ใครเป็นบ้าง “เงินเดือน” เข้าปุ๊บ-ออกปั๊บ? ต้นเดือนแบบนี้เชื่อว่า “มนุษย์เงินเดือน” คงจะได้รับค่าเหนื่อยจากการทำงานอันเป็นที่รักกันมาแล้ว แต่คำถามคือ “เงินเดือน” ที่ได้ยังอยู่ดีใช่มั้ย หรือกำลังเตรียมถูกจ่ายออกไปอย่างเมามัน ซึ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเงินเดือนเข้ามาแล้ว แต่ออกไปไวเหลือเกิน วันนี้ aomMONEY มีเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยคุณมาฝาก
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเหตุผลของการที่เงินเดือนไม่เคยจะอยู่กับเราได้นานเป็นเพราะอะไรกันแน่ “เงินเดือนน้อยเกินไป” หรือ “ค่าใช้จ่ายมากเกินไป” ถ้าเป็นเรื่องของเงินเดือนน้อย ต้องบอกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนเงินเดือนได้ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ สิ่งที่อาจจะทำได้ คือ ต้องหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้เลยไม่ต้องรอ คือ เรื่องของการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และเพิ่มการบริหารจัดการเงินให้ดีขึ้น
ชวนทุกคนมาเตรียมความพร้อมก่อนไปง้อ “เงินเดือน” กันก่อนดีกว่า โดยให้ทุกคนเริ่มด้วยการสำรวจหรือจดบันทึก “รายจ่าย” ที่ต้องจ่ายออกไปในแต่ละเดือนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพื่อนำมาแยกรายการเป็น “ค่าใช้จ่ายจำเป็น” และ “ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น” จากนั้นจึงท่องไว้ในใจว่าจะต้องไม่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกนะ
โดยปกติแล้วถ้าเราจะง้อใครสักคน หลายคนอาจจะชอบใช้วิธีให้สิ่งของต่างๆ เพื่อง้อ ซึ่ง “เงินเดือน” ก็เหมือนกัน แต่การจะง้อเงินเดือนให้อยู่กับเรานานๆ เราต้องให้ “บัญชี” หลายๆ บัญชี เพื่อให้เงินเดือนได้กระจายออกไปอยู่ในบัญชีต่างๆ โดยให้แบ่งออกเป็นอย่างน้อย 3 บัญชี ได้แก่ (1) บัญชีค่าใช้จ่ายจำเป็น (2) บัญชีเงินออม (3) บัญชีค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นได้
บัญชีค่าใช้จ่ายจำเป็น
เป็นบัญชีสำหรับกระจายเงินเดือนมาพักไว้เพื่อรอใช้สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราลิสต์ออกมาแล้ว โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่มียอดตายตัวไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น ค่าห้องพัก ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะมีในส่วนของยอดผ่อนชำระหนี้ต่างๆ รายเดือนรวมอยู่ด้วย ซึ่งจำนวนเงินก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีค่าใช้จ่ายหรือยอดผ่อนมากน้อยเพียงใด แต่โดยปกติแล้วหากคิดเฉพาะยอดผ่อนชำระหนี้รายเดือนทั้งหมดก็ไม่ควรเกิน 40-50% ของเงินเดือน โดยหากรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในหมวดนี้ บัญชีนี้ก็ควรจะมีเงินระดับไม่เกิน 50-70% ของเงินเดือน เพื่อที่จะรอไปใช้จ่ายตามกำหนดต่อไป
บัญชีเงินออม
หลังจากที่แยกเงินเดือนไปเก็บในบัญชีค่าใช้จ่ายจำเป็นแล้ว ต่อมาให้แบ่งเงินเดือนเพื่อมาเป็นเงินออมก่อน โดยในทุกๆ เดือน ชวนทุกคนมาเก็บออมอย่างน้อย 10-20% ของเงินเดือน เพื่อเก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน โดยเราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนเป็นอย่างต่ำนะครับ หากใครที่บอกว่ามีเงินสำรองฉุกเฉินครบแล้ว ก็สามารถนำเงินส่วนที่จะถูกแบ่งจากเงินเดือนมาไว้ในบัญชีนี้ไปลงทุนเพื่อหาโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ บัญชีนี้จะช่วยสร้างวินัยในการออม และเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เก็บไว้ก็สามารถนำมาใช้ได้หากเดือนไหนเกิดเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเร่งด่วนขึ้นมานะครับ
บัญชีค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นได้
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับคุณก็ได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์ก็ได้ เช่น ค่ากิจกรรมพักผ่อน โดยลักษณะค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เราจะสามารถปรับระดับความถูกหรือแพงได้ตามสภาวะการเงินของเราในช่วงนั้น โดยจะเป็นเงินที่เหลือจาก 2 บัญชีแรก แล้วนำมาเก็บไว้ในบัญชีนี้ ซึ่งตลอดทั้งเดือนค่าใช้จ่ายที่จะถูกจ่ายเป็นรายวันจะต้องมาใช้จากบัญชีนี้เท่านั้น โดยอาจจะดูยอดทั้งหมดที่เหลือในบัญชีนี้ แล้วหารเป็นค่าใช้จ่ายต่อวันก็ได้ เพื่อทำให้เรารู้ลิมิตว่าแต่ละวันเราจะสามารถใช้เงินได้มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น นายออมเก่ง มีเงินเดือน 20,000 บาท เขาสำรวจแล้วว่า เดือนๆ หนึ่งเขามีค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ต้องจ่ายตายตัวประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น เขาจึงต้องแบ่งเงิน 60% ของเงินเดือน หรือเท่ากับ 12,000 บาท มาไว้ในบัญชีที่ (1) ก่อนเลย ต่อมาเขาเลือกเก็บออมขั้นต่ำที่ 10% ของเงินเดือน ดังนั้นเงินจำนวน 2,000 บาทจะถูกแบ่งมาเก็บในบัญชีที่ (2) เพื่อไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เท่ากับว่าตอนนี้นายออมเก่ง เหลือเงินเพื่อนำไปใช้สำหรับค่าใช่จ่ายที่ยืดหยุ่นได้อีก 6,000 บาท (=20,000-12,000-2,000) ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เหลือนี้จะถูกนำมาเก็บไว้ในบัญชีค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นได้ครับ
การใช้วิธีนี้จะช่วยทำให้เราจัดการเงินได้ชัดเจนตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกว่า เงินเดือนหรือรายได้ที่ได้มาจะถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ทำให้เราไม่เผลอหยิบเงินในส่วนที่เตรียมรอไว้เพื่อใช้จ่ายจำเป็นจริงๆ มาใช้ก่อน โดยที่เราอาจจะคิดว่ามีเงินก้อนใหญ่ในต้นเดือน ทำให้เราใช้จ่ายอย่างสนุกสนาน แต่ปลายเดือนแทบจะไม่เหลือเงินแล้ว นอกจากวิธีนี้จะทำให้เราคุมค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังช่วยให้เราได้เก็บก่อนใช้ ฝึกวินัยการออม และมีโอกาสต่อยอดเงินที่หามาได้อีกด้วย ยังไงก็ลองทำตามกันดูได้นะครับ ผลเป็นยังไง ง้อสำเร็จไหม มาบอกกกกันได้นะครับ