หลายคนน่าจะทราบกันดีว่า ถ้าพ่อแม่เกิดเสียชีวิตขึ้นมาเราจะได้รับ “มรดก” หรือได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ต่อจากพ่อแม่เรา แล้วเคยสงสัยกันบ้างรึเปล่าครับว่า “ถ้าพ่อแม่เรามีหนี้สินด้วยล่ะ?” จะถือว่าเป็นมรดกหรือไม่ แล้วเราจะต้องใช้หนี้ต่อรึเปล่า วันนี้ aomMONEY จะพาไปหาคำตอบกันครับ

แต่ก่อนอื่นต้องขออธิบายเรื่องผู้รับมรดก หรือ “ทายาท” ก่อนนะครับ โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

✅1. ทายาทโดยพินัยกรรม คือ บุคคลที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรม

✅2. ทายาทโดยธรรม คือ บุคคลที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มีทั้งหมด 6 ลำดับ ดังนี้

(1) ผู้สืบสันดาน หรือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่รับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
(2) บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

โดยคำว่า “มรดก” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 กล่าวไว้ว่า “กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ”

ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นมรดกได้ ก็จะมีดังต่อไปนี้ครับ

➡️1. ทรัพย์สินต่างๆ ได้แก่ “สังหาริมทรัพย์” หรือสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ต่างๆ เครื่องประดับ รวมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย และ “อสังหาริมทรัพย์” หรืออะไรก็ตามที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง บ้าน อาคาร ทั้งนี้ รวมถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยครับ

➡️2. สิทธิต่างๆ ที่ผู้ตายได้รับก่อนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้เงินกู้ สิทธิในการเช่าซื้อ หรือแม้แต่สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานครับ

➡️3. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ตาย หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ “หนี้ที่ผู้ตายก่อเอาไว้” นี่แหละครับ โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่า “หนี้สินทั้งหมดที่เจ้าของมรดกได้ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต ถือเป็นมรดกเช่นกัน”

ดังนั้นเพื่อนๆ น่าจะได้รับคำตอบแล้วนะครับว่า “ถ้าเรารับมรดกจากพ่อแม่ เราก็ต้องรับหนี้สินที่พ่อแม่ของเราก่อไว้ด้วย”

แล้วถ้าหนี้มันจำนวนมากมายมหาศาล มากกว่ามรดกที่เราได้รับอีก จะยังไงดีล่ะ? ข้อนี้เพื่อนๆ ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เกินกว่ามรดกที่ตัวเองจะได้รับ

aomMONEY ยกตัวอย่างง่ายๆ

ผู้ตายมีทรัพย์สินก่อนเสียชีวิต 3 ล้านบาท แต่มีหนี้ 5 ล้านบาท ทายาทก็จ่ายหนี้ตามจำนวนมรดกที่มีครับ โดยเจ้าหนี้ทวงเงินจากทายาทได้เพียงมรดกที่ได้รับเท่านั้น ถ้ามีหนี้มากกว่านั้น ทายาทไม่จำเป็นต้องจ่าย

ทั้งนี้ เจ้าหนี้ต้องฟ้องให้ชำระหนี้กองมรดกภายใน 1 ปี ตั้งแต่ทราบว่าเจ้ามรดกตาย แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่ทราบและมีหลักฐานยืนยันจริงๆ ก็ยื่นฟ้องได้ภายใน 10 ปี แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็ไม่สามารถฟ้องได้ครับ

อย่างไรก็ตาม aomMONEY ขอแนะนำให้ทุกท่านศึกษาการทำพินัยกรรมเอาไว้ เพราะการทำพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องของคนรวย แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรทำ เพื่อให้คนข้างหลังจัดการมรดกและหนี้สินต่อได้ง่ายขึ้น

ที่สำคัญ ถ้าเพื่อนๆ ลงทุนไว้หลายๆ ที่ หากเราจากไปอย่างกะทันหัน จะไม่มีใครรู้เลยนะครับว่าเรามีเงินลงทุนไว้ที่ไหนบ้าง และถ้าเพื่อนๆ อยากรู้ว่าเป็นยังไง ทีมงานได้เขียนสรุปไว้ในบทความนี้ https://bit.ly/3H0yTO7