สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกแล้วครับกับ TAXBugnoms กับคอลัมน์ภาษีธุรกิจกันอีกครั้ง สำหรับวันนี้เป็นเรื่องที่ถามเข้ามาบ่อยในช่วงนี้ครับว่า “ถ้าจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook กับ Google แล้วจะเป็นรายจ่ายธุรกิจได้อย่างไร?” วันนี้ผมเลยรับหน้าที่จะมาไขข้อข้องใจกันให้ฟังแบบชัดๆ ครับผม

 

ก่อนจะบอกว่า “ค่าโฆษณา” เป็นรายจ่ายธุรกิจได้หรือไม่ได้นั้น
คงต้องถามคำถามแรกก่อนครับว่า

เราทำธุรกิจในรูปแบบไหน?
ระหว่าง บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน)

 

กรณีที่ 1 : บุคคลธรรมดาจ่ายค่าโฆษณา

ถ้าหากคำตอบคือ เรากำลังทำธุรกิจในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” คงต้องดูต่อไปวา เราเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบไหน ถ้าเลือกแบบเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แบบนี้ต้องบอกครับว่า รายจ่ายค่าโฆษณาไม่สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายได้ เพราะมันรวมอยู่ในอัตราเหมาหมดแล้ว (ยกตัวอย่างเช่น ขายของออนไลน์ สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 80% ซึ่งแปลว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างของธุรกิจถูกรวมอยู่ในนั้นแล้วครับ)

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม : จัดการธุรกิจขายของออนไลน์ยังไง ให้สบายใจเรื่องภาษี

 

แต่ถ้าหากเราเลือกหัก “ค่าใช้จ่ายตามจริง”  (ค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร) แล้วล่ะก็ แบบนี้ถือว่าสามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายได้ครับ แต่ว่าต้องมีหลักฐานการจ่ายที่ชัดเจน ระบุว่าจ่ายเพื่องานของเราจริงๆงานไหนและจ่ายไปเท่าไรบ้าง ซึ่งตรงนี้รายละเอียดยิ่งชัดเจนเท่าไรก็ยิ่งมีประโยชน์มากๆ เลยล่ะครับ (อ้อ.. อย่าลืมด้วยนะครับว่า ชื่อผู้จ่ายค่าโฆษณานั้นต้องเป็นชื่อเราด้วยครับ)

 

ทีนี้มาดูกันต่อครับว่า ถ้าหากเราทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลอย่างบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนั้น จะมีหลักการในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ

 

กรณีที่ 2 : นิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณา

สำหรับนิติบุคคล ผมขอเริ่มจากหลักการแรกก่อนครับว่า สามารถใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ไหม ถ้าตามหลักการของผมที่เคยเขียนไว้ในบทความ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อไม่ให้รายจ่ายธุรกิจคุณมีปัญหากับสรรพากร!! ก็คงต้องบอกว่าได้ครับ!!! เพราะว่า เป็นการจ่ายจริง เกี่ยวข้องกับกิจการ และมีหลักฐานการจ่ายครบถ้วน ยิ่งถ้าเป็นการจ่ายในนามบริษัทฯ นั้นยิ่งดีครับ เช่น ใช้บัตรเครดิตของบริษัทฯจ่ายโดยตรงครับ

 

ทีนี้ปัญหาคือว่า การจ่ายนั้นมันไม่ได้จ่ายในนามบริษัทฯ เพราะบางแห่งอาจจะใช้บัตรเครดิตกรรมการจ่ายไป แบบนี้จะยังไงต่อดี จะเอามาใช้เป็นรายจ่ายบริษัทได้ ถ้าเรามองเช่นเดียวกันกับหลักการค่าน้ำค่าไฟ ตามแนวทางที่กรมสรรพากรให้ไว้ ดังนี้ครับ

 

ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ที่มีใบเสร็จรับเงินออกในนามของเจ้าของอาคารผู้ให้เช่า บริษัทสามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (14) (อ้างอิง : คำถามที่ถูกถามบ่อย) ซึ่งตรงนี้ถ้าหากสามารถทำใบเสร็จจาก Facebook เป็นชื่อบริษัทได้ แบบนี้ก็สบายเลยครับ

 

ประเด็นต่อมาคือ เมื่อเป็นรายจ่ายธุรกิจได้แล้ว คำถามคือต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือเปล่า ซึ่งคำตอบก็คือ “ไม่ต้อง” ครับ เพราะว่าการจ่ายดังกล่าวนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเองครับ (เงินได้ค่าโฆษณาถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ครับ)

 

มาตรา 70 : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมดเรื่องภาษีเงินได้แล้ว ยังเหลือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มอีก

แต่เรื่องสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ เรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ครับ เพราะในกรณีที่ “บริษัท” หรือ "ห้างหุ้นส่วน" เป็นคนจ่ายค่าโฆษณา กฎหมายกำหนดได้ไว้ว่าต้องมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอีกทอดหนึ่ง (อ้างอืงมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2)) เพราะถือว่าเป็นการให้บริการในประเทศไทย (หากให้พูดตามภาษากฎหมาย คือ การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ครับผม)

 

ดังนั้นแปลว่าจริงๆแล้วทาง Facebook หรือ Google นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยครับ ซึ่งในกรณีที่จ่ายเงินให้ต่างประเทศนี้ กฎหมายกำหนดโดยผลักภาระให้ "ผู้จ่าย" เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทน โดยคิดจากยอด 7% ของค่าโฆษณาที่ได้จ่ายไป เช่น ค่าโฆษณา 10,000 บาท เราจะต้องจ่าย VAT อยู่ที่ 700 บาท และทางบริษัทมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีดังกล่าวให้กับกรมสรรพากรด้วยแบบ ภ.พ. 36 ครับ ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 700 บาทนี้ ธุรกิจของเราสามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อของธุรกิจได้ด้วยครับ (มองง่ายๆว่าทาง Facebook หรือ Google ออกภาษีขายมาให้เรา)

 

แต่ในกรณีที่จ่ายไปในชื่อของ “กรรมการ” หรือ “พนักงาน” คำถามคือทางบริษัทฯยังต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่หรือไม่ ตรงประเด็นนี้ผมยังมองเหมือนเดิมครับว่า ถ้าหากเอามาเป็นรายจ่ายแล้วไม่ส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วอาจจะถือเป็นความผิดของบริษัทฯได้ เหมือนกัน (แหม่.. เอามาเป็นรายจ่าย แต่ไม่ส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้ซะงั้น มันก็แปลกๆเหมือนกันนะครับ)

 

ซึ่งถ้าหากตรงนี้ใครอยากจะวัดดวงโดยการไม่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้นะครับ (ผมลองแอบถามๆดูหลายๆที่ ก็พบความจริงว่าไม่มีที่ไหนยื่น ภ.พ. 36 เลย ฮ่าๆ) แต่ถ้าถูกตรวจสอบแล้ว อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ต้องเสียเพิ่มนอกจากภาษี นั่นคือ เงินเพิ่ม ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน เช่น จ่ายค่าโฆษณาไปในเดือนมกราคม ซึ่งมีหน้าที่ยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่เคยยื่นเลย พอนับมาถึงเดือนนี้คือกันยายน ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 7 เดือนครับ (ยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปที่มีการจ่ายเงินครับ)

 

สมมุติว่า ค่าโฆษณา 100,000 บาท ในเดือนมกราคม (VAT คือ 7,000 บาท) เมื่อมายื่นเดือนกันยายน (ภายในวันที่ 7) จะเสียเงินเพิ่มอีก 735 บาท (คำนวณมาจาก 7,000 x 1.5% x 7) รวมเป็น 7,735 บาท แต่เมื่อยื่นแล้วก็สามารถนำยอด 7,000 บาทมาเป็นภาษีซื้อในเดือนกันยายนได้ครับ (ใบเสร็จของสรรพากรถือเป็นใบกำกับภาษี) ส่วนเงินเพิ่ม 735 บาทที่ว่านี้ ไม่สามารถถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้นะครับ เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฎหมาย ครับ

 

สรุป

สรุปอีกครั้งก่อนจากกันไปในบทความนี้ครับ สิ่งที่ต้องดูนั้นมีอยู่หลักๆ 3 เรื่อง นั่นคือ เรื่องของรูปแบบธุรกิจ ตามมาด้วยเรื่องของหลักฐานค่าใช้จ่าย และสุดท้ายคือเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ ดังนั้นตรวจสอบให้ดีกันด้วยนะครับผม

 

สุดท้ายนี้ผมว่าบทความนี้คงช่วยให้ใครหลายคนเข้าใจเรื่องค่าโฆษณาเหล่านี้มากขึ้นนะครับ และถ้าหากมีอะไรสงสัยก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ TAXBugnoms ตลอดเวลาคร้าบบ วันนี้คงต้องลาไปก่อน สวัสดีคร้าบ

 

facebook-google-01-1