หลายครั้งเวลาเช้าๆ เห็นหุ้นตกหนักๆ เราก็ชอบเข้าไปซื้อกองทุนตามบริษัทหลักทรัพย์ หรือไม่ก็ธนาคารต่างๆ ดีใจได้ของถูก สะใจคนที่ซื้อไปวันก่อน เพราะเราได้ของถูกกว่า แต่ปรากฏว่า ตอนปิดตลาด หุ้นกลับขึ้นปิดสูงกว่าเมื่อวานอีก

อ้าว! แทนที่จะได้ของถูกกลับได้ของแพงเสียอีก ในทางกลับกัน เวลาเห็นหุ้นขึ้นเยอะๆ เราก็รีบขายล็อคกำไร หรือ บางทีก็ดีใจที่ได้คืนทุนซะที ติดดอยมานาน แต่ปรากฏว่าตอนใกล้ปิดตลาด หุ้นที่ขึ้นอยู่ดีๆ กลับปักหัวลง ปิดลบจากเมื่อวาน จากกำไรกลายเป็นขาดทุน ทำให้นึกถึงแก๊งค์สี่โมงเย็นในสมัยก่อน สงสัยกลับมาอาละวาดอีก

อารมณ์อย่างนี้คิดว่าหลายคนที่ชอบซื้อกองทุนรวมคงเคยเจอ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน Pain Point ของกองทุนเปิดทั่วไปเลยก็ว่าได้

หากเรามาสรุป Pain Point ของกองทุนรวมกันคร่าวๆ ก็มี ดังนี้

1. ตอนซื้อ ตอนขาย ไม่รู้ว่าซื้อขายได้ที่ราคาเท่าไหร่

เพราะกองทุนเปิดทั่วไปจะจำกัดเวลาซื้อขายก่อนตลาดปิด อย่างเช่น ถ้าเป็นกองทุนหุ้น ก็จะจำกัดเวลาซื้อขายที่ 15.30 น. (ตลาดปิด 16.30 น.) และราคาที่ใช้ในการคำนวณ NAV คือ ราคาตอนตลาดปิด ทำให้ ณ เวลาที่เราซื้อขาย เราจึงไม่สามารถรู้เลยว่าเราซื้อขายได้ที่ราคาเท่าไหร่

2. ตอนซื้อจ่ายเงินเลย ตอนขายรอเงินนาน

ตอนซื้อ เราต้องจ่ายเงินซื้อทันที (วันที่ T) แต่ตอนขายคืน เราไม่ได้เงินทันทีเหมือนตอนซื้อนะ แต่จะได้หลังจากนั้น จะนานแค่ไหน (มีได้ตั้งแต่ 2 ถึง 6 วันทำการหลังวันทำการขายคืน) ก็แล้วแต่ว่าเป็นกองทุนประเภทไหน ลงทุนในประเทศ หรือ ต่างประเทศ ดูแล้วเหมือนไม่แฟร์เลยนะ

3. เสียค่าธรรมเนียมทั้งขาเข้าและขาออก

ตอนซื้อ เราต้องเสีย “ค่าธรรมเนียมขาย” ตอนขาย เราต้องเสีย “ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน” อย่างงนะ ที่เรียกอย่างนี้ เพราะในระบบเค้าจะมองสถาบันการเงินที่เป็นตัวแทนซื้อขายเป็นหลัก

คือ ตอนเราซื้อกองทุน สถาบันการเงินเป็นคนขายให้เรา เลยเรียกค่าธรรมเนียมขาย แต่ตอนเราขาย คือ สถาบันการเงินรับซื้อคืนจากเรา เลยเรียกค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน

ค่าธรรมเนียมขายและค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนนี้เป็นค่าธรรมเนียมที่คิดจากผู้ลงทุน ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำลายผลตอบแทนที่เราควรจะได้

อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมขาย 1% แปลว่า ลงทุน 100 บาท ยังไม่ทันลงทุนเลย โดนหักค่าธรรมเนียมไปก่อนแล้ว 1 บาท เหลือเงินลงทุน 99 บาท ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน 1% แปลว่า ขายคืนไป 100 บาท แทนที่จะได้ 100 บาทเต็มๆ กลับโดนหักค่าธรรมเนียมไปอีกแล้ว 1 บาท เหลือเงินที่ได้จากการลงทุน 99 บาท ค่าธรรมเนียมพวกนี้ยิ่งมากยิ่งทำให้เรามีโอกาสกำไรน้อยลง และมีโอกาสที่จะขาดทุนมากขึ้น

ยิ่งใครที่ซื้อขายกองทุนเปิดบ่อยๆ โอกาสยิ่งขาดทุน ยิ่งมาก ตัวอย่างเช่น ถ้ากองทุนคิดค่าธรรมเนียมขายและรับซื้อคืนรวมกันเท่ากับ 1% ถ้าเราซื้อขายกองทุนเปิดบ่อยๆ สัปดาห์ละครั้ง เท่ากับ 1 ปีเราซื้อขาย 52 ครั้ง แปลว่าเราต้องเสียค่าธรรมเนียมซายและรับซื้อคืนรวม 52% แล้วอย่างนี้ เราจะไม่ขาดทุนยังไงไหว

4. ค่าธรรมเนียมการจัดการสูง

กองทุนเปิดส่วนใหญ่โดยเฉพาะกองทุนแบบ Active Fund คือ กองทุนประเภทที่มีนโยบายการลงทุนที่จะชนะเกณฑ์มาตรฐานหรือดัชนีอ้างอิง กองทุนพวกนี้จำเป็นต้องมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความสามารถ มีระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ดี ทำให้กองทุนพวกนี้มักมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทจัดการกองทุนสูง

โดยทั่วไปถ้าเป็นกองทุนหุ้น ค่าธรรมเนียมการจัดการจะอยู่ที่ประมาณ 1% - 1.5% ต่อปี แต่ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมการจัดการจะยิ่งแพง และกองทุนไม่ได้มีเฉพาะค่าธรรมเนียมการจัดการยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่านายทะเบียน ค่ารับฝากทรัพย์สิน เป็นต้น เมื่อรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอาจจะสูงได้ถึง 5% ต่อปี ค่าใช้จ่ายพวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่คิดจากกองทุน แปลว่าต่อให้เราไม่ซื้อขายกองทุน ยังไงก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมส่วนนี้อยู่ดี

5. การตัดสินใจลงทุนขึ้นกับผู้จัดการกองทุน

กองทุนแบบ Active Fund แม้จะมีนโยบายกำหนดชัดเจนว่าจะลงทุนในอะไร แต่การตัดสินใจลงทุนก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุน ตัวอย่างเช่น กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น เราก็ไม่รู้หรอกว่า ตอนที่เราซื้อหรือขายนั้น กองทุนลงทุนในหุ้นกี่เปอร์เซนต์ และลงทุนในหุ้นตัวไหนมากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนคิดอาจไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น เราอาจคิดว่าหุ้นตัวนี้ราคาตอนนี้ดี ผู้จัดการกองทุนน่าจะซื้อหุ้นตัวนี้เยอะๆ แต่ผู้จัดการกองทุนอาจกำลังขายหุ้นตัวนี้อยู่ก็เป็นไปได้ แปลว่าตอนที่เราซื้อหรือขายกองทุนแบบ Active Fund เราไม่รู้เลยว่ากองทุนลงทุนในอะไรอยู่ และผู้จัดการกองทุนกำลังทำอะไร

6. บางกองทุนกระจายการลงทุนไม่ดี

กองทุนแบบ Active Fund บางกองจะไม่มีการกระจายการลงทุนที่ดี เพราะผู้จัดการกองทุนจะเลือกลงทุนในกองทุนที่มีผลประกอบการดีเท่านั้น ซึ่งถ้าเลือกได้ถูกต้องและราคาหลักทรัพย์เป็นไปตามคาดการณ์ของผู้จัดการกองทุนก็ดีไป แต่ถ้าเกิดไม่ใช่ ความเสียหายกับกองทุนก็จะมากด้วยเช่นกัน

7. ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้ยืนยันอนาคต

ผลการดำเนินงานของกองทุนแบบ Active Fund อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าดัชนีอ้างอิงได้ ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุน และแม้จะเป็นผู้จัดการกองทุนคนเดิม ผลการดำเนินงานในอดีตก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต

เมื่อการลงทุนในกองทุนเปิดมี Pain Point มากมายอย่างนี้ จะทำยังไงดี ก็เลยมีคนคิดกองทุนประเภทหนึ่งขึ้นมา โดยเรียกว่ากองทุน ETF

ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Fund แปลตรงตัว ก็คือ กองทุนที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ETF จึงมีลักษณะเหมือนหุ้นที่มีสภาพคล่องและสามารถซื้อขายแบบ Real-Time ได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง

ความแตกต่างหลักๆ ระหว่าง ETF กับหุ้น คือ การลงทุนในหุ้นจะเป็นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น แต่การลงทุนใน ETF จะเหมือนนำเงินลงทุนของเราไปกระจายซื้อทุกหลักทรัพย์หรือในสินทรัพย์ที่ ETF อ้างอิงตามน้ำหนักของดัชนี เช่น ETF ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ก็จะซื้อหุ้นทั้ง 50 ตัวในสัดส่วนเดียวกับที่อยู่ในดัชนี SET50 เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด

เมื่อ ETF เป็นกองทุนที่มีลักษณะอย่างที่กล่าว จะแก้ Pain Point ของกองทุนเปิดได้ ดังนี้

1. ตอนซื้อ ตอนขาย ETF เราจะซื้อขายได้ที่ราคาตลาด ณ ขณะนั้น (real time) เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง รู้ต้นทุน รู้ราคาขาย ไม่ต้องไปรอลุ้นตอนตลาดปิดว่าจะซื้อขายได้ที่ราคาเท่าไร

2. ETF ตอนซื้อขาย จะชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใน 2 วันทำการ (T+2) แปลว่าตอนซื้อ เราจ่ายเงินซื้อวันที่ T+2 ตอนขายเราก็จะได้เงิน T+2 เช่นกัน แฟร์ดี

3. ETF เป็นกองทุนที่ซื้อขายเหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Brokerage fee) ก็เหมือนการซื้อขายหุ้น จะต้องเสียเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเปิดบัญชีโบรกเกอร์แบบไหน เปิดกับบริษัทหลักทรัพย์อะไร ซื้อขายที่ปริมาณเท่าไร ซึ่งเราก็ต้องสอบถามจากโบรกเกอร์ที่เราสนใจ แต่ยังไงก็ตาม ก็ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมการขายและรับซื้อคืนของกองทุนแบบ Active Fund

4. ค่าธรรมเนียมการจัดการของ ETF จะต่ำมากเพราะเป็นกองทุนแบบ Passive Fund ที่เน้นลงทุนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด ดังนั้น ETF จึงมีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำ เพราะไม่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้จัดการกองทุน และเพราะต้องจัดการให้กองทุนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด จึงคิดค่าธรรมเนียมแพงไม่ได้ ถ้าแพง กองทุนก็จะมีผลประกอบการที่ต่ำกว่าดัชนี เพราะดัชนีไม่มีค่าใช้จ่าย

5. ETF มีนโยบาย และเงื่อนไขการลงทุนชัดเจน คือ ต้องใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง แปลว่า เราจะทราบชัดเจนว่า ณ ขณะนั้นๆ กองทุน ETF ที่เราลงทุนนั้นลงทุนในอะไรอยู่ สัดส่วนเท่าไหร่ ขณะที่กองทุนแบบ Active Fund จะไม่มีความชัดเจนตรงนี้

6. ETF จะมีการกระจายการลงทุนที่ดี เพราะ ETF กระจายซื้อทุกหลักทรัพย์หรือในสินทรัพย์ตามสัดส่วนน้ำหนักในดัชนีอ้างอิง

7. ETF จะให้ผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง ซึ่งต่างจากกองทุนแบบ Active Fund ที่ผลตอบแทนในช่วงเวลาหนึ่งๆ แม้จะไม่ดีกว่าดัชนีอ้างอิง แต่ก็ไม่น้อยกว่าดัชนีอ้างอิงเช่นกัน

จากที่กล่าวมา เราคงเห็นแล้วว่า ETF เป็นเครื่องมือการลงทุนตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ความชัดเจน การกระจายความเสี่ยง และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ปัจจุบัน มี ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายประเภท อาทิ

- Equity ETF / Index ETF มุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีราคาหุ้นในประเทศ
- Sector ETF มุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีราคาหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม
- Foreign ETFมุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีราคาหุ้นต่างประเทศ
- Bond ETF มุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีราคาตราสารหนี้
- Gold ETFมุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงดัชนีราคาทองคำ

แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ ETF จะแก้ Pain Point ของกองทุนรวมปกติในหลายเรื่องได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่า ETF จะเหมาะกับนักลงทุนทุกคน เพราะต้องอาศัยความรู้ และความชำนาญในตลาดซื้อขายสินทรัพย์นั้นๆ ด้วย และต้องมีเวลาติดตามข่าวสารพอสมควร ซึ่งถ้าใครสนใจศึกษา ETF เพิ่มเติม ก็สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เลยนะครับ