ขึ้นชื่อว่า "หนี้" เชื่อว่าหลายคน ไม่อยากมี!!
ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากอยู่ให้ห่าง กลัวจะกระทบกับเงินในกระเป๋า
จนสูญเสียสภาพคล่อง ทำเอาชักหน้าไม่ถึงหลัง
บางคนเป็นหนัก ถึงขั้นไม่ยอมใช้บัตรเครดิต หรือ ผ่อนจ่ายสินค้าแบบ 0% หรือแม้แต่การหยิบยืมเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ทำเลย เพราะกลัวเสียวินัยทางการเงิน
นักจิตวิทยา เรียกอาการแบบนี้ว่า “ ความกลัวการเป็นหนี้” หรือ “Debt phobia”
ว่ากันว่า Debt phobia มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ถูกปลูกฝังมาว่า ต้องใช้เงินอย่างประหยัด หรือ อาจเคยความล้มเหลวทางด้านการเงิน ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบยากลำบาก
ถ้านำทฤษฎีทางจิตวิทยา ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เรื่อง “defense mechanisms” หรือ “กลไกการป้องกันตนเอง” ซึ่งเนื้อหาสำคัญระบุว่า “หากมนุษย์เกิดความกลัว คับข้องใจ หรือ มีความขัดแย้ง กับ บุคคล หรือ สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม เป็นอันตรายกับตัวเอง ร่างกายและจิตใจ ก็จะมีปฏิกริยาป้องกันตนเอง เพื่อช่วยให้อยู่รอด คลายความวิตกกังวล”
ซึ่งถ้าเราใช้ทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์ อาการ Debt phobia จะพบว่า ลึกๆ แล้ว คนที่มีอาการแบบนี้ แค่กลัวว่าตัวเองจะไม่มีเงินใช้ในอนาคต เกรงว่ามันจะส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่าย จึงสร้างกลไกป้องกันตัวเอง ด้วยการปฏิเสธการสร้างหนี้ ขออยู่ให้ห่าง แต่บางคนเป็นหนักถึงขั้นมองว่า “หนี้” เป็นสิ่งเลวร้าย จึงไม่ยอมเฉียดเข้าไปใกล้แม้แต่นิดเดียว
แน่นอน เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ….”หนี้” ก็เช่นกัน
ใช่ว่าการมีหนี้จะเป็นเรื่องแย่เสมอไป หากเราใช้ประโยชน์จากการสร้างหนี้ให้ถูกทาง ก็สร้างความร่ำรวยได้เหมือนกันนะ
หลายคนใช้หนี้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคั่ง จนประสบความสำเร็จ และมีตัวอย่างให้เห็น aomMONEY จะเล่าให้ฟัง
บางคนมีนิสัยเก็บเงินไม่อยู่ มักหมดเงินไปกับของฟุ่มเฟือย จึงตัดสินใจสร้างหนี้ด้วยการไปผ่อนสินทรัพย์ เช่น บ้าน/คอนโด หรือ ทองคำ ถือเป็นการบังคับสะสมความมั่งคั่งในทางหนึ่ง
บางคนอยากทำธุรกิจ แต่มีเงินทุนไม่พอ ก็ตัดสินใจไปกู้เงินมาลงทุน เพื่อสต็อกสินค้าในจำนวนที่มาก เพื่อลดต้นทุน สร้างโอกาสในการทำกำไร แล้วยิ่งถ้ากำไรนั้นมากกว่าภาระดอกเบี้ยแล้วล่ะก็ บอกเลยคุ้มค่าแน่นอน
บางคนเลือกใช้บัตรเครดิตแทนการถือครองเงินสด ถ้าชำระให้ครบจำนวนและตรงกำหนดตามรอบบิล ก็ไม่มีภาระเรื่องดอกเบี้ย แถมยังได้สะสมแต้ม แลกสิทธิพิเศษในการส่งเสริมการขายได้ด้วย
เห็นไหมว่า หนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้มันไปกับอะไร ซึ่งก่อนตัดสินใจที่จะเป็นหนี้ ก็ควรประเมินตัวเองก่อนว่า มีความสามารถในการชำระคืนมากน้อยแค่ไหน สามารถบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ดีแค่ไหน มีวินัยทางการเงินหรือไม่ จนสุดท้ายอย่าให้เข้าสำนวนที่ว่า “หนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” นะครับ