วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานไทย เราเองก็เป็นคนใช้แรงงานคนหนึ่งที่ใช้แรงกาย, แรงสมอง และแรงใจ เป็นลูกจ้าง และมีนายจ้างคอยจ่ายเงินเดือน จ่ายค่าจ้างให้

สำหรับเราการทำงานก็คือ การทำธุรกิจระหว่าง “ลูกจ้าง” กับ “เจ้าของธุรกิจ” ทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการผลประโยชน์จากกันและกัน ลูกจ้างอยากได้ค่าแรง ส่วนนายจ้างก็อยากได้ผลงานจากลูกจ้าง แล้ว ณ ปัจจุบันค่าแรงขั้นพื้นฐานของไทยเป็นยังไงบ้าง?

ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำปีนี้อยู่ที่วันละ 353 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.97% แต่หากตัดปี 2555 ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มแบบก้าวกระโดดจากวันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาท (เพิ่มขึ้นมากถึง 39.53%) ซึ่งเป็นปีที่พิเศษจริงๆ ออกไป จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 2.19% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 2.06% ดูแล้วก็ยังใจชื้นนะที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ และถึงแม้ว่าแรงงานหลายคนจะไม่ได้รับค่าแรงที่เป็นขั้นต่ำ แต่คำถามคือ ค่าแรงที่เราได้กันทุกวันนี้มันสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและทำให้ชีวิตเราปลอดภัยในระยะยาวได้แค่ไหน

เราคงจำกันได้ดีว่าช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักๆ เมื่อ 2-3 ปีก่อน หลายธุรกิจต้องหยุด หลายคนต้องตกงาน ซึ่งจากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลได้ พบว่า ในช่วงนั้นคนไทยมีความวิตกกังวล เรื่องรายจ่ายในครอบครัวเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 71.50% ซึ่งมากกว่าความกังวลเรื่องสุขภาพอนามัยของตนเองและคนในครอบครัวด้วยซ้ำ

COVID-19 คือจดหมายเตือนว่า “รายได้มีวันหยุดหา” แต่ “ค่าใช้จ่ายไม่มีวันหยุดใช้” และปัญหารายได้ไม่พอใช้ไม่ได้จบแค่เรื่องเงิน แต่กระทบไปถึงปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว

มีอยู่กรณีหนึ่งที่พบเจอกับตนเอง มีน้องผู้ชายคนหนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานที่ต่างจังหวัด มีเงินเดือนและ OT ทุกเดือนจนเชื่อมั่นว่า OT จะได้แน่นอนทุกเดือน จึงใช้จ่าย ซื้อของ เป็นหนี้บัตรเครดิตเต็มที่ เพราะมั่นใจเงินเดือน + OT พอจ่าย แต่เมื่อ COVID-19 เริ่มระบาด บริษัทขายของได้น้อยลง จึงต้องลดกำลังการผลิต ทำให้ OT ที่เคยได้ไม่ได้ และเมื่อ COVID-19 ระบาดหนักมากขึ้น สุดท้ายก็ต้องออกจากงาน เพราะบริษัทต้องลดคน ทำให้ไม่มีรายได้ เป็นหนี้ และจบลงด้วยครอบครัวแตกแยก เป็นปัญหาครอบครัวต่อไป

สิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยพวกเราคนวัยแรงงานได้ คือ ต้องเริ่มวางแผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้

(1) เริ่มจากลดค่าใช้จ่าย

อะไรที่ไม่จำเป็นใช้ ก็ไม่ต้องซื้อ เพื่อเก็บเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น Warren Buffett ปรมาจารย์การลงทุนของโลกกล่าวไว้ว่า “หากเราใช้จ่ายเงินในการซื้อของที่ไม่จำเป็น สุดท้ายเราอาจจะต้องขายของที่จำเป็นเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต” หลายคนชอบใช้เงินในการซื้อของที่ไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเท่าไหร่นัก ในยามปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีวิกฤตเกิดขึ้น เช่น ตกงาน เจออุบัติเหตุ เจ็บป่วย ฯลฯ หลายกรณีที่ต้องเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินรักษา เด็กหลายคนต้องออกจากการศึกษาเพราะพ่อแม่ไม่มีรายได้ หลายครอบครัวต้องแตกแยกเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ การไม่ประมาทในการใช้จ่ายจะช่วยให้เราสามารถผ่านช่วงวิกฤติ และมีความสุขได้ในระยะยาว

(2) การลงทุนที่ดีที่สุด คือ “การลงทุนในตัวเอง”

ขออ้างคำพูดของ Warren Buffett อีกที หากเราต้องการรายได้เพิ่ม เราก็ต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถให้เพิ่มขึ้น เพื่อที่นายจ้างจะได้ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น ไม่เพียงรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความรู้ความสามารถของเราจะช่วยสร้างความมั่นคงทางการงานให้เราด้วยเช่นกัน สร้างโอกาสของรายได้ใหม่ๆ ให้กับเรา ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ AI เริ่มเข้ามาแทนที่คนในหลายๆงาน คนที่มีความรู้จะเป็นผู้ที่สามารถอยู่รอด และประสบความสำเร็จทั้งการงานและการเงินได้

(3) ควรบริหารเงินออม

เมื่อรายได้เพิ่ม ค่าใช้จ่ายลด มีเงินออมมากขึ้น หากเราอยากมีความมั่นคงทางการเงิน เราก็ควรบริหารเงินออมอย่างถูกต้องเช่นกัน แต่จากรายงานผลสำรวจ “คนยุคดิจิตัล ไทย : การเข้าถึงการเงินของคนไทยในยุคดิจิทัล โดย Sea Insights” ประจำปี 2565 จากการสํารวจคน 90,000 คน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Sea Group โดยกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยมีอายุระหว่าง 16-60 ปี ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัลในระดับหนึ่ง พบว่า คนไทยมากถึง 59% ยังฝากเงินกับธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำมาก 28% ซื้อลอตเตอรี่ที่โอกาสถูกรางวัลน้อยมาก และกว่า 1 ใน 5 ไม่ลงทุนกับอะไรเลย

สุดท้ายนี้ aomMONEY ขอเป็นกำลังใจผู้ใช้แรงงานทุกคน และยังเชื่อเสมอว่า ความพยายาม อดทน และมีวินัย จะช่วยให้ทุกเรื่องสำเร็จได้เสมอ