ในสถานการณ์แบบนี้ เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนคงมองหาที่ออมเงินที่ปลอดภัย ได้ผลตอบแทนแน่นอน และไม่อยากเสี่ยงกับขาดทุนเหมือนกับการลงทุนอยู่ใช่มั้ยครับ บางคนอาจจะเลือกออมเงินกับบัญชีฝากประจำแบบปลอดภาษี บางคนอาจจะเลือกบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ซึ่งที่กล่าวมา ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
แต่ในวันนี้ บ.ก.aomMONEY อยากจะมาแนะนำอีกช่องทางการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้ผลตอบแทนแน่นอน ปราศจากความเสี่ยง มีระยะเวลากำหนดแน่ชัด และเป็นเงินก้อนไว้ให้คนข้างหลังในกรณีเสียชีวิต ที่สำคัญ คือ "ลดหย่อนภาษี" ได้ครับ และการออมเงินรูปแบบนั้นก็คือ “ประกันสะสมทรัพย์”
1.รู้ก่อนว่าประกันสะสมทรัพย์ คือ อะไร ?
ประกันสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่เน้นการออมเงิน พร้อมรับความคุ้มครองไปพร้อมๆ กัน เมื่อเราส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ ประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้เรา โดยมีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือแบบมีเงินคืนระหว่างทางตลอดสัญญาก็ได้ และถ้าเราเสียชีวิตระหว่างที่ส่งกรมธรรม์ คนข้างหลังเราก็จะได้รับเงินก้อนที่เรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกัน” ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ครับ
2.รู้ข้อดีของประกันสะสมทรัพย์
- เป็นการออมเงินที่มีผลตอบแทนแน่นอน มีการันตีว่าจะได้เงินจำนวนเท่าไหร่ ปราศจากความเสี่ยง
- คุ้มครองชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับคนข้างหลัง (กรณีเราเสียชีวิตระหว่างส่งกรมธรรม์)
- มีเงินก้อนไว้ใช้ในอนาคต เมื่อส่งเบี้ยครบตามอายุสัญญา
- ใช้ลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดถึง 100,000 บาท
- ผลตอบแทนของประกันชีวิตไม่เสียภาษีเหมือนดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์
3.รู้ว่า ตัวเลขด้านหน้า / ตัวเลขด้านหลัง คือ อะไร ?
บางคนไม่เคยซื้อประกันชีวิตมาก่อน อาจจะเคยเจอ ประกันออมทรัพย์ A 10/7 แล้วไม่เข้าใจ ว่าตัวเลขทั้งสองนั้นหมายถึงอะไร บ.ก.ขออธิบายง่ายๆ ตามนี้ครับ
- ตัวเลขด้านหน้า คือ จำนวนปีที่คุ้มครอง
- ตัวเลขด้านหลัง คือ จำนวนปีที่ชำระเบี้ยประกันภัย
ตัวอย่าง
ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ A 10/7 หมายความว่า ประกันตัวนี้ให้ความคุ้มครองชีวิต 10 ปี และมีระยะเวลาจ่ายชำระเบี้ย 7 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญากรมธรรม์ ก็จะได้รับเงินออมและผลประโยชน์ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ครับ
4.รู้ข้อด้อยของประกันสะสมทรัพย์
หลายคนอ่านแล้วรู้สึกว่าประกันสะสมทรัพย์มีแต่ข้อดีทั้งนั้นเลย งั้นเราเก็บเงินไว้กับประกันสะสมทรัพย์หมดเลยได้มั้ย คำตอบ คือ ไม่ควรครับ จะเพราะอะไร บ.ก.ขอเล่าให้ง่ายๆ แบบนี้ครับ
1.สภาพคล่องน้อยกว่าการฝากเงินบัญชีออมทรัพย์
ถ้าเราจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา ประกันสะสมทรัพย์ไม่สามารถเบิก-ถอนเงินออกมาได้ทันใจเหมือนกับบัญชีออมทรัพย์นะครับ สมมติว่าเพื่อนๆ ส่งเบี้ยประกันอยู่แต่ยังไม่ครบตามสัญญา ถ้าจำเป็นจะต้องนำเงินออกมาใช้แบบฉุกเฉิน จะต้องทำเรื่อง “เวนคืนกรมธรรม์” นั่นก็คือ การที่เราขอยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อรับเงินสดจากบริษัทประกันนั่นเองครับ ถือว่าสัญญาเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีความคุ้มครองอีกต่อไป และแน่นอนว่าอาจจะได้เงินมากกว่าหรือน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยเทียบกับจำนวนปีที่ต้องจ่ายครับ
2.ทุนประกันไม่สูง
ในที่นี้หมายถึงถ้าเปรียบเทียบกับแบบประกันอื่นๆ ในจำนวนเงินที่จ่ายเบี้ยประกันที่เท่ากัน และถ้าเพื่อนๆ เน้นความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเพื่อมีเงินไว้ให้กับคนข้างหลัง ลองดูประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือชั่วระยะเวลาน่าจะเหมาะสมกว่าครับ
3.ผลตอบแทนไม่สูงมาก
ประกันสะสมทรัพย์ เหมาะกับคนที่ต้องการความมั่นคง เพราะเป็นการออมเงินพร้อมกับได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตไปด้วย ผลตอบแทนจึงไม่สูงเมื่อเทียบกับการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น อย่าง หุ้น กองทุน หรืออสังหาฯ
5.เราจะรู้ได้ไงว่าประกันสะสมทรัพย์ตัวไหนคุ้มสุด?
บ.ก.แนะนำง่ายๆ ครับลองคำนวณเบี้ยที่ส่งไปทั้งหมด ว่าส่งเบี้ยไปเท่าไหร่ แล้วเราได้เงินรับคืนมาทั้งหมดเท่าไหร่ ลองมาหักลบกันดู แล้วเทียบกันดูหลายๆ เจ้าครับ แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมดูทุนประกันด้วยนะครับ เพราะแต่ละที่เบี้ยเท่ากัน แต่ทุนประกันไม่เท่ากัน รวมไปถึงดูระยะเวลาการส่งเบี้ยด้วยนะครับ
สรุป
สำหรับคนที่ต้องการความมั่นคงในชีวิตและคนข้างหลัง โดยกำลังมองหาที่ที่ออมเงินและต้องการความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมๆ กันด้วย ให้ลองมองมาที่ประกันสะสมทรัพย์ครับ แต่ถ้าเน้นอยากคุ้มครองชีวิตสูงๆ ก็ควรดูประกันชีวิตแบบอื่น หรือถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่านี้ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์อย่างอื่น
ที่สำคัญ ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรศึกษาและเช็คความสามารถในจ่ายค่าเบี้ยประกันของตัวเองด้วยนะครับ โดยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตนั้นไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อปี และใน 1 คน ก็ไม่ควรมีกรมธรรม์ประกันชีวิตซ้ำซ้อนกันหลายฉบับ จนจ่ายเบี้ยไม่ไหวนะครับ
ประกันชีวิตมีไว้เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต
อย่าให้มันกลายเป็นภาระหนี้ที่เราส่งจนหน้าซีดเลยครับ
ขอบคุณครับ
บ.ก.aomMONEY
ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
? Website : www.aomMONEY.com
? Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH
? กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/
.