คนที่ฉลาดต้องตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอใช่ไหม?

มันเป็นความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่คิด เพราะแน่นอนว่าความฉลาดกับการตัดสินใจที่ดีนั้นมักมาคู่กัน

เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริงซะทีเดียว คนฉลาดก็ตัดสินใจพลาดกันได้ แม้แต่นักลงทุนที่มีฉายาว่าเทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา (“Oracle of Omaha”) อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ก็ยอมรับว่าเขาเองก็เคยพลาดมาหลายต่อหลายครั้ง เลือกหุ้นผิดตัว พลาดโอกาสซื้อหุ้นของบริษัทดีๆ อยู่ไม่น้อย

บัฟเฟตต์พูดอยู่เสมอว่าความสำเร็จทางด้านการเงินการลงทุน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีไอคิวสูงๆ เท่านั้น คนทั่วไปก็ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

งานวิจัยของ คีธ สตาโนวิช (Keith Stanovich) ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ศึกษาจิตวิทยาการด้านเหตุผลมานานกว่าทศวรรษ ก็บ่งบอกไปในทิศทางเดียวกันว่าการทดสอบไอคิว (IQ Test) นั้นเป็นเครื่องมือที่ดีในการวัดค่าความสามารถทางสมองด้านตรรกะ การใช้เหตุผลเชิงนามธรรม และความทรงจำ

แต่พอเป็นเรื่องตัดสินใจที่ดีในสถานการณ์จริงการผลการทดสอบนี้กลับใช้ไม่ได้เลย

มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ผู้เขียนหนังสือการเงินชื่อดังอย่าง “The Psychology of Money” (จิตวิทยาว่าด้วยเงิน) เป็นทั้งพาร์ตเนอร์ในบริษัทลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการเงินบอกว่า

“ผมเห็นมาหลายครั้งแล้วที่ความเฉลียวฉลาดกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางการตัดสินใจที่ดีของหลายๆ คน”

ซึ่งเฮาเซิลได้แชร์ 2 เหตุผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นและเราจะใช้มันเพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้นได้ยังไง ไม่ว่าเราจะมีคะแนนไอคิวมากหรือน้อยก็ตาม

1. ความเฉลียวฉลาดเพิ่มขีดความสามารถในการหลอกตัวเองด้วยเรื่องราวที่น่าเชื่อถือว่าทำไมเรื่องบางเรื่องถึงเกิดขึ้น

เฮาเซิลบอกว่า “คนที่มีไอคิวสูงๆ ไม่ได้เป็นคนที่เรียนรู้ได้ไวเสมอไป เพราะพวกเขาพยายามที่ยัดเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงไปในทฤษฎีที่พวกเขาถูกสอนมา ในระหว่างที่คนทั่วไปก็จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในแบบที่มันเป็นได้ดีกว่า”

พูดอีกอย่างก็คือว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ไม่คาดคิด มันเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับคนทั่วไปที่จะยอมรับว่านั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วมูฟออน ใช้ชีวิตต่อไป ส่วนคนที่มีไอคิวสูงๆ จะพยายามหาหลักฐานเหตุผลทฤษฎีที่เรียนมาเพื่อสร้างกรอบความเข้าใจสถานการณ์ตรงนั้นให้ได้

เราจะตัดสินคนอื่นจากการกระทำของพวกเขา แต่เมื่อเราตัดสินตัวเอง เสียงที่อยู่ในหัวนั้นจะพยายามหาเหตุผลมารองรับความผิดพลาดและการตัดสินใจแย่ๆ ของตัวเองเสมอ

ในทางจิตวิทยาแล้วนี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Hindsight Bias” หรือ อคติแห่งการมองย้อนหลัง ที่เราคิดว่าเรารู้มาก่อนแล้วว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้หรอก แต่พอเรื่องมันเกิดขึ้นก็คิดว่าตัวเองรู้ทันที

สังเกตง่ายๆ ครับ ถ้าเราพูดว่า “ว่าแล้ว ต้องเป็นแบบนี้” เมื่อไหร่ นั่นแหละครับเราอาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อของอคติทางจิตวิทยาอันนี้อยู่

สมมุติว่าถ้าผู้จัดการกองทุนของคุณทำผลลัพธ์ได้ไม่ดี เราอาจจะชี้ให้เห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง (ซื้อตอนฟองสบู่กำลังจะแตก, มันมีวิกฤติสงคราม, ขายเพราะอารมณ์ หรือ ไม่ได้กระจายพอร์ตมากพอ)

แต่ถ้าเราเป็นผู้จัดการกองทุนที่ทำผลลัพธ์ได้ไม่ดี เราอาจจะสร้างเรื่องราวหรือหาทฤษฎีบางอย่างเพื่อรองรับการตัดสินใจแย่ๆ ของตัวเองและอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเราคาดผิดนะ แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกมากกว่า “เนี้ย FED ทำให้เศรษฐกิจมั่วไปหมด” หรือ “ดูจากโมเดลมันต้องแบบนี้ ตลาดต่างหากที่ไปผิดทาง”

บทเรียนจากเรื่องนี้คือ

- เราคิดว่าตัวเองพลาดน้อยกว่าคนอื่น เพราะเสียงในหัวที่เราบอกกับตัวเอง
- เมื่อคุณฉลาด มันก็เหมือนคำสาปด้วยเช่นกันที่สามารถสร้างเรื่องราวที่ดูมีเหตุผลมารองรับว่าทำไมคุณถึงได้ตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งเหตุผลนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป

สิ่งที่สำคัญคือฟังคนอื่นให้เยอะเมื่อผิดพลาด ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น และเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้ แล้วตัดสินใจให้ดีขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อไหร่ที่เราบอกว่า “รู้แล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้” แสดงว่าน้ำเราอาจจะกำลังเต็มแก้วและไม่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว

2. ความเฉลียวฉลาดผลักดันให้คุณคิดว่าปัญหาที่ซับซ้อนต้องมีคำตอบที่ซับซ้อนด้วย

เฮาเซิลอธิบายประเด็นนี้ว่า

“ปัญหาที่ซับซ้อนมากๆ บางอันมีทางออกที่เรียบง่ายมาก เพราะทางออกที่เรียบง่ายคือการหาทางอ้อมปัญหานั้นไป แทนที่จะพุ่งใส่มันตรงๆ ซึ่งเป็นส่วนของปัญหาที่ไม่มีทางรู้เลยได้เลยโดยพื้นฐานแล้ว”

เขายกตัวอย่างกลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ที่เริ่มลงทุนด้วยเงินก้อนหนึ่งหลังจากนั้นก็ใส่เงินเข้าไปเท่าๆ กันทุกช่วงเวลาที่กำหนด (ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ ฯลฯ) ไปเรื่อยๆว่ามันเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพราะมันสามารถบอกได้ว่าตลาดจะไปทางไหนต่อ แต่มันยอดเยี่ยมเพราะเราไม่ต้องรู้ว่าตลาดจะไปทางไหนต่อต่างหาก

ประเด็นนี้ที่จริงอาจจะมีเรื่องความมั่นใจที่มากเกินไป (Overconfidence) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนที่ฉลาดนั้นมักประเมินความสามารถของตัวเองไว้สูงจนเกินไป จึงพยายามใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีหรือมีเหตุผลนัก

การคิดอย่างมีเหตุเป็นผลมาจากชุดทักษะทางสมองที่ช่วยให้เราคิดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย คนที่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั้นจะมีความสงสัยกับข้อมูลและทุกอย่าง ซึ่งรวมไปถึงความสามารถของตัวเองในการตัดสินใจให้ดีด้วย

กระบวนการตัดสินใจนั้นเต็มไปด้วยปัจจัยมากมาย ความฉลาดก็เรื่องหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกทั้งเรื่องข้อมูล ความกดดัน สภาพแวดล้อม ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจทั้งสิ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนที่ฉลาดก็ไม่ได้หมายความว่าพลาดไม่ได้ และกลับกันคนทั่วไปอย่างเราๆ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน