สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกแล้วกับอีกครั้งกับบทความชุดเรื่อง  “จดทะเบียนบริษัททั้งที ทำยังไงให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด” กับ TAXBugnoms X ภาษีธุรกิจ เหมือนเช่นเคยครับผม หลังจากที่เรารู้เรื่องของการเลือกรูปแบบเพื่อจดบริษัทและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีในตอนที่ 1 และได้รู้ว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรดีๆที่ช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายในตอนที่ 2 กันไปเรียบร้อยแล้ว บทความนี้ก็ได้เดินทางมาถึงตอนที่ 3 สักทีครับ

 

สำหรับตอนที่ 3 นี้ เป็นเรื่องที่อยากจะเตือนใจอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกันครับ เอาจริงๆผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ละเอียดไว้หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง ถ้าไม่อยากเสียภาษีเพิ่ม!! อย่าเอารายจ่ายส่วนตัวมาใช้ในธุรกิจ และ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อไม่ให้รายจ่ายธุรกิจคุณมีปัญหากับสรรพากร!! แต่ตอนนี้ผมจะมาลงลึกรายละเอียดที่สำคัญๆ ที่อยากจะเน้นให้ระวังในการนำมาเป็นค่าใช้จ่ายครับ โดยมีหลักการอยู่ 5 ข้อดังนี้ครับ

 

1. รายจ่ายส่วนตัวหรือไม่ได้จ่ายเพื่อกิจการ อย่างที่ผมเคยเขียนไปในบทความ อย่าเอารายจ่ายส่วนตัวมาใช้ในธุรกิจ  นั่นแหละครับ ที่เตือนว่ารายจ่ายที่เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่เกี่ยวกับธุรกิจ (บริษัท) นั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีได้ (ถ้าใครลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ขอแนะนำบทความ ทำไมธุรกิจขาดทุนถึงยังต้องเสียภาษี นี่คือเหตุผลที่คุณต้องอึ้ง!! ให้ลองอ่านกันอีกทีนะครับ)

 

หรือพูดง่ายๆก็คือ ต่อให้คุณเอามาใช้ในธุรกิจและบัญชียอมลงเป็นค่าใช้จ่ายไว้ โดนสรรพากรตรวจเมื่อไรก็โดน “บวกกลับ” หรือ ไม่ให้ใช้เป็นรายจ่าย ทำให้เราต้องเสียภาษีเพิ่มอยู่ดีนั่นแหละครับ!!

 

2. รายจ่ายค่ารับรอง นอกจากเรื่องของรายจ่ายส่วนตัวแล้ว รายจ่ายค่ารับรองก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ควรระวังในการนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกันครับ เพราะรายจ่ายค่ารับรองนั้น มันมีจำนวนจำกัดอยู่ครับ

นั่นแปลว่าไม่ใช่การไปทานอาหารต่างๆ พาลูกค้าไปเลี้ยง หรือ พาไปรับรองพักผ่อนหย่อนใจ จะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการทั้งหมดครับผม เพราะจริงๆแล้วค่ารับรองที่สามารถเป็นรายจ่ายได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขตามนี้ครับ

 

  • ถ้าเป็นสิ่งของจะใช้เป็นรายจ่ายได้ไม่เกินคนละ 2,000 บาท/ครั้ง
  • จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการสามารถเป็นรายจ่ายสูงสุดได้ไม่เกิน 0.3% ของรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือทุนชำระในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
  • ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้อนุมัติ

 

เงื่อนไขคร่าวๆทั้ง 3 ข้อนี้ผมอ้างอิงจาก กฎกระทรวงฉบับที่ 143 ครับ (ถ้าหากมีโอกาสจะเขียนเรื่องค่ารับรองให้อ่านแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่งครับ) แต่จากข้อมูลตรงนี้ถ้าให้แปลสั้นๆง่าย ก็คงต้องบอกว่า จ่ายไปแทบตาย เอามาเป็นรายจ่ายได้แค่ 3 บาทต่อยอดขาย (หรือทุนชำระ) 1,000 บาทเท่านั้น

 

3. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตรงนี้ใครหลายคนอาจจะขัดใจ เอ๊ะ เราจ่ายไปเพื่อกิจการแล้วนี่หว่า แต่ทำไมถึงเป็นรายจ่า่ยไม่ได้ล่ะเนี่ย อะฮ่า.. ตรงนี้ต้องดูดีๆครับว่า “จ่าย” ไปเพื่ออะไร

ถ้าจ่ายไปแล้ว ทำให้สินทรัพย์นั้นดีขึ้น หรือเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องระวังด้วยว่ามันจะเป็นการจ่ายเพื่อลงทุน โดยจะถือว่าเป็น “สินทรัพย์” แทนค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องไปคิดค่าเสื่อมราคาแทนครับผม

 

ยกตัวอย่างเช่น ผมจ่ายค่าปรับปรุงสำนักงานใหม่ไปจำนวน 100,000 บาท แบบนี้จ่ายเงินไปแน่ครับ แต่ไม่ได้จ่ายแล้วจบเลย มันเป็นการจ่ายเพื่อเป็นการลงทุนในการทำธุรกิจ ทำให้เกิดสินทรัพย์ (สำนักงานใหม่) แบบนี้ต้องเอามาตัดเป็นค่าเสื่อมราคาแทน ไม่ได้เป็นรายจ่ายทั้งก้อนในงวดที่จ่ายแน่ๆละครับ 

 

4. เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร ข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่ควรระวังเหมือนกันครับ เพราะกฎหมายเขียนห้ามไว้ชัดเจนเลยครับว่า การจ่ายเงินเดือนให้กับตัวของผู้ถือหุันหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ในจำนวนที่เกินสมควรนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามครับ (อ้างอิง : มาตรา 65 ตรี (8) แห่งประมวลรัษฏากร)

แต่ว่ากฎหมายดันไม่ได้บอกไว้ด้วยสินะว่าเท่าไรถึงเรียกว่าสมควรหรือไม่สมควร ซึ่งหลักการของผมที่อยากให้ไว้คร่าวๆก็คือ อย่าจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงที่ควรจะได้ครับ ลองคิดชั่วโมงการทำงาน ความสามารถของงาน และเปรียบเทียบกับรายได้ของธุรกิจประกอบกัน ก็น่าจะพอเห็นตัวเลขอยู่เหมือนกันนะครับ

สำหรับเรื่องวิธีการพิจารณานั้น ผมอาจจะเขียนบทความให้อ่านเหมือนกันครับ ขอแนะนำว่ากดติดตามเพจ ภาษีธุรกิจ ไว้ล่วงหน้าเลยครับ

 

5. รายจ่ายที่สูง (แพง) กว่าความเป็นจริง โดยมาตรา 65 ตรี (15) ระบุไว้เลยครับว่า กรณี “ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ดังนั้นถ้าหากธุรกิจเราดันจ่ายเงินซื้ออะไรแพงกว่าปกติมา ก็อย่าหวังว่าจะหลุดรอดไปได้เหมือนกันครับ อาจจะโดนไม่ให้ใช้รายจ่ายนี้เป็นรายจ่ายได้ ตรงนี้ข้อสังเกตง่ายๆ คือ ผมอยากให้พิสูจน์รายจ่ายทุกครังครับว่า มันเป็นรายจ่ายที่ไม่เกินราคาตลาดปกติ เพียงแค่นี้เราก็ไม่พลาดแล้วล่ะครับ

 

สำหรับบทความในตอนนี้ จะเป็นการเน้นเรื่องของการที่ไม่เอา “รายจ่าย” ที่มีโอกาสให้ผิดพลาดต่อไปนี้มาใช้ครับ จริงๆแล้วยังมีหลายตัวที่ต้องระวังครับ แต่ผมจะเน้นเฉพาะตัวที่สำคัญๆ และเป็นข้อผิดพลาดบ่อยอย่าง 5 ตัวนี้ครับ (ถ้าหากใครอยากรู้เพิ่ม ลองเปิดประมวลรัษฏากรดูมาตรา 65 ตรีได้เลยนะครับ)

 

สุดท้ายบทความชุด “จะจดบริษัททั้งที ทำยังไงให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด” ก็ยังไม่จบและไม่จากกันเพียงเท่านี้ครับ ตอนต่อไปยังมีเคล็ดลับเพิ่มเติมอีกมากมายมาฝากกันครับผม ฝากติดตามกันในตอนต่อๆไปด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อน สวัสดีคร้าบบบ

 

 

%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a9%e0%b8%b1%e0%b8%97%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b5-%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%a2%e0%b8%b1