ตอนเป็นเด็ก ยิ่งเรียนเก่ง ยิ่งหัวดีมากเท่าไร ก็ยิ่งจะถูกคาดหวังว่าโตไปจะต้องมีหน้าที่ดีการงานดี มีเงินเดือนสูงๆ

สาเหตุหนึ่งอาจมาจากคำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ที่คอยบอกย้ำอยู่เสมอว่า “ ให้ตั้งใจเรียนสูงๆ โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” เพราะความเก่ง ความฉลาด จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ แล้วในความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นมั้ยนะ?

งานวิจัยล่าสุดของ รองศาสตราจารย์ Marc Keuschnigg ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาวิเคราะห์ แห่ง Linkoping University ประเทศสวีเดน ชี้ชัดว่า…

"คนที่มีเงินเดือนมาก ไม่ได้ฉลาดมากกว่าคนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า"

รศ. Marc ทดลองให้ กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็น ชายชาวสวีเดน ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของรายได้ จำนวน 60,000 คน ทำแบบทดสอบวัดสติปัญญา เป็นเวลา 11 เดือน ผลปรากฏว่า ผู้ที่มีรายได้สูงสุด 1% ในกลุ่มตัวอย่าง ทำแบบทดสอบได้คะแนนน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า

นอกจากจะบอกว่า ความร่ำรวยไม่ได้สัมพันธ์กับความฉลาดแล้ว งานวิจัยฉบับนี้ยังบอกถึงสาเหตุที่ทำให้ “คนฉลาด” ไม่ได้มีรายได้สูงสุดว่า พวกเขาอาจไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ ไม่สนใจ หรือ ใส่ใจคนรอบข้าง เป็นเพราะพวกเขารู้ดีกว่าตัวเองต้องการสิ่งไหน จึงมุ่งเน้นทำแต่สิ่งที่ต้องการ จนไม่สนใจสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือ ผู้บังคับบัญชา ส่งผลให้พลาดโอกาสในการโปรโมท เลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน

บางครั้งคนกลุ่มนี้ก็ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากเสี่ยง ไม่ได้ต้องการทำงานหนัก เพื่อเงินเสมอไป พวกเขาอาจมีความคิดในการใช้ชีวิตและการทำงานที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ก็ได้

ผลการวิจัยฉบับนี้ ยังสอดคล้องกับ งานวิจัยของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2000 ระบุชัดว่า ความฉลาดที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือ IQ ไม่ใช่ตัวกำหนดว่า ชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จ ร่ำรวย หรือ มีความสุขได้

แต่เป็น อุปนิสัย หรือ ลักษณะส่วนตัวบางอย่าง เช่น ความขยันขันแข็ง ความมีวินัย การเปิดกว้าง ยอมรับมุมมองใหม่ๆ พร้อมเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างตลอดเวลาต่างหาก ที่สามารถชี้ชะตาว่าคุณจะประสบความสำเร็จร่ำรวยได้ในอนาคตหรือไม่

คราวนี้ มีบางคนตั้งคำถามว่า แล้วถ้าอยากเป็นคนฉลาดล่ะ จำเป็นต้องรวยมั้ยนะ!!

ก่อนหน้านี้ คนเรามักเชื่อกันว่า ความฉลาดเป็นผลจากพันธุกรรม ส่งผลให้แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว มีความฉลาดไม่เท่ากัน แต่ในความเป็นจริง ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า สมองของคนเราพัฒนาได้ นั่นแปลว่า ความฉลาดไม่ใช่สิ่งตายตัว สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ตามการเรียนรู้ ฝึกสมาธิกระตุ้นสมอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

พูดง่ายๆ ถ้าอยากฉลาดก็ต้องเรียนรู้ให้เยอะขึ้น แต่บอกก่อนไม่ใช่เยอะในเชิงปริมาณ แต่เป็นเยอะในเชิงคุณภาพ คือ เรียนรู้ให้ลึกซึ้งจนเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ อย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่บางคนใช้ทางลัด ด้วยการเลือกคบหากับคนที่มีความฉลาด หรือ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเรียนรู้ และซึมซับรูปแบบการใช้ชีวิต และวิธีคิดที่ทำให้หน้าที่การงานก้าวหน้า จนประสบความสำเร็จในอาชีพ

บางคนเลือกฝึกสมาธิ เพราะมีผลวิจัยหลายฉบับระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า การนั่งสมาธิ ช่วยให้สมองไบรท์ และทำให้ความจำดีขึ้น

อย่างกรมสุขภาพจิตก็เคยยกบทความ ของ ดร.ซารา ลาซาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาบอกว่า การฝึกสมาธิ ทำให้สมองส่วนฮิบโปแคมปัส มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของความจำของมนุษย์ (Memories center) แปลว่า ถ้าฝึกสมาธิบ่อยๆ ก็จะจดจำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น มีระบบการคิด พิจารณาสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น หรือ ฉลาดขึ้นนั่นเอง

บางคนเลือกวิธีที่ง่ายกว่านั้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อฝึกสมองให้รับมือกับความแปลกใหม่บ้าง เช่น ทดลองปรับรูปแบบการทำงาน หรือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ทดลองเดินทางไปในสถานที่ใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราได้ฝึกใช้สมองหลายๆ ด้าน ฝึกแก้ปัญหา ช่วยเพิ่มความฉลาดได้แบบง่ายๆ

เอาเป็นว่าถ้าอยากฉลาด ไม่ต้องเริ่มจากการเป็นคนรวยก็ได้ เพียงแต่รู้จักพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ให้เยอะ เปิดมุมมองให้กว้าง เพิ่มทักษะให้กับชีวิตหลายๆ ด้าน เชื่อว่าในที่สุดเราจะมีทักษะความรู้เพิ่มขึ้นมานั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ผลวิจัยจะบอกว่า ความฉลาดไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรวยอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่า การมีความฉลาดไม่ว่าจะด้านไหนๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสไปสู่การสร้างเงินและความสำเร็จได้นะครับ