อภินิหารเงินออมมองว่าถ้าเรามีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน ก็จะรู้ว่าควรเก็บเงินไว้ที่ไหน เพราะสินค้าการเงินแต่ละแบบมีลักษณะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจความแตกต่าง รู้วิธีดึงจุดเด่นมาใช้ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเราและครอบครัวนะคะ เริ่มจาก...

เราใช้เงินทำอะไรและใช้เท่าไหร่

หลายคนบอกว่าต้องการรวย มีเงินเยอะๆ มันเป็นเป้าหมายที่ดูฟุ้งเกินไป เราควรระบุให้ชัดเจนว่ารวยคือเท่าไหร่ แล้วค่อยมาหาวิธีว่าจากความสามารถของเราตอนนี้จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ต้องเพิ่มทักษะอะไรเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้เร็วขึ้น

สำหรับคนที่มีเป้าหมายอื่นๆ ควรทำภาพให้ชัดเจนด้วยการเขียนออกมาว่า...

  • ต้องการใช้เงินทำอะไรบ้าง ใช้เท่าไหร่ จะใช้เงินก้อนนี้ตอนไหน
  • คัดเลือกสินค้าการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายของเรา 
  • ถ้ามีหลายเป้าหมายแต่เงินออมไม่พอ ควรจัดลำดับความสำคัญว่าเราจะทำเรื่องอะไรก่อนหลัง
  • ถ้ามีสินค้าการเงินให้เลือกหลายแบบ เราจะเลือกอะไร เพราะอะไรถึงตัดสินใจเลือกแบบนั้น 
  • สุดท้ายเราก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนควรเก็บเงินกี่บาท เพื่อทำให้เป้าหมายเป็นจริง 

ตัวอย่าง เป้าหมายการเงินและแนวคิดในการตัดสินใจเลือกสินค้าการเงิน

เงินฉุกเฉิน (เส้นสีแดง)

อยากมีเงินไว้อุ่นใจ 100,000 บาท  เพราะอีก 6 เดือนข้างหน้าอาจจะตกงาน ควรเก็บเงินไว้ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ แบ่งเก็บเดือนละ 16,667 บาท แต่ถ้ามีเงินค้างไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 80,000 บาทแล้ว เราก็เก็บเพิ่มอีก 20,000 บาท

ค่าเทอมลูก (เส้นสีเขียวเข้ม)

อีก 1 ปีข้างหน้าลูกจะเปิดเทอม ต้องเตรียมเงินจ่ายค่าเทอม 20,000 บาท อาจจะเก็บไว้ที่เงินฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ 12 เดือน แบ่งเก็บเดือนละ 1,667 บาท

เงินเกษียณ (เส้นสีน้ำเงิน)

อีก 20 ปีข้างหน้า ต้องการเกษียณมีเงิน 10,000,000 บาท แสดงว่าเรามีเวลาเก็บเงิน 20 ปี ใช้วิธี DCA กองทุนรวมหุ้นเพื่อทำให้เงินเติบโต ไม่กังวลหากระหว่างทางขาดทุนหนักๆ ก็จะไม่ถอนเงินและรักษาวินัยการลงทุนต่อไป ในขณะเดียวกันต้องการมั่นใจว่าได้รับเงินคืนแน่นอนที่ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ ประกันควบการลงทุน แบ่งเงินบางส่วนไปทำอสังหาฯ ให้เช่า

เงินดาวน์บ้าน (เส้นสีเขียวอ่อน)

อีก 3 ปีจะซื้อบ้าน ต้องการเก็บเงินดาวน์บ้าน 500,000 บาท ควรเก็บไว้ที่สลากออมสินเผื่อลุ้นถูกรางวัล กองทุนรวมตราสารหนี้เพื่อทำให้เงินเติบโตนิดหน่อย แบ่งเก็บ 36 เดือนๆละ 13,889 บาท

เงินดาวน์รถ (เส้นสีฟ้า)

อีก 5 ปีอยากซื้อรถ ต้องการมีเงินดาวน์ 300,000 บาท ควรเก็บเงินไว้ที่ฝากประจำ 60 เดือนหรือกองทุนตราสารหนี้ แบ่งเก็บ 60 เดือนๆละ 5,000 บาท เป็นการซ้อมออมเงินก่อนซื้อรถจริง โดยไม่ต้องมาลุ้นว่าถ้าซื้อรถแล้วจะผ่อนไหวมั้ย ถ้าเราซ้อมออมเงินได้ หนี้ผ่อนรถอีกหลายปีน่าจะไหว แต่ถ้าซ้อมออมเงินไม่สำเร็จ เป็นสัญญาณแรกว่าถ้าซื้อรถมาแล้วอาจจะผ่อนไม่หมดก็ได้

เงินดูแลพ่อแม่ (เส้นสีเทา)

อีก 10 ปีพ่อแม่จะอายุ 80 ท่านมีโรคประจำตัวหลายโรค จำเป็นจะต้องจ้างพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมาดูแล สำรวจค่าใช้จ่ายแล้วจะต้องใช้เงินค่อนข้างสูง มองว่าใช้เงินประมาณ 5,000,000 บาท น่าจะเอาอยู่ ควรเก็บเงินไว้ที่กองทุนรวมหุ้นเพื่อทำให้เงินเติบโต ส่วนประกันควบการลงทุน จ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 3,000 บาท เพื่อสร้างทุนประกัน 5,000,000 บาท หากเราอายุสั้นจะได้มีเงิน 5,000,000 บาทจ้างคนอื่นมาดูแลพ่อแม่

เผื่ออายุสั้น (เส้นสีส้ม)

เรารู้วันเกิด แต่ไม่รู้วันตาย หากชาติหน้ามาถึงเร็วกว่าที่คิดทันทีตอนนี้ อยากจะมีเงิน 1,000,000 บาทให้ครอบครัว เพื่อจ่ายหนี้ผ่อนรถที่ยังเหลืออยู่อีก 500,000 บาท ส่วนที่เหลือเก็บไว้จัดงานศพและดูแลครอบครัว ควรเลือกสร้างเงินก้อนทันทีที่ประกันตลอดชีพกับประกันควบการลงทุน แต่ถ้าไม่กังวลเรื่องเงินคืนก็เลือกเป็นประกันชีวิตชั่วระยะเวลา

ของขวัญลูกเรียนจบ (เส้นสีม่วง)

อีก 15 ปีลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย อยากมีเงินก้อนให้ลูก 300,000 บาท เผื่อลูกอยากทำธุรกิจในฝันจะได้นำเงินก้อนนี้ไปใช้ได้ทันที อีกหลายปีกว่าจะใช้เงินควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อทำให้เงินเติบโต เช่น กองทุนรวมหุ้น ออมทอง

เจ็บป่วยรักษาพยาบาล (เส้นสีชมพู)

ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นทุกปี ควรทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลมีประวัติแล้วจะทำประกันเล่มใหม่ก็ยากขึ้นหรืออาจจะทำไม่ได้เพราะสุขภาพไม่ดี คิดว่าประกันสุขภาพเหมาจ่าย 10,000,000 บาท น่าจะพอสำหรับโรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด ปัจจุบันบริษัทประกันหลายแห่งแข่งขันกันมากมีทั้งเหมาจ่ายแบบไร้ข้อจำกัด ไม่มีเรื่องจุกจิกเวลาเคลม ในขณะที่บางแห่งหากเจ็บป่วยโรคร้ายแรงจะเบิ้ลเบี้ยค่ารักษาให้ 2 เท่า เช่น ทำเหมาจ่าย 10,000,000 บาทก็จะกลายเป็น 20,000,000 บาทแบบอัตโนมัติ

เงินแต่งงาน (เส้นสีเหลือง)

วางแผนว่าอีก 5 ปีจะแต่งงาน คิดว่าจะต้องใช้เงิน 800,000 บาท ควรเก็บไว้ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากประจำ กองทุนรวมตราสารหนี้ และของหมั้นจะใช้วิธีออมทอง พอครบ 5 ปีได้ทอง 10 บาท จะได้เปลี่ยนเป็นทองคำแท่งใช้ในวันแต่งงานได้

อ่านแล้วไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะ เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน เลือกทำเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง อภินิหารเงินออมหวังว่าผู้อ่านจะได้แนวทางในการตั้งเป้าหมายการเงินของตัวเองและรู้ว่าควรเก็บเงินไว้ที่ไหนนะคะ

------------

ขอบคุณแฟนเพจที่สนับสนุนนะคะ

=> สั่งซื้อหนังสือวิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ , จอง Workshop , คอร์สออนไลน์สอนเขียนเรื่องการเงิน อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะจ๊ะ

https://web.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.641428715894749/3570624459641812/

เพจอภินิหารเงินออม