"ลงทุนอะไรดี" เป็นคำถามยอดฮิต สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้นลงทุน ซึ่งมักเกิดจากการไม่มีเป้าหมายการลงทุน และผลที่ตามมา คือ การพุ่งเป้าที่ “ผลตอบแทน” เป็นหลัก จนลืมเรื่อง “ความเสี่ยง”
ความเสี่ยงของการลงทุน หมายถึง ความผันผวนของผลตอบแทนที่ส่งผลกระทบให้เป้าหมายการลงทุนหรืออาจกระทบต่อเป้าหมายการเงินอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น หากพุ่งเป้าไปที่ “ผลตอบแทน” เป็นอันดับแรก อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงเกินความจำเป็น
ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุนควรเปลี่ยนคำถามจาก “เราจะลงทุนในอะไร” เป็น “ทำไมเราต้องลงทุน” เราอาจพบคำตอบของแผนการลงทุนที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป สามารถลงทุนตามแผนที่วางเอาไว้ และถึงเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับการวางแผนการลงทุนแบบมีเป้าหมาย (Goal Based Investing) หมายถึง เมื่อเริ่มลงทุน ควรสำรวจตัวเองว่า...
-เป้าหมายการลงทุนคืออะไร?
-ระยะเวลาที่ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเป็นเท่าไร?
-ทรัพยากรการลงทุน(เงินต้น)เป็นอย่างไร?
จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเลือก “สินทรัพย์ลงทุน” และ “สร้างแผนการลงทุน”
จะเห็นได้ว่า Goal Based Investing ไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอันดับแรก แต่จะคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาในการลงทุน และเงินลงทุนที่ตัวผู้ลงทุนสามารถจัดสรรมาสำหรับแต่ละเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนตั้งต้น และเงินลงทุนสมทบรายงวด
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายการลงทุน
ปัจจุบันอายุ 30 ปี ต้องการเริ่มต้นลงทุนเดือนละ 15,000 บาท โดยมีเป้าหมายมีเงินก้อนจำนวน 10 ล้านบาทสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุที่ 55 ปี
จากข้อมูลนี้ สามารถคำนวณหาอัตราผลตอบแทนคาดหวังได้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปีของแผนการลงทุน
เมื่อรู้ว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้เป็นเท่าไร หลังจากนั้น จึงจะเริ่มจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามความคาดหวัง
ในทางกลับกัน หากไม่ทราบว่าเป้าหมายการลงทุนคืออะไร มักจะพุ่งความสนใจไปที่ผลตอบแทนเป็นอันดับแรก ด้วยการเริ่มต้นเลือกสินทรัพย์ลงทุน ทำให้ไม่ทราบว่าเงินลงทุนที่ใช้ควรจะมีมากน้อยเพียงไร และอาจเผชิญกับความเสี่ยงหรือความผันผวนสูงเกินความจำเป็น
เช่น นำเงิน 500,000 บาท ไปลงทุนในหุ้นรายตัวเพื่อให้ได้เงิน 10 ล้านบาท โดยไม่ทราบถึงความเสี่ยงของแผนการลงทุน เช่น ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม การวางแผนการลงทุนแบบ Goal Based Investing ไม่ได้มีเพียงการตั้งเป้าหมายการลงทุนเพียงเท่านั้น แต่ต้องให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้เป็นสำคัญด้วย เพราะถึงแม้แผนการลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามคาดหวังแต่กลับมีความเสี่ยงสูงเกินไป หรือผู้ลงทุนอาจเปลี่ยนแผนการลงทุนในระหว่างทาง เป็นต้น ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้แผนการลงทุนดังกล่าวควรพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนนะครับ
เขียนโดย: ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส ที่ปรึกษาการเงินอิสระ, AFPT™