สำหรับผู้ที่ทำงานและได้รับเงินเดือนเป็นประจำ เช่น เดือนละครั้ง อาจมีประสบการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สามของทุกเดือน ก็จะภาวนาให้ถึงวันเงินเดือนออกเร็วที่สุด เพราะเงินเหลือติดกระเป๋าไม่กี่บาท และคาดว่าจะใช้หมดในวันพรุ่งนี้

สถานการณ์ “เงินเดือนหมดกลางเดือน” ก่อนเงินเดือนก้อนใหม่จะออก มักเกิดจากการจัดการเงินเดือนที่ผิดพลาด หรือสับสนเกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่าย ดังนั้น ก่อนจะกลายเป็นปัญหาเรื้องรัง ควรตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการบริหารเงินเดือนให้ดียิ่งขึ้น

ติดตามว่าเงินหายไปไหน

ควรตั้งคำถามทุกวันว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เงิน หายไปโดยไม่รู้ตัว” ก็จะได้คำตอบทันที เช่น เกิดจากการใจอ่อนซื้อขนมมากินช่วงบ่ายทุกวัน, ซื้อกาแฟวันละ 2 แก้ว หรือไปฉลองกับเพื่อนๆ ทุกเย็นวันศุกร์ หมายความว่า ถ้าต้องการรู้ว่าเงินหายไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องติดตามค่าใช้จ่ายทุกวัน ซึ่งวิธีการติดตามค่าใช้จ่ายแบบง่าย ๆ คือ จดบันทึกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง หรือใช้แอพพลิเคชั่นจดบันทึกแทน

ตั้งงบประมาณและใช้จ่ายตามงบ

การตั้งงบประมาณก็เหมือนการบังคับให้คิดก่อนใช้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้สามารถติดตามค่าใช้จ่ายของตัวเองและมั่นใจได้ว่าจะไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น คือ การตั้งงบประมาณรายจ่ายในแต่ละเดือนให้ชัดเจน จากนั้นก็ใช้จ่ายตามงบที่ตั้งเอาไว้อย่างมีวินัย เช่น ตั้งงบค่าใช้จ่ายไว้ 5,000 บาท ก็ต้องใช้จ่ายตามงบนี้ และเมื่อใช้จ่ายครั้งใดก็ต้องจดบันทึกเพื่อสะกดรอยตามเงินว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และสำรวจว่าได้ใช้จ่ายไปมากแค่ไหนแล้ว

จัดลำดับความสำคัญและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อรู้ว่าแต่ละเดือนมีการใช้เงินไปที่ไหนและอย่างไรแล้ว ก็สามารถเริ่มจัดลำดับความสำคัญของรายการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ ขณะเดียวกันก็เริ่มลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดกินข้าวนอกบ้านจากทุกเย็นวันศุกร์ให้เหลือ 1 ครั้งต่อเดือน ลดซื้อกาแฟจากวันละ 2 แก้ว เหลือวันละ 1 แก้ว ถ้าทำเป็นประจำก็จะเริ่มสังเกตเห็นว่าเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น

ตั้งเป้าประหยัดเงิน

ในยุคที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ คือ การประหยัด เช่น ประหยัดไฟ ประหยัดค่าเดินทาง เช่นเดียวกันการทำให้มีเงินเหลือจนถึงสิ้นเดือน คือ ประหยัดเงินตั้งแต่วันแรกที่เงินเดือนโอนเข้าบัญชี เช่น ตั้งเป้าประหยัดเงินให้ได้ 10% ของเงินเดือน สมมติว่าเงินเดือน 30,000 บาท จะมีเงินเหลือในกระเป๋าในเดือนนั้น 3,000 บาท โดยเงินก้อนนี้จะกันออกมาเพื่อเป็นเงินสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น

จ่ายหนี้ให้หมดเร็วที่สุด

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนแต่ละเดือนหมดเร็ว คือ หนี้ เพราะเงินเดือนส่วนใหญ่จะถูกกันไปจ่ายหนี้ เช่น เงินเดือน 30,000 บาท จ่ายหนี้เดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าเหลือเงินเพื่อดำรงชีวิต10,000 บาท โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ และจ่ายแบบขั้นต่ำ ผลที่ตามมาจะทำให้จำนวนหนี้ทบไปเรื่อย ๆ และยิ่งจ่ายลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มทุกเดือนๆ ยิ่งทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ควรเคลียร์หนี้ให้หมดเร็วที่สุด โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านหนี้

ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย

หลายคนอาจมีประสบการณ์ “ไม่ได้ใช้เงินตามเงินเดือนหรือรายได้ที่หามาได้” ผลที่ตามมา คือ เงินหมดก่อนสิ้นเดือน เพราะ “มีมาก ก็ใช้มาก” หรือ “ใช้มากกว่า ที่หามาได้” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน” หรือเงินไม่พอใช้ ดังนั้น ถ้าต้องการมีเงินเหลือ ควรเริ่มต้นด้วย “ลดความต้องการ เน้นความจำเป็น”

กุญแจสู่ความสำเร็จทางการเงินไม่ใช่จำนวนเงินที่หาได้ แต่อยู่ที่สามารถเก็บเงินไว้ได้มากเพียงใด ซึ่งเทคนิคที่ทำได้ทันที คือ หลีกเลี่ยงสิ่งล่อใจที่จะทำให้ใช้จ่ายมากกว่าที่สามารถจ่ายได้ ด้วยการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามกระแส

“กระต่าย กับ เต่า” นิทานสอนการใช้ชีวิตด้วยความไม่ท้อแท้ ไม่ประมาท เพราะถ้าประมาท เลินเล่อ คิดว่าตัวเองเก่ง บทสรุปก็จะเหมือนกระต่าย การใช้เงิน ก็เช่นกัน เพราะกว่าเงินเดือนจะออกแต่ละงวดอาจจะครึ่งเดือนหรือรายเดือน และเมื่อมีเงิน ถ้าใช้จ่ายอย่างมือเติบ เหมือนเงินหามาได้ง่าย ๆ ก็จะหมดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าอยากมีเงินอยู่กระเป๋าไปนาน ๆ มีเงินเก็บออม ก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด รู้คุณค่าของเงิน ใช้จ่ายเงินช้าๆ ให้เหมือนเต่า รับรองมีเงินเหลือใช้ถึงสิ้นเดือนแน่นอน