ผมเชื่อว่าเกือบทุกๆคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “Loss Aversion” หรือการที่ “คนเราเสียใจกับการสูญเสีย มากกว่าดีใจกับการได้รับ” ใช่ไหมครับ?
หนึ่งในคุณพฤติกรรมที่บ่งบอกพฤติกรรมนี้ก็คือคนเราส่วนใหญ่มักจะ “ยอมเสี่ยงเพื่อที่จะไม่เสีย มากกว่ายอมเสี่ยงเพื่อที่จะได้” หรือพูดอีกอย่างคือ เราจะเสี่ยงเพื่อให้เสียน้อยมากกว่าเสียมากนั่นเอง (พยายามไม่ทำอะไรให้มีความเสี่ยงมากเกินไปซึ่งเป็นกลไกป้องกันตัวเองตามธรรมชาติ)
แต่คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าเกิดเราสูญเสียไปแล้วล่ะ? “เราจะยอมเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้นในอนาคต?”
ผมเชื่อว่าเราคงจะพอเดาพฤติกรรมการเสี่ยงของคนเราหลังจากได้พบกับการสูญเสียได้จากการดูพฤติกรรมของคนในตลาดหุ้นหลังจากที่หุ้นตก นั่นก็คือคนเรายอมเสี่ยงมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะเอาทุนคืน (break even) หรือเอาที่เราสูญเสียกลับคืนมา
แต่ปัญหาของการดูพฤติกรรมของคนในตลาดหุ้นก็คือการสูญเสียในตลาด เช่นหุ้นที่ราคากำลังตกอยู่นั้น เป็นการสูญเสียที่นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมมักจะเรียกกันว่า “paper loss” หรือการสูญเสียบนกระดาษเท่านั้น และจะกลายมาเป็นการสูญเสียจริงๆก็ต่อเมื่อเราได้ขายหุ้นตัวนั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พูดง่ายๆก็คือการสูญเสียในตลาดหุ้นอาจจะไม่ใช่การสูญเสียที่แท้จริงเสมอไปจนกว่าเราจะขายหุ้นตัวนั้นทิ้ง เพราะฉะนั้นเราจึงสรุปได้ค่อนข้างยากว่าความสูญเสียมันมีผลต่อความต้องการที่จะเสี่ยงของคนเราจริงๆไหม
เพื่อตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น Lionel Page, David Savage และ Benno Torgler นักเศรษฐศาสตร์จากประเทศออสเตรเลียก็เลยลองทำการทดลองกับคนที่พึ่งเจอกับความสูญเสียจริงๆ
โดยพวกเขาไปเก็บข้อมูลกับประชาชนในเมืองบริสเบน (Brisbane) ในประเทศออสเตรเลียหลังจากที่ได้มีเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในปี 2011 ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างนี้รวมคนที่ไม่ค่อยกระทบกระเทือนจากน้ำท่วมซักเท่าไหร่ ไปจนถึงคนที่ถูกน้ำท่วมบ้านจนต้องพบกับความสูญเสียมากกว่า 50% ของราคาบ้านทั้งหมด (เรียกว่าเป็นกลุ่มที่สูญเสียไม่เยอะไปจนถึงสูญเสียมากนั่นเอง)
โดยในการทดลอง เขาให้แต่ละคนในกลุ่มตัวอย่างเลือกระหว่างสองตัวเลือก
(1) $10 ฟรีๆ (350 บาท)
(2) ตั๋วล็อตเตอรี่ที่มีโอกาสถูกเงินรางวัลมากกว่า $500,000 เป็นรางวัลที่หนึ่ง หรือประมาณ 17.5 ล้าน (แต่โอกาสที่จะถูกรางวัลที่หนึ่งนี้มันต่ำมากๆ)
พวกเขาพบว่าคนที่บ้านถูกน้ำท่วมจนพังทลายยับเยินเกือบทั้งหมดเลือกตัวเลือกที่ (2) ตั๋วล็อตเตอรี่แทนตัวเลือกที่ (1) ซึ่งเป็นเงิน $10 ฟรีๆ ส่วนคนที่บ้านไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนจากน้ำท่วมเท่าไหร่มักจะเลือก (1) มากกว่า (2)
สรุปก็คือ “ความสูญเสียทำให้คนอยากที่จะเสี่ยงแลกกับโอกาสอันน้อยนิดที่จะได้ผลตอบแทน (Reward) ที่ใหญ่มากๆแทนการได้ที่น้อยกว่าเยอะแต่ได้ชัวร์ๆ
ความสูญเสียทำให้ความต้องการที่จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นนั้นช่วยอธิบายได้ด้วยว่าทำไมคนที่มีฐานะยากจนจริงๆถึงมักจะประเมินโอกาสที่ความเสี่ยงครั้งใหญ่ (big risk) จะสร้างผลตอบแทนได้มากเกินความเป็นจริง แล้วเลือกที่จะเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้เขาไม่ได้อะไรเลย และอาจจะยิ่งจนไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ แทนการเลือกอะไรที่แม้จะได้ผลตอบแทนที่ไม่ได้ใหญ่โตมากแต่ได้ชัวร์ๆ (อย่างเช่นการพนันออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น)
อ่านเพิ่มเติม
Page, L., Savage, D. A., & Torgler, B. (2014). Variation in risk seeking behaviour following large losses: A natural experiment. European Economic Review, 71, 121-131.
==========
ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี (เพจ : https://www.facebook.com/nattavudh.powdthavee)
ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University, Singapore
==========