ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าในปี 2566 ภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยอยู่ที่ 272,528 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 25.04 % ถือว่าสูงสุดในรอบ 14 ปี

โดยมีอัตราการผ่อนชำระ 8,577 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ในระบบ 79.84 % ผ่อนชำระต่อเดือน 7,936 บาท อัตราดอกเบี้ย 8.76 % ต่อปี และนอกระบบ 20.16 % ผ่อนชำระต่อเดือน 2,381 บาท อัตราดอกเบี้ย 15.47% ต่อเดือน

เมื่อภาระหนี้มีสูงขนาดนี้ แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ล่ะ จะเป็นอย่างไร?

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้ทำการสำรวจ “สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” จำนวน 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย. 2566 พบว่า

🔎ด้านสถานภาพทางการเงิน

• 77.2 % มีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย
• 12.8 % ไม่มีปัญหา เพราะซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

🔎ด้านเงินออม

• 73.5 % ไม่มีเงินออม
• 26.5 % มีเงินออม (โดยมีเงินออมเฉลี่ยที่ 950 บาทต่อเดือน)

🔎ด้านสถานะภาพหนี้

• สัดส่วนคนที่มีหนี้ 99.1 % มีเหตุผลที่ทำให้กลุ่มมีหนี้ต้องกู้เงิน 3 อันดับแรก คือ
o เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 14.5 %
o หนี้บัตรเครดิต 12.5 %
o ใช้คืนหนี้เก่า 10.7 %
• สัดส่วนคนที่ไม่มีหนี้มีเพียง 0.9% เท่านั้น

เมื่อเป็นหนี้ เราก็ต้องใช้หนี้ แต่เมื่อรายได้น้อยแถมโตช้าตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกวันไม่ทัน เราจะบริหารจัดการหนี้อย่างไรดี หลักง่ายๆ คือ เราต้องรู้ขนาดความรุนแรงของปัญหาก่อน ด้วยการทำบัญชีหนี้สิน แบ่งแยกประเภทหนี้ จำนวนหนี้ แยกประเภทหนี้ เป็นกลุ่มแบงค์ นอนแบงค์ หนี้นอกระบบ จดรายละเอียดให้ครบ เรียงลำดับหนี้จากน้อยไปหามาก เอาไว้ดูเวลาจะชำระหนีสิ้น เลือกจ่ายตัวที่ดอกเบี้ยแพงสุดก่อน และเลือกจ่ายตัวที่จำนวนหนื้น้อยๆก่อน เพื่อจะได้ตัดปัญหาทีละเปลาะ

อยากหลุดพ้นจากหนี้ มีวิธีบริหารจัดการยังไง?

ใช้ตัวแก้หนี้

ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของเราเองตลอดเดือน เพื่อดูว่าทั้งเดือน

• มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายไหนไม่จำเป็น เราก็ต้องละ หรือ อย่างน้อยก็ต้องลด จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า 12.8 % ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีปัญหาการเงิน เพียงเพราะซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แต่ถ้ามีมากเกินจำเป็น ก็ต้องละหรือลดเช่นกัน อย่างเช่น ค่าบริการมือถือ เรามีมือถือเยอะเกินไปหรือไม่ ซื้อแพคเก็จที่เกินจำเป็นหรือไม่ ฯลฯ ตัดค่าใช้จ่ายจนเหลือเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว เหมือนอย่างที่ Warren Buffett กล่าวเตือนไว้ว่า “อย่าใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะในที่สุด คุณอาจจะต้องขายสิ่งที่จำเป็นเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย” เราก็ต้องมาดูเรื่องรายได้ต่อ

• รายได้พอใช้จ่ายมั๊ย ถ้าไม่พอมีทางไหนเพิ่มรายได้ได้บ้าง พัฒนาความรู้ความสามารถ โดยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันหาได้ง่ายมากทางอินเตอร์เนต และไม่เสียค่าใช้จ่าย

• ทำทุกอย่างแล้วมีเหลือเก็บออมหรือไม่ ถ้ามีเงินออมเหลือ เอาไปโปะหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงที่สุด

ใช้ทรัพย์สินแก้หนี้

• ทำบัญชีทรัพย์สินว่ามีอะไรบ้าง อะไรพอจะขายได้ ถ้าขายน่าจะขายได้เท่าไหร่ (เอาราคาตลาดที่คิดว่าขายได้จริงๆนะ อย่าเอาราคาที่เราอยากขาย อย่างเช่น อยากขายรถที่เพิ่งซื้อมา 1 ล้านบาท ขายจริงๆอาจได้แค่ 7 แสน ก็ต้องใช้ราคา 7 แสน)

ใช้หนี้แก้หนี้

• เพื่อนคือ แหล่งเงินสำหรับการแก้หนี้ที่ดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีหลักประกัน เพราะให้ยืมด้วยความรัก ความไว้วางใจ แต่หลายคนกลับมีความคิดที่ผิด คือ ยืมเงินเพื่อนไม่จ่ายก็ได้จนเป็นวัฒนธรรมในสังคมตอนนี้ ทำให้เวลาเดือดร้อนหนักๆก็จะไม่มีใครช่วยเหลือ เพราะเราได้ทำลายสิ่งที่มีค่ามากที่สุดของเราไปแล้ว คือ ความรัก ความไว้วางใจ

• รีไฟแนนซ์หนี้ไปหนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า อย่างเช่น จากหนี้นอกระบบมาเป็นสินเชื่อบุคคลในระบบ หรือ รีไฟแนนซ์refinance หนี้บ้านไปสถาบันการเงินอื่น หรือติดต่อสถาบันการเงินเดิมเพื่อขอทำ retention เพื่อประหยัดดอกเบี้ย

• ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นวิธีที่ภาระหนี้มีมากจนเกินความสามารถ วิธีแนะนำคือ พูดคุยกับเจ้าหนี้โดยตรง เพื่อขอปรับลดดอกเบี้ย หรือปรับเงินผ่อนต่องวด แม้วิธีนี้จะลดภาระการจ่ายหนี้ในแต่ละงวด แต่วิธีนี้มักจะทำให้ภาระหนี้เรายาวนานขึ้น ภาระดอกเบี้ยที่จ่ายตลอดอายุหนี้จะเพิ่มขึ้น

หยุดก่อหนี้

หากเราไม่หยุดก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ฯลฯ อย่างที่พบหลายคนใช้วิธีกดเงินสดจากบัตรเครดิตใบใหม่มาใช้หนี้บัตรเครดิตใบเก่า ทำให้ปัญหาหนี้สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้พยายามแก้หนี้อย่างไรก็ไม่มีทางแก้หนี้ได้สำเร็จ

สำหรับลูกหนี้มีปัญหาหนี้เสีย

ลองติดต่อ คลินิกแก้หนี้ (คลินิกแก้หนี้ คือ หน่วยงานกลางที่ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสปลดหนี้สินล้นพ้นตัวได้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนให้มี การวางแผน และบริหารการเงินที่ดี เพื่อจะไม่ตกอยู่ในวังวนของการมีหนี้สินล้นพ้นตัว) เพื่อขอคำปรึกษา และบางครั้งอาจมีโครงการแก้หนี้ที่ช่วยเราปลดหนี้ได้ ติดต่อได้ที่

- Call center 0-2610-2266
www.debtclinicbysam.com
- Line ID @debtclinicbysam