เงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบสู่ประชาชนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคก็พากันยกขบวนขยับราคากันขึ้นไปหมด
ยกตัวอย่างกรณีของ เฟธ สมิท (Faith Smith) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 34 ปีทำงานเป็นเลขาฯที่บริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแอละแบมา ประเทศอเมริกา
หลังจากเงินที่เตรียมเอาไว้ซื้ออาหารเข้าบ้านเดือนละ 500 เหรียญ (ประมาณ 17,000 บาท) ร่อยหรอตั้งแต่ยังไม่ถึงสิ้นเดือน เธอก็ได้รับข้อความส่งเข้ามาที่โทรศัพท์บอกว่า Target ซูเปอร์มาเก็ตแถวบ้านตอนนี้มีโปรโมชัน Buy Now, Pay Later (BNPL) ที่ให้ลูกค้าเอาของไปก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลังเป็นงวด ๆ สำหรับซื้อของที่ร้านได้แล้ว
สมิท (และเราหลาย ๆ คน) รู้จักฟีเจอร์นี้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเปิดแอปฯอย่าง Shopee หรือ Lazada ก็มีบริการนี้สำหรับให้ซื้อของมาก่อนแล้วผ่อนจ่ายทีหลังเป็นงวด ๆ ภายหลัง (ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีดอกเบี้ยหากจ่ายตรงตามข้อกำหนด) หรือธนาคารต่าง ๆ ก็เริ่มมีให้ใช้แล้วเหมือนกัน เป็นบริการสินเชื่อส่วนบุคคลระยะสั้นที่ล่อตาล่อใจให้คนใช้ไม่น้อย
สำหรับสมิทแล้วเธอเคยใช้บริการสินเชื่อแบบนี้เพื่อซื้อของใช้จำเป็น อุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับลูกเพื่อไปโรงเรียนและเสื้อผ้าเมื่อจำเป็น แต่ตอนนี้มันเริ่มลามมาถึงอาหารที่จะซื้อเข้าบ้านด้วย เธอกล่าวว่า “เงินในกระเป๋าตอนนี้ไม่สามารถซื้ออาหารเข้าบ้านเพียงพอเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันช่วยได้สักอาทิตย์สองอาทิตย์ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องจ่ายเงินสำหรับของพวกนี้อีกหลายเดือนเลย”
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในอเมริกาในขณะนี้ (คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นกับที่อื่น ๆ ที่มีบริการแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย) ที่ใช้ระบบการจ่ายเป็นงวด ๆ เพื่อซื้อของใช้ประจำวันอย่างอาหารและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ด้านหลังจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมา
ในอเมริกาพวกสินค้าอุปโภคบริโภคโดดขึ้นไป 8.4% ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2023 จากแบบสำรวจของบริษัท LendingTree Inc. ผู้ให้บริการพื้นที่ออนไลน์สำหรับผู้กู้และผู้ปล่อยกู้บอกว่า คนอเมริกันกว่าครึ่งเคยใช้ BNPL และที่น่ากังวลคือ 1/5 หรือประมาณ 20% ต้องใช้มันเพื่อซื้อของใช้ภายในบ้านอยู่เป็นประจำ เป็นสะพานต่อชีวิตก่อนที่เงินเดือนก้อนต่อไปจะเข้ามานั่นเอง
ตลาดของผู้ปล่อยกู้แบบนี้ก็เติบโตอย่างมากเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากรายงานของ Consumer Financial Protection Bureau (CFPB) บอกว่าบริษัทที่ให้กู้ 5 เจ้าใหญ่ในอเมริการมีการปล่อยกู้เพิ่มเป็น 24,200 ล้านเหรียญในปี 2021 จาก 2,000 ล้านเหรียญในปี 2019
ซึ่งโมเดลนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถแบ่งจ่ายเป็นก้อน ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ไม่จำเป็นต้องมีบัตรเครดิตอีกด้วย แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ ๆ อย่าง Apple ก็มีบริการแบบนี้ของตัวเองเช่นเดียวกัน
ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวและการท่องเที่ยวมีแววว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง การช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเงินสมทบหรือการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ทยอยลดลงและหายไปเรื่อย ๆ ประชากรที่เคยชินและหวังพึ่งพาเงินจากรัฐบาลก็ไม่สามารถรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้เงินเท่าเดิม และยังเจอข้าวของแพงขึ้นอีก ยิ่งทำให้ BNLP กลายเป็นทางเลือกอันดับแรก
ระบบ BNPL จะโปรโมทเสมอว่าเปิดง่าย ไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน วงเงินหลักหมื่นถึงหลักแสน เช็กเครดิตแป๊บเดียวก็อนุมัติได้เลย ซึ่งกลายเป็นจุดขายที่ดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นคนใช้ BNPL สำหรับการซื้อของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชิ้นใหญ่ ๆ อย่างตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ กางเกง เสื้อผ้า ไปจนกระทั่ง ข้าวสาร ต้นหอม ไข่ไก่ และของใช้ในบ้านอื่น ๆ ด้วย
แต่ความสะดวกสบายนี้แหละที่มีโอกาสสร้างปัญหาเรื้อรังและความเสียหายใหญ่หลวงได้ในอนาคต นอกจาก BNPL จะสร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีต่อผู้บริโภค สนับสนุนการเป็นหนี้เพื่อซื้อของใช้ที่เกินตัวในบางครั้ง (ถ้าใช้เพราะจำเป็นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าใช้เพราะอยากได้ มันคือวินัยทางการเงินที่ไม่ดีนัก) ซึ่งจะบานปลายเมื่อไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเมื่อครบกำหนดเวลา ที่นอกจะทำให้เสียคะแนนเครดิตแล้ว ยังจะมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไม่น้อยไปกว่าบัตรเครดิตทั่วไปเลย
เทอร์รี่ แบรดฟอร์ด (Terri Bradford) ผู้เชี่ยวชาญด้านการชำระเงินที่ Federal Reserve Bank of Kansas City ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่านี่เป็นปัญหาที่อันตรายมากในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยและคนกลุ่มน้อยที่เริ่มต้นจากจุดที่ไม่ได้ร่ำรวยอยู่แล้ว “ซึ่งทำให้ตัวเองติดอยู่ในวังวนของหนี้ที่ยากจะหลุดออกมาได้”
ในกรณีของสมิท สิ่งที่ทำให้เธอหันมาพึ่งพา BNPL เพื่อซื้ออาหารเข้าบ้านเพราะไม่อยากเพิ่มหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่แล้วกว่า 900 เหรียญ ทั้งค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟฟ้า และ อาหาร ทุกอย่างดูจะแพงขึ้นภายในข้ามคืนในเมืองแอละแบมาที่เธออยู่ เธอยกตัวอย่างเช่นขนมปัง ซีส และเนื้อสัตว์ที่เคยซื้อครั้งละ 10 เหรียญ ตอนนี้ขึ้นไปเป็น 30 เหรียญแล้ว
ข้อมูลจาก CFPB พบว่าคนที่ใช้ BNPL โดยเฉพาะในกลุ่มของคนผิวสีหรือคนเชื้อสายฮิสแปนิกมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินมาก่อนอยู่แล้ว 70% จะมีหนี้บัตรเครดิตและมีเงินในบัญชีออมทรัพย์น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ BNPL โดยเฉลี่ยประมาณ 12,000 เหรียญเลยทีเดียว
มาร์โก ดิ แมกจิโอ (Marco Di Maggio) นักเศรษฐศาสตร์จาก Harvard Business School ที่ศึกษาเกี่ยวกับ BNPL กล่าวว่าบริการทางด้านการเงินแบบนี้จะกระตุ้นให้ผู้ซื้อใช้มากขึ้นเมื่อชำระเงิน สมมุติซื้อของมูลค่า 400 เหรียญ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาทีหลังถ้าไม่ได้มีการเตรียมเงินเอาไว้
แมกจิโอบอกว่า “ผู้บริโภคจะมองว่ามันเป็นการซื้อ 100 เหรียญ และลืมอีก 300 เหรียญ (ที่ต้องจ่ายภายหลัง) นั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีปัญหา”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า BNPL ทำให้เรามองเงินก้อนใหญ่เล็กลง ลืมว่าต้องจ่ายเงินมากแค่ไหนในท้ายที่สุด แต่ดูเพียงแค่ค่างวดก้อนที่เล็กลงมา ของมูลค่า 30,000 บาท เราจ่ายอาทิตย์ละ 1,000 บาท ก็ดูไม่ได้หนักหนาอะไร แต่ถ้าอาทิตย์ไหนช็อตขึ้นมา ตอนนั้นแหละที่ทุกอย่างจะเริ่มล้มเป็นโดมิโนได้เลยทันที
ไม่ว่าคุณจะระวังขนาดไหน การก่อหนี้โดยเฉพาะหนี้เพื่อบริโภคมักต้องคิดให้รอบคอบเสมอ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้ และถ้าเราไม่สามารถจ่ายได้ดอกเบี้ยก็จะเริ่มพอกพูนจนบางทีกระทบกับรายจ่ายอื่น ๆ ในชีวิตไปด้วยเลย
แน่นอนว่า BNPL ในด้านหนึ่งก็มีข้อดีเช่นกัน มันมอบความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นให้กับผู้บริโภคมากกว่าบัตรเครดิตแบบดั้งเดิมถ้าเราสามารถควบคุมและรู้ว่าเงินส่วนนั้นเราสามารถจ่ายได้จริง ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นออปชันที่ดูดีกว่าบัตรเครดิตทั่วไป (ซึ่งสนับสนุนให้ผู้บริโภคจ่ายแค่ยอดขั้นต่ำและพอกดอกเบี้ยให้โตและยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ)
สมิททราบดีว่า BNPL นั้นไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับเธอและในด้านการเงินแล้วยิ่งทำให้เธออยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงไปด้วย แต่เธอมองว่ามันเป็นทางแก้ชั่วคราวจนกว่าจะหางานหรือเงินเพิ่มได้ การชักหน้าไม่ถึงหลังและพึ่งพาบริการอย่าง BNPL เป็นความเสี่ยงที่เธอทราบดีว่าไม่ควรทำแต่ในขณะนี้ก็ดูเป็นหนทางเดียวเพื่อจะอยู่รอดเช่นเดียวกัน
สมิทบอกว่า “ฉันกังวลนะ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแม้จะรู้ดีว่าไม่ควร การใช้บริการเหล่านี้คือหนทางเดียวที่จะมีชีวิตรอดต่อไปได้”
BNPL ด้วยตัวของมันเองไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่นัก ทั้งสะดวกและลดภาระการจ่ายเงินก้อนกับผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเงินเป็นงวดคืนได้แบบไม่มีดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างนิสัยการเงินที่ไม่ดี ส่งเสริมให้คนใช้เงินเกินตัวแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง และเมื่อมันถูกเอามาใช้เพื่อซื้อของจำเป็นชีวิตประจำวันอย่างอาหารและเสื้อผ้า มันก็เป็นสัญญาณเตือนอันตรายว่าเศรษฐกิจของเรากำลังมีปัญหาแล้ว