ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า “หุ้นกู้” บ่อยมากขึ้นจากสื่อออนไลน์และสำนักข่าวต่าง ๆ มากมาย นอกจากจะกลายเป็นวิธีระดมทุนของธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยม ก็ยังมีเหตุการณ์ที่บริษัทบางแห่งที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกของการลงทุนในบ้านเราอีกด้วย

แล้ว ‘หุ้นกู้’ คืออะไร? (เรียกอีกอย่างว่า ตราสารหนี้เอกชน หรือ Corporate Bond)

อธิบายง่าย ๆ หุ้นกู้ ก็คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยภาคเอกชน วัตถุประสงค์ก็เพื่อระดมทุนสำหรับไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท เช่นลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ ทำโรงงาน

เมื่อเราในฐานะนักลงทุน ซื้อหุ้นกู้ของบริษัท A นั่นหมายความว่าเราให้เงินกู้กับบริษัท A ที่ออกหุ้นกู้นั่นเอง

เราคือ ‘เจ้าหนี้’ (ฟังดูดีนะ) ส่วนบริษัทคือ ‘ลูกหนี้’ ประมาณนั้นครับ
ทีนี้ในฐานะเจ้าหนี้เราก็ต้องได้อะไรคืนมาบ้าง บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน ตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ชุดนั้น และชำระเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้

ซึ่งดอกเบี้ยก็อาจจะจ่ายปีละ 2 - 4 ครั้งแล้วแต่เงื่อนไข ส่วนอายุหุ้นกู้ก็จะประมาณ 3, 5, 7 หรือ 10 ปี (หรือก็แล้วแต่กำหนดกันตอนออกหุ้นกู้)

สิ่งที่ทำให้หุ้นกู้เป็นที่สนใจก็เพราะได้รับดอกเบี้ยดีกว่าการฝากธนาคารทั่วไป แต่มันก็มีความเสี่ยงที่พ่วงมาด้วยเช่นเดียวกันว่าถ้าบริษัทไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือไม่คืนเงินต้นจะทำยังไง?​ หรือเกิดการทุจริตขึ้นแล้วเงินหายไปล่ะ?

เพราะฉะนั้นถ้าคนที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ นี่คือสิ่งที่ควรรู้ 7 ข้อ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุน

1. ศึกษาข้อมูลของหุ้นกู้

เหมือนกับการเลือกหุ้นนั่นแหละครับ ก่อนจะลงทุนเราก็ต้องรู้ว่าเป็นหุ้นกู้อะไร สามารถศึกษาได้จาก ข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ซึ่งก็จะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและงบการเงิน เพื่อให้ทราบว่าบริษัท A ที่ออกหุ้นกู้เป็นใคร ทำอะไร ในอุตสาหกรรมไหน อายุกี่ปี ดอกเท่าไหร่ ฯลฯ

โหลดแอปฯ SEC Bond Check (ลิงก์ในอ้างอิงคอมเมนต์ได้เลย)

2. ความเสี่ยงเรื่องไหนบ้างที่ต้องพิจารณา

- ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ : อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนหากผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด

- ความเสี่ยงสภาพคล่อง : ไม่สามารถขายหุ้นกู้ดังกล่าวได้ก่อนครบกำหนด

- ความเสี่ยงด้านราคา : ถ้าหากจะขายหุ้นก่อนครบกำหนดไถ่ถอน อาจจะไม่ได้ราคาที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย

3. ปัจจัยพิจารณาความเสี่ยง

นักลงทุนทุกคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ลองใช้ปัจจัยเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนเบื้องต้น

- ความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) : ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญ อันดับดีเป็น Investment Grade ก็จะมีความเสี่ยงต่ำ ดอกเบี้ยอาจจะไม่สูงมาก แต่ถ้าเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดเครดิต มีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้สูง แต่ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย แต่หุ้นกู้ที่มีระดบความน่าเชื่อถือสูงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดนัด เหตุการณ์นี้ก็มีให้เห็นกันอยู่บ้าง

- ประเภทของหุ้นกู้ : หุ้นกู้แต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงและลักษณะที่เฉพาะ เพราะฉะนั้นต้องเช็กประเภทของมันด้วย รายละเอียดหุ้นกู้แต่ละประเภทจากเว็บไซต์ SCB

1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

คือ หุ้นกู้ที่หากผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น

2. หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

คือ หุ้นกู้ที่หากผู้ออกตราสารหนี้ล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

3. หุ้นกู้แปลงสภาพ

คือ หุ้นกู้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ที่ถืออยู่ สถานะของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ

4. หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสารหนี้ นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิในสินทรัพย์ที่วางค้ำประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ

5. หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ วางไว้ ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วนที่ถือ

4. ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้คือใคร? มีหน้าที่อะไร

“ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” คือตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้แต่ละรุ่น ทำหน้าที่ติดตามบริษัทที่ออกหุ้นกู้ว่าปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ให้ไว้รึเปล่า หากผิดชำระหนี้ ดอกเบี้ย ฯลฯ ก็มีหน้าที่เรียกร้องให้บริษัทออกมาชี้แจงและเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ

5. ติดตามผลอยู่เสมอ

เมื่อเราเป็นเจ้าหนี้ ก็ต้องรู้ว่าเงินที่เราให้ยืมไปนั้นจะออกดอกออกผล ต้องคอยติดตามบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องผลการดำเนินงานงบการเงิน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางเอาไว้ด้วยกันในตอนแรก ถ้ามีโอกาสเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจพิจารณาขายในตลาดรองได้ ถ้ามีเหตุผิดนัดก็ควรแจ้งกับ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ให้ทราบด้วยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

6. การขยายอายุหุ้นกู้

ในบางกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อาจจะมีการจัดประชุมเพื่อขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น

เราในฐานะเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิตรงนี้เพื่อถามว่าเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้ตั้งแต่แรก แผนต่อไปคืออะไร ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง ผลประโยชน์ และผลกระทบของการลงมติไม่ว่าทางไหน และถ้าไม่ยินยอมสุดท้ายต้องเรียกร้องยังไงบ้าง

7. ถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้ต้องทำยังไง?

ผู้ถือหุ้นกู้จะมี“ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหาย บังคับชำระหนี้ให้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย

“ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” อาจจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติ ในการดำเนินการ สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ควรต้องใช้สิทธิเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วย

สุดท้ายแล้วการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะเราจะเอาเพียงแค่อัตราดอกเบี้ย หรือ ความน่าเชื่อถือเป็นตัววัดทุกอย่างไม่ได้ ต้องจัดสรรเงินให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เราพร้อมจะรับได้ด้วย

อ้างอิง : 

- https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/060166.pdf

- https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing

- https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/grow-your-wealth/debentures.html