เกิดอะไรขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย? มันหายไปไหนล่ะ? ทั้งที่ราคาค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและดอกเบี้ยธนาคารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจและความมั่นใจของประชาชนก็ดูเหมือนจะยังแข็งแกร่งอยู่เลย
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากที่คาดการณ์เอาไว้เมื่อปีก่อน ตอนนี้มันน่าจะเกิดขึ้นแล้ว มีนักวิเคราะห์มากมาย (ถ้าลองไปค้นข่าวเมื่อช่วงกลางปีถึงปลายปีก่อนจะเห็นเลยว่ามองไปในทางเดียวกัน) บอกว่า “มันถูกเขียนเอาไว้แล้ว” หรือ “เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” หรือ “เราอาจจะอยู่ตรงนี้แล้วรึเปล่า แค่ยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้น”
หรือว่า…มันจะไม่เกิดขึ้น?
ตอนนี้อัตราการว่างงานก็ยังทรงตัวไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำ การปลดพนักงานก็เริ่มชะลอลงไปแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ค่อยเป็นค่อยไป ค่าแรงก็มีการปรับขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่ได้ลดการใช้จ่ายให้น้อยลง มีความมั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทก็สูงเป็นประวัติการณ์
แล้วทำไมปีที่แล้วนักวิเคราะห์ต่างมองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นกันล่ะ? ทำไมต้องทำให้คนหวั่นกลัวด้วย?
คำถามนั้นตอบได้หลายมุม ทั้งด้านเทคนิค ปรัชญา และประวัติศาสตร์ แต่เหตุผลพื้นฐานที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังไม่เกิดขึ้นก็เพราะว่าธุรกิจและผู้บริโภคสามารถรับมือกับค่าครองชีพราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากนโยบายของรัฐบาลที่รับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งก่อนได้เป็นอย่างดี จนดูเหมือนว่าจะสามารถสกัดกั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปได้ด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั่นเอง
คำอธิบายง่ายที่สุดว่าทำไมนักวิเคราะห์ถึงคาดเดาผิดพลาดก็เพราะการคาดเดาเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก มันมีส่วนขับเคลื่อนที่หลากหลายและมีขนาดใหญ่ ความรู้ที่เรามีนั้นไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกอย่าง และข้อมูลที่มีก็มาจากอดีตทั้งสิ้น สิ่งที่คาดถูกและผิดก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ต่างกัน และข้อมูลที่จะเอามาใช้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองก็มีเพียงแค่ 12 ครั้งเท่านั้น
ลองย้อนดูข้อมูลการทำนายอัตราการเติบโตของประเทศหนึ่ง ๆ ที่สื่อ The Economist เก็บฐานข้อมูล GDP ประจำปีมามากกว่า 1 แสนรายการ พบว่านักวิเคราะห์มีแนวโน้มที่จะคาดผิดไปประมาณ 0.4% ในไตรมาสที่จะเกิดขึ้น และพลาด 0.8% สำหรับปีถัดไปและ 1.3% สองปีล่วงหน้า (ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็มีอัตราการเติบโตอยู่ราว ๆ 0-4% เพราะฉะนั้นการผิดพลาดในระดับนี้ถือว่าสร้างความเสียหายได้เช่นกัน) ที่สำคัญ The Economist ก็ยังพบอีกว่านักวิเคราะห์มักคาดเดาได้แม่นยำน้อยที่สุดก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสิ่งที่ *ยากที่สุด* สำหรับนักวิเคราะห์ในการคาดการณ์นั่นเอง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ (ควรเกิดขึ้น) ครั้งนี้ก็มาจากข้อมูลที่บ่งบอกสัญญาณเตือนหลายอย่าง เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ธนาคารกลางต่าง ๆ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ ที่จากข้อมูลในอดีตนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะตามมา
แล้วครั้งนี้ทำไมไม่เกิดขึ้น? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาคอขวดที่คุกรุ่นมายาวนานและความขาดแคลนในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นทำให้การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ลดลง ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดเอาไว้ แต่ว่าอัตราการก่อสร้างไม่ได้ชะลอตัวลงไปด้วย เนื่องจากงานในมือที่ค้างคามีโครงการจำนวนมาก ในทำนองเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ความสามารถในการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคลดลง แต่ปัญหาการขาดแคลนที่ต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดรถมือสองได้ช่วยรักษายอดขายให้คงยังแข็งแกร่งต่อไป
ที่สำคัญกว่านั้น ตลาดแรงงานของอเมริกานั้นแข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คิด และผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงเริงร่าในการใช้จ่ายซึ่งก็มาจากนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ตอนนั้นรัฐบาลกลางใช้เงินหลายล้านล้านไปกับการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและมอบเงินให้กับครอบครัว ซึ่งก็หมายความว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยไม่ได้ลดการใช้จ่ายลง แม้ว่าอัตราการว่างงานจะสูงถึงเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
อันที่จริงพวกเขาเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้นการตอบสนองเชิงนโยบายที่แข็งแกร่งมีผลทำให้ภาคเอกขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงาน คนที่ออกจากงานจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อกลับไปทำงานอีกครั้ง ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมมากมายต่างขาดแคลนแรงงาน ธุรกิจต่างๆ จึงกังวลที่จะสูญเสียพนักงานของตัวเองไปด้วย
ซึ่งความร้อนแรงของเศรษฐกิจแบบนี้ก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมนักวิเคราะห์ถึงคาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้น มัน ‘ดีเกินไป’ จนทำให้ธนาคารกลางต้องออกมาชะลอลดความร้อนแรงลง ไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อลุกลามและกลายเป็นต้นตอของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง (ซึ่งก็จะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงและยาวนานกว่าเดิม) ทำให้มันช้าลงตอนนี้ดีกว่าภายหลัง ผู้บริโภคเงินสดที่เก็บมาจากการช่วยเหลือของรัฐบาลเริ่มร่อยหรอ การเติบโตของค่าจ้างกำลังซบเซา อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หมายความว่าธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะปล่อยกู้แพงขึ้น
หลายคนก็เริ่มมองโลกในแง่ดีว่า บางทีเราอาจจะไม่เจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ได้ เดี๋ยวสักพักเงินเฟ้อก็จะค่อย ๆ ลดลงไปอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด 2-3% เอง (ตอนนี้อยู่ที่ราว 6%) ซึ่งแน่นอนว่าการคาดการณ์ตรงนี้ก็อาจจะผิดก็ได้ บางทีนักวิเคราะห์อาจจะไม่ได้คาดเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยผิดทั้งหมด เพียงแค่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วไปหน่อยก็ได้
สุดท้ายก็เหมือนคำกล่าวที่บอกว่า “พลาดผิดเป็นคน” (To Err is Human) และไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์หรือใครก็ตามก็คงพลาดได้ไม่ต่างกัน