เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหมครับ เวลาที่เงินเดือนขึ้น หรือหาเงินได้เพิ่ม ในตอนแรกเรามักคิดว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เราเก็บเงินได้เพิ่มขึ้นด้วย แต่เอาเข้าจริง เรากลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นยิ่งกว่า ซ้ำร้าย เงินที่หวังจะเก็บก็ไม่ได้สักบาท เหตุการณ์แบบนี้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องของ “Income Effect” ก็ได้นะครับ

Income Effect คืออะไร?

“Income Effect” หรือ “ผลทางรายได้” เป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ ผลของรายได้ที่แท้จริง(Real Income) ที่มีต่อความต้องการ “สินค้าและบริการ” พูดง่ายๆ คือ ถ้าเรามีรายได้เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้เราเลือกใช้บางสินค้าและบริการ “เพิ่มขึ้น” และเลือกใช้บางสินค้าและบริการ “ลดลง” ขึ้นอยู่กับว่า เรามอง “สินค้าและบริการ” นั้น เป็นประเภทไหน…ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

1) สินค้าปกติ (Normal Goods)

สินค้าประเภทนี้ สังเกตง่ายๆ คือ เมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราจะต้องการซื้อสินค้าและบริการเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เช่น สินค้าแบรนด์แนม, อาหารแพงๆ หรือ การท่องเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น

กล่าวคือ ถ้าเรามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปกติเราก็มักจะมองหา ความสะดวกสบาย หรือ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งเราก็จะเลือกซื้อสินค้าแพงๆ เพิ่มขึ้น อยากทานอาหารนอกบ้านถี่ขึ้น หรือ อยากมีทริปท่องเที่ยวบ่อยขึ้น เพราะสินค้าและบริการเหล่านี้ยิ่งใช้มาก ยิ่งบริโภคมาก ก็จะยิ่งสร้างความพึงพอใจให้เราได้มากขึ้นเช่นกัน

2) สินค้าด้อย (Inferior Goods)

สินค้าประเภทนี้ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอบ้าง แต่อาจไม่ทันสังเกต หลักการคือ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เราจะต้องการสินค้าและบริการประเภทนี้ลดลง โดยส่วนมากจะเป็นสินค้าที่คนจะซื้อเมื่อมีรายได้ในระดับต่ำ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, รถเมล์ หรือ เก็บตัวไม่ออกจากบ้าน เป็นต้น

กล่าวคือ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เราจะบริโภคและใช้สินค้าเหล่านี้ลดลง เราจะไม่อยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือทำอาหารกินเองที่บ้านแล้ว แต่อยากจะกินอาหารนอกบ้านราคาแพงขึ้นแทน เราจะไม่อยากนั่งรถเมล์ แต่จะเลือกนั่งแท็กซี่หรือซื้อรถยนต์ใช้เองแทน หรือเราจะอยู่บ้านน้อยลงแต่เลือกที่จะออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่า เหตุผลที่ทำให้เรามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะเรามักจะลดการใช้ สินค้าด้อย (Inferior Goods) ที่มีราคาถูก แต่จะเพิ่มการใช้สินค้าปกติ (Normal Goods) ที่มีราคาแพงกว่ามากขึ้นนั่นเอง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและได้ความพอใจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้ แต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้ บางครั้งสินค้าด้อยของคนหนึ่ง อาจจะเป็นสินค้าปกติของอีกคนหนึ่งก็ได้

คราวนี้เราลองมาดูกันชัดๆ ดีกว่าว่า มีพฤติกรรมอะไรที่เข้าคอนเซ็ปต์ของการใช้สินค้าปกติบ้าง ที่ทำให้เราต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และต่อให้หารายได้มากแค่ไหน ก็คงใช้ไม่พอสักที

1. ใช้ของหรู ติดแบรนด์เนม

โดยพฤติกรรมนี้ ส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนไปตามสังคมที่อยู่ ยกตัวอย่าง เมื่อตอนเราอยู่มหาวิทยาลัยเราจะนิยมใช้ของตามเพื่อนในวัยนั้น วัยทำงานก็เหมือนกันเมื่อเราหารายได้เองย่อมอยากมีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ทำงานใช้ของที่ดูดีเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพให้น่าเชื่อถือขึ้นไม่ว่าจะเป็น การซื้อกระเป๋าแบนด์เนม รถยนต์ หรือนาฬิกาสุดหรู

คำแนะนำจาก aomMONEY : ของแบรนด์แนมบางอย่างมีความคงทนจริงและมี value ในแง่ของภาพลักษณ์ผู้ใช้งาน แต่ทั้งนี้แนะนำว่าถ้าด้วยสถานะทางสังคมหรือตำแหน่งงานไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องใช้ภาพลักษณ์ที่ดูแพง ก็ไม่จำเป็นเลยสักนิดที่เราจะต้องซื้อของแบรนด์เนมที่ราคาเกินตัว

2. กินของแพงเป็นชีวิตจิตใจ

อาหารตามสั่งคืออะไร? ไม่รู้จัก หมูกระทะหนะหรอขอผ่านนะ อย่างเราต้องนี้อาหารญี่ปุ่น โอมากาเสะรสเลิศ แพงแค่ไหนก็ต้องได้กิน ไหนจะต้องปาร์ตี้คลับที่ต้องมีคลาสหน่อย จะไปนั่งร้านธรรมดาไม่ได้ พฤติกรรมเหล่านี้ก็ถือเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามฐานเงินเดือนของแต่ละคน

คำแนะนำจาก aomMONEY : แม้เงินเดือนจะมากขึ้น แต่เพื่อนๆ ก็เลือกที่จะประหยัดเงินได้ แทนที่จะกินอาหารแพงๆ ทุกวัน ลองเปลี่ยนพฤติกรรมการกินดู หันมาทานอาหารที่ไม่ได้แพงเกินตัวของเรา บางทีการกินอาหารร้านธรรมดาก็ไม่ได้ทำให้เรามีภาพพจน์ที่แย่เสมอไป

3. ตามเทรนตลอดเวลา ตกเทรนไม่ได้เดี๋ยวเอ้าท์

ปัจจุบันสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่แสดงออกถึงความชอบ การกระทำของเรา ดังนั้น การจะโพสต์ลงแต่ละครั้งก็ต้องลงทุนกันหน่อย จะอัพรูปหรือโพสต์เฉยๆ ยอดไลก์ก็จะไม่ขึ้น ต้องมีพร็อพอย่างโทรศัพท์รุ่นใหม่ กระเป๋าใบใหม่ เครื่องสําอางค์เคาน์เตอร์แบรนด์ เสื้อผ้าเก๋ๆ ให้เข้ากับสถานที่ต่าง ๆ เอามาอวดกันไปเลย

คำแนะนำจาก aomMONEY : พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เราเสียเงินโดยใช่เหตุไปกับของที่ไม่จำเป็น เราต้องเริ่มปรับ mindset ของเราก่อน แต่ถ้าเราอยากตามเทรนก็อยากให้ลองมองถึงความจำเป็นของสิ่งๆ นั้นดูว่าจำเป็นไหม ราคาแพงเกินไปหรือเปล่า ตั้งงบประมาณของสิ่งของก่อนเสมอ

4. สุขภาพต้องดี ผิวต้องสวย

นั่งหน้าจอมาทั้งอาทิตย์เมื่อยมาทั้งวัน ก็ต้องดูแลตัวเองกันหน่อย มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนต้องมีความคิดนี้แบบนี้แน่นอน การผ่อนคลายหลังจากที่ทำงานหนักมาทุกวันคงเป็นอะไรที่ดีมากเลย เรายอมที่จะเสียเงินไปกับการเข้ายิม ฟิตหุ่น หรือจ่ายเงินแพงๆ ไปกับการสปาผิว เสริมความงาม ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เบาๆ เลยนะครับ แต่เพื่อความสวย ความหล่อ ก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้เช่นกัน

คำแนะนำจาก aomMONEY : เข้าใจว่าการมีสุขภาพที่ดีถือเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากมี แต่ทั้งนี้การที่เราจะต้องเสียเงินไปกับการเข้ายิม หรือเสริมความงาม สปาผิว ก็ไม่ได้จำเป็นเสมอไป สิ่งเหล่านี้เราสามารถทำเองได้ที่บ้าน อย่างออกกำลังกายแทนที่จะเสียเงินเข้ายิมลองหันมาออกกำลังกายที่บ้านก็ได้เสียเหงื่อได้เหมือนกัน

5. เงินเดือนออกทั้งที ให้รางวัลตัวเองสักหน่อย

ทำงานมาทั้งเดือนเหนื่อยก็เหนื่อย แบบนี้ต้องมีรางวัลให้ตัวเองหน่อยแล้ว แต่รางวัลชิ้นนี้ต้องมีมูลค่า ราคาที่คุ้มค่ากับการที่เราเหนื่อยมาทั้งเดือน รูดไปก่อนค่อยผ่อนจ่ายทีหลังยังไงก็ต้องใช้เงินอยู่ดี แต่รู้ตัวอีกทีก็หมดเกลี้ยงไม่มีเงินเหลือให้เก็บซะแล้ว

คำแนะนำจาก aomMONEY : เราทุกคนล้วนอยากให้รางวัลกับตัวเองกันทั้งนั้น แต่ทั้งนี้เราต้องดูภาระค่าใช้จ่ายของเราด้วยว่าการซื้อรางวัลชิ้นนี้สำคัญไหมหรือเราจะปรับจากต้องให้รางวัลตัวเองทุกเดือน เป็นให้รางวัลตัวเองปีละครั้ง แบบนี้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเราลงไปได้เยอะเลย

หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่ใช่น้อยนะครับ เพราะเพื่อนๆ อาจจะกำลังตกอยูในกลุ่มค่านิยมสุดพัง ดังนั้น เราจะต้องปรับวิธีคิดกันใหม่ แยกความจำเป็นและความไม่จำเป็นออกจากกัน ฟังแล้วดูทำยากใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราพยายามกันสักตั้ง ลดความอยากได้ของมันต้องมีออก เพื่อที่เราจะมีเงินเก็บที่เยอะขึ้น และปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือนก็จะหมดไป หากเพื่อนๆ ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ตอนนี้ วันข้างหน้าเราจะต้องมากังวลกันอย่างแน่นอนครับ เพราะฉะนั้น อยากให้เพื่อนๆ วางแผนการใช้เงินกันให้ดีกันนะครับ

สุดท้ายนี้ถ้าเพื่อนๆ มนุษย์เงินเดือนคนไหนรู้ว่าตัวเองมีค่านิยมการเงินสุดพังคล้ายดังกล่าว ก็อย่าลืมรีบเปลี่ยนตัวเองกันนะครับ เปลี่ยนตอนนี้ไม่สายแน่นอน