ช่วงเวลาการหมุนวงล้อและสุ่มหยิบลูกบอลเพื่อออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนอาจเปลี่ยนชีวิตของใครบางคนไปอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นเหตุผลที่คนไทยจำนวนมากหลงใหลในการพนันรูปแบบนี้ สลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘หวย’ สามารถหาซื้อได้ง่าย กติกาการเล่นไม่ซับซ้อน ที่สำคัญใช้เงินเพียง 80 บาทก็มีโอกาสได้รางวัลสูงถึง 6 ล้านบาท

ตามประวัติศาสตร์การเล่นหวยในประเทศไทยพบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1835 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 โดยตอนนั้นเรียกว่า ‘หวย ก ข’ ซึ่งประยุกต์วิธีการเล่นมาจากหวยของจีน ออกรางวัลที่โรงหวยทุกวัน วันละ 2 ครั้ง (เวลาเช้าและค่ำ) ต่อมา หวย ก ข ถูกยกเลิกไปในปี 1916 เนื่องจากคนไทยหวย ก ข อย่างหนักจนไม่ทำมาหากิน

อย่างไรก็ตาม การยกเลิก หวย ก ข ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากอากรหวยที่เคยจัดเก็บได้ราว 3.8 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าเม็ดเงินประมาณ 300 ล้านบาทในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เอง หวยจึงกลับมาหาคนไทยอีกครั้งในรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี 1934 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินมา ‘บำรุงกิจการทางเทศบาล’ จะเห็นได้ว่าตลอด 2 ศตวรรษที่ผ่านมา การเล่นหวยไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงผ่านการเสี่ยงโชคให้กับคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยในฐานะแหล่งรายได้ของภาครัฐอีกด้วย

การลงทุนซื้อหวย 1 ใบคุ้มค่าแค่ไหน

ความคุ้มค่าของการลงทุนซื้อหวย 1 ใบสามารถพิจารณาได้จากจำนวนเงินรางวัลและโอกาสในการถูกเงินรางวัล

โดยในทางเศรษฐศาสตร์มีวิธีการคำนวณสิ่งที่เรียกว่า ‘ค่าคาดหวัง (expected value)’ จากการซื้อหวย ซึ่งเท่ากับ

จำนวนเงินรางวัล (A) คูณ (*) ด้วยโอกาสในการถูกเงินรางวัล (B)

รางวัลABA * B
จำนวนเงินรางวัล (บาท)โอกาสในการถูกรางวัลค่าคาดหวัง (บาท)
รางวัลที่ 16,000,0001 ใน 1,000,0006.0
รางวัลที่ 22,000,0005 ใน 1,000,0001.0
รางวัลที่ 380,00010 ใน 1,000,0000.8
รางวัลที่ 440,0001 ใน 100,0000.4
รางวัลที่ 520,0001 ใน 10,0002.0
รางวัลเลขหน้า / เลขท้าย 3 ตัว4,0002 ใน 1,0008.0
รางวัลเลขท้าย 2 ตัว2,0001 ใน 10020.0

ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณโดยผู้เขียน


ตามที่แสดงในตาราง หากผู้ซื้อหวยไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงว่าตัวเองจะต้องถูกรางวัลที่ 1 แต่ขอแค่ถูกรางวัลอะไรก็ได้ ให้นำค่าคาดหวังของรางวัลทุกประเภทมาบวกรวมกันจะได้เท่ากับ 38.2 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายเพื่อซื้อหวย 1 ใบที่ราคาขั้นต่ำคือ 80 บาท ดูยังไง ๆ ก็ไม่คุ้มเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม ดาเนียล แบร์นูลลี (Daniel Bernoulli) นักคณิตศาสตร์ชาวสวิสได้เสนอแนวคิดไว้ในหนังสือที่ชื่อ Exposition of a New Theory on the Measurement of Risk ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1738 โดยเขาบอกว่าเมื่อคนเราต้องตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอน (uncertainty) เรามักเลือกตัวเลือกที่ทำให้เราพอใจมากที่สุด ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินสูงที่สุด

ต่อมาแนวคิดนี้ได้พัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า ‘ทฤษฏีอรรถประโยชน์คาดหวัง’ (Expected Utility Theory) ซึ่งใช้วิธีการคำนวณค่าคาดหวังโดยวัดจากความพอใจ (Expected Utility) แทนการวัดจากตัวเงินที่จะได้รับ สำหรับกรณีของการซื้อหวย 1 ใบ

ค่า Expected Utility จะเท่ากับระดับความพอใจที่ได้รับจากการถูกรางวัลคูณด้วยโอกาสในการถูกรางวัล ทั้งนี้ ระดับความพอใจจากการซื้อหวยของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมว่าเป็นคนประเภท 1) ชอบความเสี่ยง (risk seeking) 2) ไม่ชอบความเสี่ยง (risk aversion) หรือ 3) เฉย ๆ กับความเสี่ยง (risk neutrality)

ต่อมา แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2002 ได้พัฒนาทฤษฎีที่ชื่อว่า ‘ทฤษฎีคาดหวัง’ (Prospect Theory) ร่วมกับ เอมอส ทเวอร์สกี้ (Amos Tversky) นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านที่เสียชีวิตไปในปี 1996 ซึ่งทฤษฎีนี้มีพื้นฐานแนวคิดว่าคนเราให้น้ำหนัก (weight) กับโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนไม่เท่ากัน โดยมักให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น (overweighting) กับตัวเลือกที่มีโอกาสที่เกิดขึ้นน้อย และให้น้ำหนักลดลง (underweighting) กับตัวเลือกที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าโอกาสในการถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวมีอยู่น้อยนิดเพียง 1% แต่ในความรู้สึกของผู้ที่ซื้อหวยคือโอกาสถูกรางวัลมีมากกว่า 1% ซึ่งอาจอ้างอิงกับความเชื่อส่วนบุคคล เช่น การทำนายตัวเลขจากความฝันหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

โดยสรุป ถ้าถามว่าการลงทุนซื้อหวย 1 ใบคุ้มค่าแค่ไหน คำตอบในมุมของผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินคือไม่คุ้มเลย แต่ในแง่ของจิตใจสำหรับผู้ซื้อบางคนอาจคุ้มมากเสียจนไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้

แนวโน้มการเล่นหวยของคนไทย : จุดเปราะบางทางการเงินในอนาคต?

ถึงแม้การซื้อหวยจะให้คุณค่าทางจิตใจกับคนไทยจำนวนไม่น้อย แต่ก็อาจสร้างปัญหาทางการเงินให้กับผู้ซื้อและครอบครัวได้เช่นกัน โดยข้อมูลจากรายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2022 ที่จัดทำโดยศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าคนไทยนิยมเล่นพนันในรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาลมากที่สุด และจำนวนผู้เล่นในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ประมาณ 1.9 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มเด็ก (อายุ 15-18 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการหารายได้ไม่มากนัก

สำหรับวงเงินหมุนเวียนในตลาดพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2021 ลดลงจากปี 2019 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลงดออกรางวัล 3 งวด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาวงเงินหมุนเวียนต่องวดในปี 2021 พบว่าขยายตัวจากปี 2019 ประมาณ 6.3% ขณะที่ข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติ ปี 2021 ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงให้เห็นว่ารายได้ที่ใช้จ่ายได้ของครัวเรือน (gross disposable income) ในปี 2021 ขยายตัวจากปี 2019 เพียง 1.8% เท่านั้น เพราฉะนั้น หากสมมติให้ครัวเรือนมีรายได้เท่ากันทุกเดือน จะพบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลโตเร็วกว่ารายได้ถึง 3.5 เท่า สะท้อนว่าความสามารถในการออมของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย อาจถูกกระทบจากการเล่นพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลได้

ผู้เขียนจึงอยากฝากถึงผู้อ่านทุกท่านว่าการซื้อหวยเพื่อลุ้นโชคไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมั่นใจว่าตัวเองมีวินัยทางการเงินมากพอ ก่อนจะซื้อหวยควรจัดสรรเงินที่หามาได้ไว้สำหรับเก็บออมเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก่อน และไม่ควรซื้อในจำนวนเงินที่มากกว่าที่ตัวเองจะจ่ายไหวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หากทุกท่านรักษาวินัยทางการเงิน การซื้อหวยก็จะเป็นกิจกรรมที่ทั้งสร้างความสุขให้กับผู้เล่นและส่งเสริมให้รัฐบาลมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้พัฒนาประเทศต่อไป

-----------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ

เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ้างอิง

  • ประวัติการเล่นหวยในประเทศไทย จากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน [Link]
  • ข้อมูลภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย โดย ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ [Link]
  • ประวัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จาก website ของหน่วยงาน [Link]
  • รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2022 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [Link]
  • ข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติ ปี 2021 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [Link]