตอบแทนคือ 5 บาท + เงินปันผล 4 บาท ผลตอบแทนรวมทั้งปี = 9 บาท กองทุน B ซื้อมาราคาหน่วยละ 10 บาท  ได้จ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.5 บาท) และเมื่อสิ้นปีมีราคาเป็น 19 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นผลตอบแทนคือ 9 บาท + เงินปันผล 1 บาท ผลตอบแทนรวมทั้งปี = 10 บาท สรุปว่ากลายเป็นกองทุนที่ปันผลน้อยกว่า แถมจำนวนครั้งที่ปันผลก็ยังน้อยกว่า กลับมีผลตอบแทนที่ดีกว่าแทนครับ !!!
นี้ก็ขึ้นกับ "นโยบายการลงทุน และ สินทรัพย์ในกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนบริหาร" อีกแล้ว

3. ซื้อกองทุนก่อนปันผล ดีกว่าซื้อหลังปันผล

ผมมักจะเจอคำถามนี้ค่อนข้างบ่อยกว่าคำถามอื่นครับ ผมจะมายกตัวอย่างให้ทุกท่านได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วการซื้อหลังปันผลนั้น มีข้อได้เปรียบเรื่องภาษีเงินปันผลมากกว่าด้วยซ้ำครับ ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อกองทุน A ก่อนปันผลที่ราคาหน่วยละ 10 บาท ปลายปีราคากองทุนเป็น 20 บาท

คิดเป็นผลกำไร 10 บาท บวกเงินปันผล 5 บาท ดังนั้นผลตอบแทนรวมเป็น 15 บาท แต่ถ้าเราซื้อกองทุน A หลังปันผลด้วยราคาหน่วยละ 5 บาท ปลายปีราคากองทุนเป็น 20 บาท

คิดเป็นผลกำไร 15 บาท ก็จะกลายเป็นผลตอบแทนรวม 15 บาท เท่ากัน !!

เห็นไหมครับว่าจะซื้อหลัง หรือก่อนก็ไม่แตกต่างกัน
แต่ว่าในเรื่องของภาษีที่เราต้องจ่าย 10% จากเงินปันผล
จึงทำให้การซื้อหลังปันผลนั้นจะไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผลครับ

4. การเอาเงินปันผลออกมาแล้วลงทุนกลับเข้าไปดีกว่ากองทุนไม่ปันผล

หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่ากองทุนปันผลนั้นมีข้อดีคือ ได้รับเงินปันผลออกมาเก็บไว้ก่อน หรือ เก็บกำไรไว้ก่อนถ้าตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้น ก็ค่อยนำเงินมาลงทุนในภายหลังซึ่งน่าจะดีกว่าการที่ลงทุนในกองทุนไม่ปันผล

แต่หลาย ๆ ท่านอาจจะลืมไปว่าในแต่ละครั้งที่เราได้รับเงินปันผลออกมานั้น เราจะต้องเสียภาษี 10%
เท่านั้นยังไม่พอครับ เราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อกองทุน หรือ Front-end fee อีกครั้งด้วย
และอย่าลืมค่าเสียโอกาส หากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นจริง ๆ

สำหรับคนที่เอาเงินปันผลมาลงทุนนั้น เราอาจจะลงทุนได้ไม่ตรงจังหวะ หรือ มีความล่าช้าออกไปครับ
ดังนั้นการนำเงินปันผลกลับมาลงทุนอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีของนักลงทุนก็ได้ครับ

5. ในกองทุนหุ้นปันผลมีแต่หุ้นปันผลอยู่ในกองทุน

อันนี้ต้องบอกว่าไม่จริงเลยครับ กองทุนปันผลนั้นอาจจะมีหุ้นที่ไม่ได้มีการปันผลอยู่ก็เป็นไปได้ครับ แต่เงินปันผลที่เราได้รับนั้นจะมาจากการขายหุ้นที่มีกำไร และเงินปันผลจากหุ้นออกมา จากนั้นจึงนำเงินที่ได้มาจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยครับ

สุดท้ายนี้ การที่เราจะตัดสินใจลงทุนกับกองทุนปันผลนั้น ผมอยากให้นึกถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของการลงทุนกับกองทุนปันผลมากกว่า รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อย่างที่เรามักจะเข้าใจผิดในเรื่องที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ผลประโยชน์ที่เราควรพิจารณาในการเลือกองทุนปันผลก็คือ กระแสเงินสดที่เข้ามาให้กับเรา อย่างที่ผมได้เล่าถึงไปในตอนต้น แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง และกองทุนไม่ได้ทำผลตอบแทนที่มากพอจะจ่ายปันผล เราเองก็อาจจะไม่ได้รับเงินปันผลก็เป็นไปได้เช่นกันครับ อย่าคิดว่าชื่อกองทุนปันผลแล้ว กองทุนจะให้เงินปันผลกับเราตลอดไปนะครับ

ดังนั้นเราต้องคอยติดตามผลตอบแทนของกองทุน และหากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่กองทุนจะจ่ายเงินปันผลให้กับเรานั่นเองครับ

วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีนะครับ ทุกท่าน ^_^