Shopaholic คือ โรคที่เสพติดการชอปปิงและมีความต้องการจะซื้อสินค้าตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เป็นโรคชนิดนี้จะรู้สึกดีทุกครั้งที่ตนเองได้ซื้อของหรือใช้จ่ายเงิน และจะไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองในการชอปปิงได้

ปัญหาที่ตามมาของการเสพติดการชอปปิงออนไลน์ คือทำให้เกิดพฤติกรรมในการใช้จ่ายค่อยดี และอาจทำให้เกิดหนี้สินในภายหลังได้ ถ้าไม่สามารถห้ามใจตัวเองได้ ซึ่งส่วนมากกลุ่มคนที่มีอาการเสพติดการชอปปิงจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ครับ แต่เมื่อเสพติดแล้วส่งผลเสียกับตัวเอง เราก็ต้องหาทางแก้ไขนะครับ มาดูดีกว่า ทำยังไงจะได้เลิกเสพติดสักที!

วิธีที่ 1 ไม่หลงกลกับตัวเลข

ในทางจิตวิทยานั้นกล่าวว่า การตั้งราคาสินค้าที่ลงท้ายด้วยเลข 9 คือ การใช้กลยุทธ์ราคาแบบเลขคี่ที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าสินค้านั้นราคาถูกกว่าปกติและตัดสินใจซื้อได้ง่าย เคล็ดลับที่จะสามารถพิชิตตัวเลขเหล่านี้ได้ คือ วิธีการปัดเศษส่วน

ยกตัวอย่าง หากคุณต้องการซื้อเสื้อผ้าราคาตัวละ 299 บาท คุณจะต้องทำการปัดเศษส่วนขึ้น เพื่อมองตัวเลขให้เป็นราคา 300 บาท มันจะทำให้คุณเห็นราคาเต็มจำนวนและมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบมากขึ้นครับ

วิธีที่ 2 เลือก NEED ไม่ใช่ WANT

การชอปปิงที่ดีควรจะคำนึงถึงความจำเป็น (NEED) ไม่ใช่ความต้องการ (WANT) ซึ่งหลายๆคนส่วนใหญ่มักจะเลือกชอปปิงสินค้าออนไลน์ตามโปรโมชั่นจากส่วนลดต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้งาน

คิดว่าสินค้าอันนี้มันลดราคา ฉันอยากได้ ฉันต้องมี เวลาเราตัดสินใจซื้อสินค้า เราต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งานเป็นอย่างแรกไม่ใช่ดูที่ส่วนลดหรือความต้องการ

วิธีที่ 3 ซื้อเงินสด อย่าใช้บัตรเครดิต

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้คุณเสพติดการชอปปิงออนไลน์นั้น มาจากความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินครับ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินที่แค่คลิกเดียวก็สามารถซื้อสินค้าได้ในทันที

หรือการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตที่แถมส่วนลดดึงดูดผู้ใช้บริการต่างๆ ทำให้เราเกิดการใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัว

การแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้จากการถือเงินสดแทนบัตรเครดิตครับ แม้ว่าการใช้เงินสดอาจจะมีความสะดวกสบายน้อยกว่าบัตรเครดิตและสร้างความกังวลในการกลัวถูกโจรกรรม

แต่การถือเงินสดในปริมาณที่พอดี โดยมีการประมาณการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าแล้ว จะสามารถช่วยให้คุณมีการใช้จ่ายที่น้อยลงได้ครับ

วิธีที่ 4 ตั้งงบประมาณในการซื้อของแต่ละเดือน

การตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าแต่ละเดือนจะเป็นการจำกัดการใช้จ่ายของคุณ ให้สามารถใช้จ่ายในวงที่จำกัด ซึ่งในเดือนแรกๆ สามารถที่จะตั้งวงเงินตามความเหมาะสมแล้วจึงค่อยๆ ทยอยลดไปทีละเดือนก็ได้ครับ

เช่น เดือนแรกตั้งงบซื้อเสื้อผ้าได้ไม่เกิน 2,000 บาท เดือนถัดมาอาจจะลดลงเป็น 1,500 บาท เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป

วิธีที่ 5 หลีกเลี่ยงแอพชอปปิง

เคยไหมครับ ตั้งใจจะดูสินค้าไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่า พอรู้ตัวอีกทีก็เผลอโอนเงินซื้อสินค้าไปเสียแล้ว วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ คือการหลีกเลี่ยงการเข้าแอพพลิเคชันชอปปิงออนไลน์โดยไม่จำเป็นครับ เพื่อที่คุณจะได้ไม่เกิดความคิดที่อยากจะนำเงินไปใช้จ่ายในสินค้านั้นๆ

วิธีที่ 6 ทบทวนก่อนการซื้อ

หลายๆ คนมักจะคิดว่า สินค้าที่ตนเองซื้อผ่านทางร้านค้าออนไลน์นั้นมีราคาที่ถูกกว่าร้านค้าปกติทั่วไป แต่ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ทางที่ดี ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า คุณควรเปรียบเทียบราคาทั้งสองรูปแบบก่อน จะได้ใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่าที่สุด

วิธีที่ 7 อย่าแก้เครียดด้วยการชอปปิง

การชอปปิงไม่ใช่ทางออกสำหรับการคลายเครียดเสมอไปครับ เพราะคุณสามารถที่จะเลือกหนทางอื่นๆในการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องเสียเงินได้ เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารที่คุณชอบ การได้ใช้เวลาอยู่กับคนที่คุณรัก การทำสิ่งที่คุณชอบ เหล่านี้ล้วนคลายเครียดได้ทั้งนั้น

ใครมีวิธีอื่นในการแก้อาการเสพติดชอปปิงออนไลน์ ก็แชร์กันมาได้นะ