ช่วงนี้ มีข่าวช็อกแวดวงการเงินสหรัฐฯ เมื่อชาวอเมริกันแห่ไปถอนเงินจาก 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ ซึ่งทยอยปิดตัวติดต่อกันในรอบ 1 สัปดาห์ เริ่มต้นจาก Silvergate Capital แหล่งเงินทุนสำคัญของอุตสาหกรรม Cryptocurrency ตามมาด้วย Silicon Valley Bank หรือ SVB สถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ และ Signature Bank ในนิวยอร์ก

การแห่ไปถอนเงินของลูกค้า 3 สถาบันการเงินนี้ นอกจากเป็นเพราะกังวลว่าเงินฝากจะสูญหาย จากการที่ธนาคารจะล้มละลาย ส่วนหนึ่งยังเกิดจากความตื่นตระหนกของผู้คนในสังคมอเมริกันด้วย

เริ่มจาก หลายๆ คน สังเกตว่า ธนาคารทั้ง 3 แห่ง ไม่เปิดให้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ แต่กำหนดให้จ่ายเงินสด เป็น แคชเชียร์เช็ค ผ่านพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เท่านั้น จึงกลัวว่าจะถอนเงินไม่ได้ จึงทยอยไปถอนเงินออกมา

คราวนี้ พอลูกค้าคนอื่นเห็นเขาก็เริ่มตื่นตระหนกและทำเลียนแบบ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” พอสื่อๆ ต่างประโคมข่าวนี้ ไม่หยุด แทบทุกคนที่รู้เรื่อง ต่างก็รีบแห่ไปเข้าคิวถอนเงินเรื่อยๆ

ในส่วนของประเทศไทย ก็เคยเกิดปรากฎการณ์แบบนี้เช่นกัน เมื่อปี 2557 คนไทยทั่วประเทศ ต่างแห่ไปถอนเงินจากธนาคารออมสิน เพราะไม่พอใจที่รัฐบาลสั่งให้ปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ กับ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวที่ส่อเค้าทุจริต คนเลยกลัวว่าเงินฝากเปลี่ยนไปอยู่ในกระเป๋านักการเมือง และกระแสความหวั่นวิตกได้กระจายไปในวงกว้าง คนจึงชวนกันไปถอนเงิน

และมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการการลงทุนไทย เมื่อปี 2563 ช่วง COVID-19 ก็มีนักลงทุนไทยจำนวนมาก แห่ไปขายคืน 4 กองทุนตราสารหนี้ ของ บลจ. TMBAM Eastspring หลังมีกระแสข่าวว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงนั้นขาดสภาพคล่อง และภาวะเศรษฐกิจเจอมรสุมรอบด้าน นักลงทุนบางส่วนจึงอยากเปลี่ยนมาถือครองเงินสดแทน พอหลายคนเห็นข่าวนี้ จึงพากันไปแห่ขายกันอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายทาง บลจ. ต้องตัดสินใจปิดกองทุนตราสารหนี้ทั้ง 4 กองนี้เพื่อไม่ให้ NAV ลดลงไปมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดผลเสียกับผู้ลงทุนมากกว่า

พอพูดถึงการแห่ทำตามๆ กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นตระหนก กลัวตกขบวน หรือ มีความคิด ความเชื่อ ตามๆ กัน ทำให้นึกถึงทฤษฎี Bandwagon Effect ขึ้นมา

ถ้าพูดแบบบ้านๆ Bandwagon Effect ก็คือ การที่ผู้คน เห่อ หรือ แห่ ทำอะไรตามๆ กัน เพื่อให้อยู่ในกระแสนิยม โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำตามกันนั้น ถูก หรือ ผิด เพราะกลัวว่าจะตกขบวนหรือพลาดอะไรไป

ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น คงต้องยกคำพูดของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก ที่บอกไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงชอบอยู่รวมกัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน จะรู้สึกปลอดภัย เพราะคิดว่าทำตามคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะผิด ทั้งที่ในใจอาจจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็เลือกทำตาม เพราะอย่างน้อย ถ้าผิดพลาดไป ก็มีคนอื่นผิดเป็นเพื่อน

แล้วจะผิดมั้ย ถ้ากลายเป็นเหยื่อ Bandwagon Effect

พูดให้เห็นภาพ กรณีลงทุนในตลาดหุ้น ถ้ามีนักลงทุนมือเก๋า เชียร์ให้ซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ บอกว่าน่าจะทำกำไร เลยคิดง่ายๆ ว่า ทำตามคนอื่นไม่น่าผิด จึงทุ่มเงินซื้อตาม โดยไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้าน สุดท้ายก็ตั้งเสียใจ เพราะติดดอย

แล้วถ้าเปลี่ยนไปเป็นกรณีซื้อของฟุ่มเฟือยล่ะ อย่างบ้านไหนรวยจริงๆ เป็นผู้ดีที่แท้ทรู ต้องมีเปียโนซักหลังตั้งอยู่กลางบ้าน คราวนี้พอเรามีเงิน และอยากอวด(รวย) จึงทุ่มเงินไปซื้อเปียโนราคาเป็นล้าน มาวางไว้ เพราะคนรวยที่ไหนก็ทำกัน ทั้งๆ ที่คนในบ้าน ก็เล่นไม่เป็น วางไว้ก็เปลืองพื้นที่ แต่ใช้อวดสายตาผู้คนได้แค่นั้น บอกเลยแบบนี้ สิ้นเปลืองเงินสุดๆ

กลับมาถึงกรณีแห่ถอนเงิน เอาจริงๆ ถ้า ประชาชนทั้งหมด กลัวว่าธนาคารจะมีปัญหา เงินฝากจะสูญหาย จึงแห่ไปถอนเงินพร้อมกันหมด เพื่อเก็บเงินสดไว้ในมือ ก็อาจทำให้ธนาคารมีปัญหาต้องปิดกิจการขึ้นมาจริงๆ คราวนี้จะส่งผลกระทบกับทั้ง ผู้ฝาก กับ ผู้กู้ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทบไปยังระบบการเงินและเศรษฐกิจภาพรวมด้วย

เอาจริงๆ การทำตามคนอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากพิจารณารอบคอบแล้วว่า สิ่งนั้นมีประโยชน์ ไม่ได้สร้างผลกระทบด้านลบ กับทั้งตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม แต่หากทำตามคนอื่นแล้ว เป็นสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรม ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ใด ก็ควรชะลอไว้ก่อน หรือ เปลี่ยนใจไม่ทำตามจะดีที่สุด