การลงทุนกับความเสี่ยงเป็นของคู่กัน แต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไป การลงทุนไหนที่มีความเสี่ยงมาก ก็แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้มีโอกาสที่สูญเสียเงินต้น หรือ ขาดทุนได้นั่นเอง
วันนี้ลองมาดู 8 แนวคิดฝึกจิตให้แข็ง เมื่อเจอภาวะ “ขาดทุน” โดย ต้าร์ - กวิน สุวรรณตระกูล เจ้าของเพจ TarKawin กันครับ
1. "เชื่อตัวเอง" ให้มากกว่า "เชื่อคนอื่น"
นักลงทุนหน้าใหม่บางคนอยากเริ่มลงทุน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงจุดไหน บางคนอาจจะเริ่มลงทุนจากการฟังความคิดเห็นของคนอื่น และไม่ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพียงมองแค่ว่าแค่ลงทุนก็ได้เงิน การมีมุมมองแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากครับ เพราะการที่เราไม่ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนประเภทนั้นๆ หรือทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วน จะทำให้เราเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคนที่ศึกษามาก่อน
ดังนั้น การคิด และวิเคราะห์ในการลงทุนด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำผิดพลาด เราจะไม่รู้สึกเสียดายในสิ่งที่เราเลือก เพราะทุกอย่างได้ผ่านกระบวนความคิดและการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและสามารถเรียนรู้กับสิ่งเหล่านั้นได้ดีกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความคิดของคนอื่น
2. หยุดให้เป็น เย็นให้พอ
เวลาที่นักลงทุนหน้าใหม่ลงทุนอะไรไปสักอย่างแล้วขาดทุน มักจะแก้ปัญหาด้วยการทุ่มเงินซื้อ เพื่อให้ได้เงินส่วนที่ขาดทุนไปกลับมาเร็วๆ วิธีการแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการแพ้พนัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราขาดทุน สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำใจ และใจเย็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราใจร้อนกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในจุดที่รู้สึกเสียเปรียบหรืออยู่ในจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ ก็ควรจะพัก เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการลงทุน แล้วเริ่มใหม่จากข้อมูลผิดพลาดเหล่านั้น
3. เป้าหมายต้องชัดเจน และยึดมั่นในแนวทาง
บางทีการลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากเสมอไป ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร ก็อาจจะเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีแนวทางของตัวเองให้ชัดเจนก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยับไปตามขั้นตอนที่มองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต
4. โอกาสมีเข้ามาเสมอ แต่ต้องบริหารความเสี่ยงด้วย
ในโลกของการลงทุนมักจะมีโอกาสเข้ามาหาเราอยู่เป็นระยะ เมื่อโอกาสวิ่งเข้ามา เราก็ควรจะคว้าโอกาสนั้นไว้ แต่อย่าลืมว่าทุกโอกาสก็มีความเสี่ยงซ่อนอยู่แล้ว ดังนั้น เราควรมีวิธีจัดการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย เพื่อให้เราได้รับผลกระทบย้อนหลังน้อยที่สุด
5. เงินลงทุนควรเป็นที่ตั้งใจเงินออม
ก่อนจะเริ่มลงทุนอะไรสักอย่าง แน่นอนครับว่าเราต้องใช้เงิน และเงินที่นำไปลงทุนก็ควรเป็นเงินเก็บที่มาจากเรา นักลงทุนต้องจัดสรรปันส่วนให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับตัวเองในระยะยาว นักลงทุนบางคนอาจเลือกที่จะใช้เงินส่วนอื่นมาลงทุน เช่น การยืมเงินของคนอื่นมาลงทุน การขายทรัพย์สินตัวเองเพื่อนำเงินไปลงทุน วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดครับ แต่เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การลงทุนที่ดีจึงควรใช้เงินที่มาจากการออมหรือกำไรที่ได้รับจากการลงทุนต่างๆ
6. ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ลงทุน
การลงทุนที่ดีต้องมาจากการศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ต้องศึกษาและวิเคราะห์ในสิ่งที่จะทำให้ชัดเจนว่าถ้าทำสิ่งนั้นจะเป็นอย่างไร หรือผลที่ตามมาจะเป็นแบบไหน หากไม่ใส่ใจหรือมองข้ามกับเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ ก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ
7. มีวินัยเพื่อไปสู่เป้าหมาย
การมีวินัยในการลงทุนแบบสม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ เราต้องตั้งเป้าหมายวินัยให้ชัดเจน โดยกำหนดความถี่ และจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน เช่น ต้องออมเงินที่ใช้สำหรับลงทุนกี่บาทในแต่ละครั้งหรือแต่ละเดือน เปรียบเสมือนการฝากเงินออมเเบบประจำ หากเราสามารถสร้างวินัยในการลงทุนได้ ก็จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
8. กรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว
วลีเด็ดที่สามารถใช้ได้กับทุกวงการ ในโลกของการลงทุนก็เช่นกัน ไม่มีนักลงทุนคนไหนหรอกครับ ที่เริ่มแล้วประสบความสำเร็จได้ทันที ทุกคนล้วนแต่ค่อยๆ สร้างจากสิ่งที่ตัวเองมี ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรีบประสบความสำเร็จเหมือนกับคนอื่น อย่ากดดันตัวเอง แต่อย่าหยุดพัฒนา เมื่อนั้นความสำเร็จจะเข้ามาหา
รับชมรายการ : https://www.youtube.com/watch?v=Of0H-ehzL_E