รู้สึกสะดุดกับคำคมของ Bertrand Russell นักปรัญชาระดับโลก ที่ว่า

"The trouble with the world is that the stupid are cocksure and the intelligent full of doubt."
“ปัญหาของโลกนี้ คือ คนฉลาดมักจะสงสัยไปหมด ส่วนคนโง่ก็มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดเอามากๆ”

ในมุมการใช้ชีวิต มันสะท้อนความเป็นจริงในโลกของคนทำงาน บ่อยครั้งที่มักเจอว่า คนฉลาดชอบสงสัยในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความสามารถของตัวเอง แต่คนที่ไม่ฉลาดนี่สิ กลับชอบอวดเก่ง และมั่นใจในความสามารถของตัวเองแบบเปี่ยมล้น

จริงๆ แล้วการที่คนฉลาดมักสงสัยในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เมื่อพวกเขามีคำถามแล้ว ก็มักจะพยายามแสวงหาคำตอบ จนได้ความรู้ใหม่ๆ

แต่กรณี คนไม่ฉลาด กลับน่าเป็นห่วง เพราะพวกเขามักมั่นใจในตัวเองเกินไป แถมชอบโชว์เก๋า ให้คนอื่นๆ รับรู้ว่า ตัวเองนั้นเก่งเหลือเกิน เชื่อเถอะ เวลาต้องทำงานกับคนแบบนี้ เพื่อนร่วมงานต้องปวดหัวแน่นอน

เชื่อว่า หลายคนคงสงสัย (เริ่มเข้าโหมดคนฉลาดกันแล้วล่ะ) ว่า ทำไมคนที่ไม่ฉลาดถึงมั่นใจในตัวเองขนาดนั้น เขารู้ไหมว่าจริงๆ แล้วตัวเองไม่ได้ฉลาดเหมือนที่คิด aomMONEY ไปหาคำตอบมาให้แล้วว่าอะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้

มีงานวิจัย ชื่อ “unskilled and unaware of it” ของ ศ.เดวิด ดันนิง (David Dunning) แห่ง Cornell University กับ จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) แห่ง University of Illinois ซึ่งโด่งดังจนได้รับรางวัลอิกโนเบล สาขาจิตวิทยาประจำปี ค.ศ. 2000 พูดถึง ทฤษฎี The Dunning–Kruger effect ซึ่งอธิบายพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ได้

โดย The Dunning–Kruger effect เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา บอกถึงความรู้สึกลึกๆ ในจิตใจคน ที่ชอบคิดเองเออเองว่า ตัวเองเก่ง หรือ มีความสามารถมากอยู่เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น

สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจาก อคติในการรับรู้ โดยเฉพาะตอนที่เรามีความรู้น้อยๆ “เรามักจะไม่รู้ตัวว่า เราไม่รู้อะไร” ดังนั้น พอเริ่มรู้ในศาสตร์อะไรบางอย่างและเริ่มเอาไปใช้งานได้ คราวนี้ก็จะมโนไปเองว่า เรารู้หมดแล้ว เก่งพอแล้ว มีความสามารถมากพอ

พอนานวันเข้า มีโอกาสได้เรียนรู้ และพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาบนโลกนี้ เราจึงมารู้ตัวภายหลังว่า ยังมีความรู้อีกเยอะบนโลกใบนี้ที่เราไม่รู้มาก่อน

แล้วเป็นอันตรายมั้ย ถ้าเป็นคนไม่ฉลาด แต่คิดอยู่เสมอว่าตัวเองนั้นเก่งเกินใคร

พูดตรงๆ ถ้าอยู่ในสังคมคนทำงาน การเป็นคนอวดฉลาด อาจทำให้การทำงานแบบเป็นทีมปั่นป่วน เพื่อนร่วมงานอาจจะงง เมื่อผลลัพธ์ของการทำงานที่ออกมา ไม่เหมือนกับที่คุยกันไว้ ถ้าเป็นแบบบนี้บ่อยๆ ความไว้ใจในทีมจะลดต่ำลง เพื่อนร่วมงานจะเริ่มเบื่อหน่ายและไม่อยากทำงานด้วย

แต่ถ้าเป็นในสนามการลงทุนล่ะ โดยเฉพาะถ้าเป็นนักลงทุนมือใหม่ในตลาดหุ้น บอกเลยต้องระวังให้มาก ยิ่งถ้าตอนลงสนามแรกๆ มีโชคช่วยก็เลยได้กำไรตั้งแต่ตอนแรก คราวนี้ก็ยิ่งมั่นใจในว่า ตัวเองเก่ง การลงทุนไม่ใช่เรื่องยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องวิเคราะห์กราฟ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ดูแต่ผลกำไรของบริษัทก็พอ

พอเผลอทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากลงไป สุดท้ายขาดทุนและเพิ่งมาพบความจริงในภายหลังว่า การลงทุนในตลาดหุ้นมีอะไรมากกว่าที่คิด มีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมีความไม่แน่นอนเต็มไปหมด

ถ้าอยากหลุดพ้นจากอคติดังกล่าว ทำได้มั้ย?

บอกเลยทำได้แน่นอน เมื่อใดก็ตามที่คนเราเริ่มหันมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิด ที่เรายึดมั่นถือมั่น และยอมรับให้ได้ว่าตัวเรานั้น ไม่ได้รู้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ เชื่อว่า อคติที่บังตาเราอยู่จะค่อยๆ หายไปได้ในที่สุด

บอกเลย ความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด และความมั่นใจก็ไม่ใช่เรื่องแย่ เพียงแต่ต้องใช้ให้มันถูกที่ถูกทางถูกเวลา โดยเฉพาะในสนามการลงทุนที่มีปัจจัยรอบด้านให้ต้องคำนึงถึง และยังต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ถูกต้องเหมาะสม ก่อนตัดสินใจควักกระเป๋านำเงินไปลงทุน เพราะหากพลาดพลั้ง นั่นหมายถึง เงินลงทุนสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย