พอ "เงินเดือน" ออก!! เชื่อว่าน่าจะเป็นเวลาแห่งความสุข เพราะมีเงินมาเติมในกระเป๋า แต่ในความเป็นจริง มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ อาจไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น ไหนจะค่าใช้จ่ายสารพัดที่มารอต่อคิว ทั้งค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ แถมยังมีค่าเข้าสังคมต่างๆ ให้ต้องควักกระเป๋าจ่าย เงินเดือนที่ได้มาก็แทบจะไม่มีเหลือ

มีผลสำรวจจาก The Deloitte Global 2022 ที่ไปสอบถามกลุ่มตัวอย่าง เป็น คน Gen Y และ Gen Z จำนวนกว่า 23,220 คนทั่วโลก ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ในจำนวนนี้มี คนไทย 300 คนรวมอยู่ด้วย พบว่า เกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และต่างกังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิล

ยอมรับเถอะปัญหาการเงิน บั่นทอนจิตใจ มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ กลายเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว บางคนเป็นหนัก พอได้ยินเรื่องของเงินๆ ทอง ๆ ทีไรก็รู้สึกแย่ แถมพอไปเปิดกระเป๋าสตางค์ดู ก็เศร้าหนักขึ้นไปอีก ไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดยังไงให้ถึงสิ้นเดือน บอกเลยถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ คุณมีภาวะ Financial stress แล้วล่ะ

“Financial stress” คืออะไร?

ข้อมูลทางจิตวิทยา ระบุว่า Financial stress คือ ความกังวล ความกดดัน ความตื่นตระหนกเรื่องเงิน เกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน ทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกเศร้า หรือ เครียด ที่เงินในกระเป๋าไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้

และสิ่งที่น่ากลัว คือ Financial stress มักทำให้ผู้คน เกิดอาการปวดหัว เครียด เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย พอเจอเรื่องนี้มากๆ ก็จะเริ่มนอนไม่หลับ บางคนถึงกลับมีภาวะซึมเศร้าเลยทีเดียว

คราวนี้เรามาดูที่มาของปัญหา “Financial stress”

ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตวิทยากร ให้คำปรึกษาด้านการเงิน-การลงทุน แห่งโรงพยาบาลจุฬาเวช เคยเขียนอธิบายว่า " ทำไมเรื่องการเงินถึงเป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ไขยากเย็นจนถึงขั้นต้องมีการบำบัด ?

คำตอบ คือ เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่สมดุล!!

อธิบายง่ายๆ ว่า บางคนหาเงินได้มากแต่ไม่มีเวลาใช้ จนเกิดเป็นความเครียด ยกตัวอย่าง คนบางมุ่งมั่นหาเงิน คิดว่ายิ่งมีมากเท่าไรยิ่งดี จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเต็มที่ ยอมเสียสละทุกอย่าง จนละเลยครอบครัว หรือ คนที่อยู่เบื้องหลัง กลายเป็นว่า มีเงินให้ใช้ แต่ไม่มีเวลาให้ เกิดเป็นปัญหาสังคม

แต่บางคนใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามาได้ เพราะอดทนกับกิเลส สิ่งล่อตาล่อใจ หรือ อยากอัปเกรดสถานะความเป็นอยู่ให้ทัดเทียมกับผู้อื่น แน่นอนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น แต่ความสามารถในการบริหารจัดการทางเงินกลับสวนทาง นานวันเข้า ก็ต้องนำเงินเก็บสะสมออกมาใช้ จนฐานะทางการเงินติดลบ บางทีต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อให้มีเงินหมุน สร้างภาระให้กับตัวเอง และคนรอบข้างอีกต่างหาก

เรื่องนี้ดูเหมือน จะสอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องทักษะทางการเงินของคนไทยทั้งประเทศ ปี 2563 พบว่า มีคนไทยเพียง 43.5% ที่มีการจัดสรรเงินก่อนใช้ และ มีคนไทย 38.9% เท่านั้นที่สามารถบริหารจัดการเงินให้เพียงพอกับรายจ่ายและภาระหนี้

แล้วความเครียดทางการเงินสร้างปัญหายังไง?

แน่นอน ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้ามีปัญหาเรื่องเงิน มักส่งผลกระทบต่อความภาคภูมิใจและการนับถือตัวเอง นำมาสู่ความวิตกกังวล ความเครียด การโทษตัวเองว่าไม่มีศักยภาพที่ดีพอจะรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้ดี หรือ ทำให้ครอบครัวภูมิใจ

คราวนี้ พอความภาคภูมิใจในตัวเองน้อยลง คนๆ นั้น จะเริ่มไม่ค่อยอยากพบปะผู้คน พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เพราะหมดความมั่นใจ ไม่อยากมาคอยตอบคำถาม หรือ อัปเดตว่าชีวิตช่วงนี้เป็นยังไง เพราะเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า ชีวิตกำลังตกต่ำ

ซ้ำร้าย เมื่อคนๆ หนึ่ง เครียดหนัก จนต้องการหลีกหนีสังคม ก็จะเริ่มเก็บตัว ไม่ใส่สุขภาพ สุขอนามัยของตัวเอง เริ่มไม่เปิดใจรับรู้สิ่งรอบข้าง ประสิทธิภาพการทำงานและความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็จะแย่ลงด้วย

แล้วจะรับมือกับปัญหานี้ยังไงดี?

เริ่มแรกต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา โดยยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาทางการเงิน และค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละครั้ง ด้วยการทบทวนพฤติกรรมการใช้จ่าย และค่อยๆ ปรับเปลี่ยน รู้ว่ามีรายได้คงเดิม แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็ต้องใช้จ่ายให้น้อยลง ลด ละความอยากมีอยากได้ เริ่มวางแผนบริหารทางการเงิน และพยายามหารายได้เสริม ถ้ายังไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ อาจหาผู้รู้มาเป็นที่ปรึกษา เชื่อเถอะคุณทำได้แน่นอน