วันก่อนได้ฟัง podcast Passive Way Story ของ JITTA Wealth เรื่อง Isaac Newton แม้แต่อัจฉริยะก็ยังติดดอย ซึ่งเป็นเรื่องราวของ เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน (Sir. Isaac Newton) นักคณิตศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้คิดค้นกฎแรงโน้มถ่วง และกฎฟิสิกส์พื้นฐานที่ซึ่งใช้คำนวณหาการเคลื่อนไหวของดวงดาวกันทุกวันนี้ และก็เป็นผู้ที่กล่าววลี “ฉันสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ไม่รวมถึงความบ้าคลั่งของมวลมนุษย์ได้” ประโยคนี้มีที่มาอย่างไร เดี๋ยวเราจะรู้กันครับ

ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องของเซอร์ ไอแซค นิวตัน เจ๊งหุ้น เรามาดูกันถึง 3M ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการลงทุนกันครับ

✅1. ทัศนคติการลงทุนมีความสำคัญที่ 60%
✅2. การบริหารเงินทุนมีความสำคัญที่ 30%
✅3. กลยุทธ์การลงทุนที่เราใช้มีความสำคัญที่ 10%

จะเห็นได้ว่า ทัศนคติการลงทุนที่ถูกต้องมีความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีผลต่อความสำเร็จถึง 60% เราจึงเห็นบ่อยว่า กูรูด้านการเงินหลายคนกลับไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน หรืออย่างในกรณี เรื่องราวของกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 13 โรงเรียน St. Agnes ที่สามารถทำผลตอบแทนชนะ 99% ของกองทุนรวมได้’ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือ Beating the Street ของ Lynch ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ว่า ทัศนคติการลงทุนมีความสำคัญอย่างไร ตัวอย่างของทัศนคติการลงทุนที่ผิดกัน ก็เช่น ไม่ขายไม่ขาดทุน ยิ่งซื้อขายบ่อยยิ่งมีโอกาสกำไรมาก ฯลฯ

เรื่องการบริหารเงินทุนที่สำคัญเป็นอันดับสอง มีผลต่อความสำเร็จ 30% ประเด็นสำคัญของการบริหารเงินทุน คือ การจัดลำดับความน่าสนใจของการลงทุน การประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง แผนรับมือกรณีที่จะเกิดขึ้นกรณีเกิดความเสียหาย เป็นต้น

ส่วนเรื่องกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจมาก เช่น การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน การซื้อขายหุ้นด้วยปัจจัยทางเทคนิค ฯลฯ กลับมีผลต่อความสำเร็จเพียง 10% เท่านั้น

➡️แล้วกรณีของเซอร์ ไอแซค นิวตัน ผิดพลาดข้อใดในหลัก 3 M เพื่อเราจะได้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการลงทุนของเราต่อไป

ย้อนในปี 1711 รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งบริษัท South Sea Company ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการทำสงครามกับสเปนในช่วงนั้น

โดยบริษัท South Sea Company จะออกหุ้นมา โดยมีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้สินของรัฐบาลทั้งหมด โดยหุ้นจำนวนดังกล่าว จะนำไปให้แก่เจ้าหนี้เพื่อแลกกับภาระหนี้ที่กู้มา

ซึ่งเจ้าหนี้จำนวนมากเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะถ้าเขายังถือพันธบัตรต่อไป ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ไหม ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็คล้ายๆ กับกระบวนการ การแปลงหนี้เป็นทุนนั่นเอง

โดยรัฐบาลอังกฤษให้ข้อเสนอจูงใจแก่ผู้ที่มาถือหุ้น ด้วยการจ่ายผลตอบแทนหรือเงินปันผลปีละประมาณ 6% หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ขณะที่ยังมอบสัมปทานผูกขาดในการค้าขายสินค้าภายในอาณานิคมในอเมริกาใต้ ให้แก่ South Sea Company อีกด้วย

แผนการนี้ ทำท่าจะไปได้ดี เพราะรัฐบาลโอนภาระหนี้ไปให้แก่บริษัท South Sea Company ขณะที่ผู้ถือหุ้นก็ได้การันตีเงินปันผลทุกปี และถ้าเกิดบริษัทไปได้ดีก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจของ South Sea Company นั้นจะไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้แต่แรก

ทั้งนี้เพราะสินค้าที่บริษัทค้าขายนั้นไม่ได้มากมายอย่างที่คิด มีเพียงแค่การค้าทาสเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำกำไรเท่าไร รวมไปถึงผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ก็ทำให้ธุรกิจของบริษัทนั้นหยุดชะงักด้วย จึงส่งผลให้แท้จริงแล้วผลประกอบการบริษัทแห่งนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัท South Sea Company พุ่งสูงขึ้นนั้น เกิดจากการที่บริษัทออกมาโปรโมตว่า “ธุรกิจของบริษัทจะเติบโตพร้อมกับการยังมีตลาดการค้าใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ”

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ราคาหุ้น บริษัท South Sea Company เพิ่มขึ้นจาก 128 ปอนด์ในเดือนมกราคม ปี 1720 พุ่งไปถึง 1,050 ปอนด์ในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนี้

การปรับของราคาหุ้น ยิ่งดึงดูดให้มีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ บางคนนำเงินเก็บออมทั้งหมดที่มีมาลงทุน บางคนไปกู้ยืมธนาคารเพื่อมาลงทุน โดยทุกคน ณ เวลานั้นตั้งแต่ชาวนาจนถึงชนชั้นสูงของอังกฤษ ต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ ต้องการรวยจากการซื้อหุ้นตัวนี้ ไม่เว้นแม้แต่นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เซอร์ไอแซก นิวตัน

ที่น่าสนใจคือ จุดที่ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไปจุดสูงสุด ส่งผลให้มูลค่าของบริษัท ณ เวลาหนึ่งนั้น เคยสูงกว่า มูลค่าที่ดินทั้งหมดในอังกฤษรวมกัน ถึง 2 เท่า เลยทีเดียว แต่ ณ เวลานั้น คนส่วนใหญ่แทบไม่สนใจเรื่องนี้ ในเมื่อทุกคนที่เข้ามาร่วมงานนี้ต่างทำกำไรกันถ้วนหน้า

สำหรับนิวตันเองนั้น ช่วงแรกที่ราคาหุ้นเริ่มปรับขึ้น เขาได้ขายหุ้นทำกำไรไปได้พอสมควร ก่อนตัดสินใจกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งหลายเดือนต่อมา ในราคาทุนที่สูงกว่าเดิมมาก และครั้งนี้เขาใส่เงินเกือบทั้งหมดที่เขามี

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนี้ คนจำนวนมากที่ไปกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น ถึงเวลาต้องจ่ายคืนเงิน แน่นอนว่าก็ต้องขายหุ้นออกมาจ่าย ประกอบกับในช่วงนั้น ยังเกิดวิกฤติฟองสบู่ในยุโรป อย่างวิกฤติ Mississippi ในปี 1720 ที่ประชาชนในฝรั่งเศสขาดความเชื่อมั่นในธนบัตรของฝรั่งเศสที่ถูกพิมพ์ออกมาเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่วางไว้

พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลกับการถือหุ้น บริษัท South Sea Company จึงทำให้หลายคนตัดสินใจขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นเริ่มดิ่งลดลงอย่างรวดเร็ว จนเหลือเพียง 100 ปอนด์ ในปีเดียวกันนี้ จนทำให้ฟองสบู่ราคาหุ้นนั้นแตกออก และสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้แก่นักลงทุนจำนวนมาก รวมถึง เซอร์ไอแซก นิวตัน ที่ขาดทุนจากการลงทุนในครั้งนี้จำนวนกว่า 140 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน ปรับด้วยเงินเฟ้อ)

เรื่องนี้ถึงขนาดทำให้นิวตัน กล่าวประโยคคลาสสิกว่า “ฉันสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ไม่รวมถึงความบ้าคลั่งของมวลมนุษย์ได้” (ขอบคุณข้อมูลจาก Brand Case)

เรามาวิเคราะห์ของการเจ๊งหุ้นของ เซอร์ ไอแซค นิวตัน ว่า เกี่ยวข้องกับ 3M อย่างไร

➡️ Mindset ทัศนคติการลงทุนที่ผิดพลาดของ นิวตัน ที่เห็นได้ชัด คือ

o คิดแต่กำไร ไม่เผื่อใจถึงโอกาสที่จะขาดทุนหรือ ความเสี่ยง เหมือนพวกเราส่วนใหญ่ ที่ทุกครั้งที่เราตัดสินใจเข้าซื้อ เรามักจะเห็นโอกาสและกำไร แต่ในความเป็นจริง มีสิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ คือ การบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่กำไรในจินตนาการ

o “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” เห็นได้จากการทนถือหุ้น จนสุดท้ายขาดทุนไปกว่า 140 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน ปรับด้วยเงินเฟ้อ)

➡️การบริหารเงินลงทุน ความผิดพลาดที่เห็นได้ชัดของกรณีนี้ ก็คือ...

o ไม่มีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้เมื่อฟองสบู่ราคาหุ้นของ South Sea Company แตก ก็ทำให้สูญเงินออมเกือบทั้งหมด

o ขาดการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง โดยนิวตันได้กลับเข้าไปซื้อใหม่อีกครั้งในราคาที่สูงกว่าราคาที่ได้ขายทำกำไรไปแล้วมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงโอกาสที่ว่ายิ่งราคาซื้อสูงเท่าไร โอกาสกำไรก็น้อยมากขึ้นเท่านั้น ความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากขึ้นเช่นกัน และยังขาดแผนรับมือกรณีที่จะเกิดขึ้นกรณีเกิดความเสียหายอีกด้วย

เรื่อง หลัก 3M จริงๆแล้วเป็นหลักที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การลงทุน แต่เป็นหลักที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

เขียนโดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์. นักวางแผนการเงิน CFP®